กรุงเทพฯ--28 ต.ค.--ปภ.
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รายงานสถานการณ์อุทกภัยใน ๓๓ จังหวัด ได้คลี่คลายเข้าสู่ภาวะปกติในทุกพื้นที่แล้ว และได้เกิดฝนตกหนักต่อเนื่องในพื้นที่ภาคเหนือฝั่งตะวันตก และด้านตะวันตกของภาคกลาง ทำให้น้ำป่าไหลหลากเอ่อล้นเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎรและพื้นที่การเกษตรของจังหวัดตากและอุทัยธานี กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
ได้สั่งกำชับให้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดประสานความร่วมมือกับจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ออกสำรวจความเสียหาย เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยตามระเบียบกระทรวงการคลัง(งบ ๕๐ ล้านบาท) และบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น
นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า สถานการณ์อุทกภัยใน ๓๓ จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ ตาก พะเยา ลำปาง นครนายก เลย ขอนแก่น สุโขทัย ฉะเชิงเทรา ตราด ชลบุรี พิษณุโลก พิจิตร ลพบุรี สระบุรี นครราชสีมา ชัยภูมิ อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ยโสธร มุกดาหาร หนองบัวลำภู บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ
แม่ฮ่องสอน สระแก้ว จันทบุรี พระนครศรีอยุธยา และปราจีนบุรี ได้คลี่คลายเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว และในช่วงวันที่ ๒๕ — ๒๖ ตุลาคม ๒๕๕๑ ได้เกิดฝนตกหนักต่อเนื่องในพื้นที่ภาคเหนือฝั่งตะวันตก และด้านตะวันตกของภาคกลาง ทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎรและพื้นที่การเกษตรในจังหวัดตากและจังหวัดอุทัยธานี โดยจังหวัดตาก
เกิดน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่การเกษตร หมู่ที่ ๑๐ ตำบลเชียงทอง อำเภอคลองวังเจ้า จังหวัดตาก และน้ำหลากตามคลองวังเจ้า-คลองแม่ย่ามา ในเขตอุทยานแห่งชาติ คลองวังเจ้า ซึ่งเป็นรอยต่อระหว่างจังหวัดกำแพงเพชรและจังหวัดตาก ทำให้คอสะพานที่ข้ามไปยังน้ำตกคลองวังเจ้าขาด มีนักท่องเที่ยวติดในน้ำตกอยู่ ๗ คน ทางศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต ๘ กำแพงเพชร และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดกำแพงเพชร พร้อมทีมกู้ชีพกู้ภัยประจำตำบลของจังหวัด ได้เข้าให้การช่วยเหลือและนำนักท่องเที่ยวออกจากสถานที่ท่องเที่ยวอย่างปลอดภัยแล้วจังหวัดอุทัยธานี เกิดน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ ๓ อำเภอ ได้แก่ อำเภอห้วยคต (ตำบลสุขฤทัย ตำบลห้วยคต และตำบลทองหลาง)อำเภอลานสัก (ตำบลระบำ) และอำเภอหนองฉาง (ตำบลเขาบางแกรก ตำบลหนองฉาง และตำบลเขากวางทอง)
สำหรับการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้เร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างต่อเนื่อง โดยได้สั่งกำชับให้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ประสบภัย ออกสำรวจความเสียหาย เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พศ. ๒๕๔๖และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๔๙ (งบ ๕๐ ล้านบาท) รวมทั้งได้ประสานให้ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต ๒ สุพรรณบุรี เขต ๔ ประจวบครีขันธ์ เขต ๑๑ สุราษฎร์ธานี เขต ๑๒ สงขลา เขต ๑๗ จันทบุรี เขต ๑๘ ภูเก็ต และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส เตรียมการป้องกันปัญหาอุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม และจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์ภัยในพื้นที่อย่างต่อเนื่องตลอด ๒๔ ชั่วโมง
รวมทั้งจัดเตรียมเครื่องมืออุปกรณ์ให้พร้อมช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทันทีที่เกิดเหตุภัยพิบัติ สุดท้ายนี้ หากประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัย สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนสาธารณภัย ๑๗๘๔ ตลอด ๒๔ ชั่วโมง เพื่อประสานและให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป