การกำหนดจำนวนเงินคุ้มครองเงินฝาก

ข่าวทั่วไป Tuesday October 28, 2008 15:24 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 ต.ค.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้แถลงว่า วันนี้ (28 ตุลาคม 2551)คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดจำนวนเงินที่ให้ความคุ้มครองเพิ่มขึ้น พ.ศ. .... เสนอโดยกระทรวงการคลัง เพื่อเพิ่มวงเงินคุ้มครองเงินฝากในปีที่สองและปีที่สาม ซึ่งจะเป็นเป็นการให้ความคุ้มครองเต็มจำนวนต่อเนื่องจากปัจจุบันจนถึงวันที่ 10 สิงหาคม 2554 อาศัยอำนาจตามมาตรา 72 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติสถาบันคุ้มครองเงินฝาก พ.ศ. 2551 ที่บัญญัติให้สามารถเพิ่มวงเงินคุ้มครองได้ในช่วงสี่ปีแรกของการบังคับใช้กฎหมาย หากภาวะเศรษฐกิจและระบบการเงินเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญอันเป็นเหตุให้ต้องกำหนดจำนวนเงินที่ให้การคุ้มครองเงินฝากเพิ่มขึ้นจากที่กำหนดไว้เดิม โดยร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวได้กำหนดจำนวนเงินที่ให้ความคุ้มครองเป็นจำนวนไม่เกิน ดังนี้ ปีที่ ระยะเวลา จำนวนเงินที่คุ้มครอง จำนวนเงินที่คุ้มครอง (เดิม) (ใหม่) 1 11 สิงหาคม 2551 — 10 สิงหาคม 2552 เต็มจำนวน เต็มจำนวน 2 11 สิงหาคม 2552 — 10 สิงหาคม 2553 100 ล้านบาท เต็มจำนวน 3 11 สิงหาคม 2553 — 10 สิงหาคม 2554 50 ล้านบาท เต็มจำนวน 4 11 สิงหาคม 2554 — 10 สิงหาคม 2555 10 ล้านบาท 50 ล้านบาท 5 11 สิงหาคม 2555 เป็นต้นไป 1 ล้านบาท 1 ล้านบาท ทั้งนี้ สืบเนื่องจากปัญหาวิกฤตสถาบันการเงินในประเทศสหรัฐอเมริกา และลุกลามไปยังกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป โดยต่างประสบปัญหาการขาดสภาพคล่องจนทำให้รัฐบาลของแต่ละประเทศต้องให้ความช่วยเหลือกิจการ ซึ่งมาตรการที่รัฐบาลและธนาคารกลางของประเทศต่างๆ นำมาใช้จะเป็นการเข้าควบคุมกิจการ การให้เงินกู้แก่สถาบันการเงินที่ประสบปัญหา การออกพันธบัตรเพื่อระดมทุนให้กับธนาคารกลางใช้ดำเนินการตามมาตรการต่างๆ เช่น แผนซื้อหนี้เสียในภาคอสังหาริมทรัพย์ของสถาบันการเงินสหรัฐฯ การอัดฉีดเงินเข้าตลาดการเงินรัสเซีย หรือการลดดอกเบี้ยนโยบาย ทั้งนี้ เพื่อช่วยรองรับผลกระทบที่จะเกิดตามมาสู่ภาคส่วนธุรกิจต่างๆ และในขณะเดียวกันมีหลายสถาบันการเงินต้องเข้าสู่ระบบการล้มละลายและปิดกิจการลงไป มาตรการที่หลายประเทศนำมาใช้เพื่อช่วยยับยั้งหรือรักษาระดับความเชื่อมั่นของประชาชนต่อระบบสถาบันการเงิน คือ การเพิ่มวงเงินประกันจ่ายคืนผู้ฝากให้สูงขึ้นตามเงื่อนไขของแต่ละประเทศ ทั้งนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนเกิดความตื่นตระหนกและเร่งถอนเงินจากสถาบันการเงินจนทำให้สถาบันการเงินขาดสภาพคล่องและต้องปิดกิจการ อาทิ 1) สหรัฐอเมริกา เพิ่มวงเงินจาก 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ เป็น 250,000 ดอลลาร์สหรัฐ เป็นการชั่วคราวถึงสิ้นปี 2552 2) อังกฤษ เพิ่มวงเงินจาก 33,000 ปอนด์สเตอริง เป็น 50,000 ปอนด์สเตอริง 3) ฟิลิปปินส์ เพิ่มวงเงินจาก 250,000 เปโซ เป็น 500,000 เปโซ 4) อินโดนีเซีย เพิ่มวงเงินจาก 100 ล้านรูเปีย เป็น 2,000 ล้านรูเปีย และ 5) เดนมาร์ก เยอรมัน ออสเตรีย นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย ไอร์แลนด์ สิงค์โปร์ มาเลเซีย และฮ่องกง เปลี่ยนเป็นคุ้มครองเงินฝากเต็มจำนวน เป็นต้น แม้ว่าปัจจุบันประเทศไทยจะมีภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจการเงินที่เข้มแข็งมากขึ้นกว่าเมื่อวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 โดยมีระบบการกำกับดูแลภาคการเงินที่เข้มงวดและเป็นมาตรฐานสากลมากขึ้น แต่เมื่อพิจารณาการดำเนินมาตรการแก้ปัญหาวิกฤตการเงินในหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศในเอเชียและกลุ่มประเทศอาเซียน ที่ได้ทยอยประกาศคุ้มครองเงินฝากเต็มจำนวนเพื่อเรียกความเชื่อมั่นจากประชาชนต่อระบบธนาคาร โดยการดำเนินมาตรการของประเทศเหล่านี้ต้องการปกป้องความเสี่ยงจากการไหลของเงินฝากไปยังประเทศเพื่อนบ้านหรือสหรัฐฯ ที่ให้ความคุ้มครองสูงกว่า ดังนั้น ในกรณีของไทย เพื่อมิให้สภาพคล่องในประเทศได้รับผลกระทบจากการเคลื่อนย้ายเงินฝากและเงินทุนระหว่างประเทศออกจากประเทศไทย อันเนื่องมาจากปัจจัยการคุ้มครองเงินฝากเต็มจำนวน จึงควรเพิ่มวงเงินคุ้มครองเงินฝากเต็มจำนวนออกไปสองปี เพื่อป้องกันการเคลื่อนย้ายทุนระหว่างประเทศที่เป็นผลมาจากปัจจัยความเชื่อมั่นเป็นสำคัญ นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาวิกฤตเศรษฐกิจจากต่างประเทศที่อาจนำมาซึ่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและระบบการเงินของประเทศไทยให้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าที่ปัญหาสภาพคล่องในสถาบันการเงินสหรัฐฯ ยังอาจไม่ถึงจุดต่ำสุด จึงจำเป็นที่ไทยจะต้องเตรียมตัวรับปัญหาระบบการเงินโลกที่ผันผวนนที่อาจไม่สามารถบรรเทาได้อย่างรวดเร็ว ดังเช่นที่ประเทศในกลุ่มอาเซียนได้ดำเนินมาตรการรองรับไว้เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อระบบการเงินและผลทางจิตวิทยาจากการที่หลายประเทศได้ประกาศปรับการคุ้มครองเงินฝากเต็มจำนวน ดังนั้น เพื่อป้องกันการแตกตื่นของประชาชนหากระบบสถาบันการเงินมีความผกผัน รวมทั้งการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายเงินตราระหว่างประเทศ และการสร้างความเชื่อมั่นต่อประชาชนผู้ฝากเงิน รวมทั้งสถาบันการเงิน กระทรวงการคลังจึงเห็นความสำคัญเร่งด่วนที่จะเพิ่มวงเงินคุ้มครองเงินฝากในปีที่สองและปีที่สามเต็ม สำนักนโยบายระบบการคุ้มครองผลประโยชน์ทางการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง โทร 0-2273-9020 ต่อ 3691 โทรสาร 0-2618-3369

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ