ซีเกทร่วมกับสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทยและเอไอที จัดการแข่งขันสร้างรถอัจฉริยะชิงแชมป์ประเทศไทย

ข่าวเทคโนโลยี Wednesday December 6, 2006 16:50 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--6 ธ.ค.--ซีเกท เทคโนโลยี
บริษัท ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกับสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทยและสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที) จัดการแข่งขันสร้างรถอัจฉริยะชิงแชมป์ประเทศไทย เปิดโอกาสให้นิสิต นักศึกษาหลากหลายสาขาวิชา เข้าร่วมการแข่งขันสร้าง “รถอัจฉริยะไร้คนขับ”
การแข่งขันสร้างรถอัจฉริยะชิงแชมป์ประเทศไทยถือเป็นการแข่งขันครั้งแรก ที่ใช้ศาสตร์ด้านหุ่นยนต์ผนวกกับศาสตร์ด้านยานยนต์ เครื่องกลและคอมพิวเตอร์เข้าด้วยกันอย่างลงตัวเพื่อให้ได้ “รถอัจฉริยะไร้คนขับ” ที่สามารถขับเคลื่อนได้เองบนเส้นทางที่กำหนด ให้ได้ระยะทางไกลที่สุดและเร็วที่สุด ทั้งนี้รถทุกคันที่เข้าร่วมการแข่งขันจะเก็บข้อมูลการออกแบบ การเคลื่อนที่ โปรแกรมต่าง ๆ ในฮาร์ดดิสก์ของซีเกท รุ่น อีอี 25 (EE25 Series) ที่ผลิตเพื่อตอบสนองการทำงานในรถยนต์ด้วย
ผู้สนใจสามารถสมัครเข้าร่วมการแข่งขันได้ ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 8 ธันวาคม ศกนี้ โดยการแข่งขันรอบคัดเลือกจะจัดในเดือนมีนาคม และรอบชิงชนะเลิศจะแข่งขันในเดือนพฤษภาคม 2550 โดยทีมชนะเลิศในการแข่งขันจะได้รับเงินรางวัล 200,000 บาท พร้อมโอกาสในการเข้าร่วมสังเกตการณ์ การแข่งขัน “เออร์แบน ชาลเลนจ์ (Urban Challenge)” ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้สามารถศึกษารายละเอียดการแข่งขันเพิ่มเติม ได้ที่ http://www.ise.ait.ac.th/TIVChallenge/index.htm
รองศาสตราจารย์ ดร. ประภาส จงสถิตวัฒนา นายกสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย กล่าวว่า การจัดการแข่งขันรถอัจฉริยะชิงแชมป์ประเทศไทยเป็นการแข่งขัน เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในการทำโครงการรถอัจฉริยะซึ่งเป็นรถที่สามารถขับเคลื่อนได้ด้วยตัวเอง โดยที่รถที่เข้าแข่งขันจะใช้ระบบส่งกำลังแบบใดก็ได้ เช่น เครื่องยนต์สันดาปภายใน เครื่องยนต์จากมอเตอร์ไฟฟ้า หรืออื่น ๆ ในการแข่งขันคณะกรรมการจะพิจารณาผลงานของทีมต่าง ๆ จากความสามารถในการเคลื่อนที่แบบอัตโนมัติ จากจุดเริ่มต้นไปได้ไกลที่สุดและเร็วที่สุดอย่างปลอดภัย
วัตถุประสงค์หลักของการแข่งขัน คือเพื่อพัฒนาความคิดสร้างสรรค์และความชำนาญในสาขาเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติและยานยนต์ ตลอดจนเพื่อกระตุ้นให้เกิดการตื่นตัวและสนับสนุนการทำกิจกรรมนอกหลักสูตรเตรียมความพร้อม ให้กับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในประเทศไทย ในการทำโครงการรถอัจฉริยะและท้ายสุดคือเพื่อเฟ้นหาตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมสังเกตการณ์การพัฒนารถอัจฉริยะในระดับนานาชาติ
ดร. ประภาส กล่าวว่า “การจัดการแข่งขันสร้างรถอัจฉริยะชิงแชมป์ประเทศไทยครั้งแรกนี้ ถือเป็นกิจกรรมที่ท้าทายของทั้งคณาจารย์ผู้จัดการแข่งขันที่จะต้องทำหน้าที่ในการสร้างเยาวชนนักประดิษฐ์ให้สามารถขยายขีดความสามารถด้านวิชาการให้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งถือได้ว่าเป็นระดับที่สูงที่สุดสำหรับการจัดการแข่งขันหุ่นยนต์ในปัจจุบันและเป็นที่น่ายินดี เป็นอย่างยิ่งที่การแข่งขันครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณ จากบริษัท ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด จำนวนกว่า 2.8 ล้านบาท ซึ่งทางสมาคมต้องขอบคุณบริษัทซีเกทที่เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาเยาวชนและให้การสนับสนุนการแข่งขันหุ่นยนต์อย่างต่อเนื่อง”
ดร. พรชัย เปี่ยมสมบูรณ์ รองประธานอาวุโสฝ่ายปฏิบัติการ ภาคพื้นเอเชีย บริษัท ซีเกท เทคโนโลยี กล่าวว่าบริษัท ซีเกทฯ รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ทางสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทยและสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย เปิดโอกาสให้กับภาคเอกชน เช่น บริษัทซีเกทฯ ได้เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาเยาวชนไทย โดยเป็นผู้สนับสนุนหลัก การแข่งขันสร้างรถอัจฉริยะชิงแชมป์ประเทศไทย ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายและความมุ่งมั่นของซีเกทในการเสริมสร้างศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแก่เยาวชน”
ดร. พรชัยกล่าวเพิ่มเติมว่า “การแข่งขันตรั้งนี้จะสร้างโอกาสและเป็นเวทีผลักดันให้เยาวชนนำความรู้ในเชิงทฤษฏีหลายสาขา โดยเฉพาะศาสตร์ด้านการทำงานแบบอัตโนมัติ ผนวกกับเทคโนโลยีด้านยานยนต์ เครื่องกลและคอมพิวเตอร์มาสร้างรถอัจฉริยะให้ประสบความสำเร็จได้ ซึ่งกระบวนการเรียนรู้เหล่านี้จะมีส่วนสำคัญต่อการทำงานของเขาในอนาคต รวมทั้งเขาจะเป็นทรัพยากรสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมและประเทศต่อไป”
รองศาสตราจารย์ ดร. มนูกิจ พานิชกุล อาจารย์ประจำภาควิชาเมคาโทรนิคส์ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดการแข่งขัน กล่าวว่า “เอไอทีขอขอบคุณทางสมาคมฯและบริษัทซีเกทฯ ที่มอบความไว้วางใจให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันรถอัจฉริยะไร้คนขับครั้งแรกของประเทศ สิ่งแตกต่างของการแข่งขันนี้กับการแข่งขันหุ่นยนต์ทั่ว ๆ ไป คือความยากของการที่รถจะต้องวิ่งไปบนถนนจริงสิ่งแวดล้อมเปิดซึ่งมีปัจจัยภายนอกมารบกวนตลอดเวลาแบบอัตโนมัติ ไม่ใช่เฉพาะบังคับรถให้วิ่งไปบนถนนเท่านั้น แต่ยังต้องหลบหลีกสิ่งกีดขวางที่อาจจะพบเจอ รวมทั้งต้องสามารถปฏิบัติตามกฎจราจรที่กำหนดไว้ให้ได้
ในการแข่งขันหุ่นยนต์ทั่วไป การใช้เซนเซอร์ตรวจจับเส้นบนพื้นสนามแล้วโปรแกรมหุ่นยนต์ให้วิ่งตามเส้นก็อาจจะเพียงพอ แต่ในการแข่งขันรถอัจฉริยะนั้นจำเป็นต้องติดตั้งกล้องแล้วตรวจดูว่าตรงไหนเป็นถนน ตรงไหนไม่ใช่ถนน เพียงเท่านี้ก็เป็นปัญหาที่ยากมาก หากต้องการให้รถวิ่งได้เร็วขึ้น จำเป็นต้องมีเซนเซอร์ที่สามารถวัดระยะถึงสิ่งกีดขวางได้อย่างรวดเร็ว เซนเซอร์เหล่านี้มีราคาค่อนข้างสูง ก็อยากจะขอความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ให้การสนับสนุนด้านคำปรึกษาและเงินทุนในการสร้างรถอัจฉริยะให้แก่ทีมต่าง ๆ ด้วย” ดร. มนูกิจ กล่าวปิดท้าย
สมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย
สมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2543 โดยกลุ่มบุคคลที่มีความสนใจและดำเนินงานเกี่ยวข้องกับวิศวกรรมหุ่นยนต์อันประกอบไปด้วย นักวิชาการ นักวิจัย และนักอุตสาหกรรม มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและเผยแพร่ความรู้และความเข้าใจในวิทยาการด้านหุ่นยนต์ จัดกิจกรรมการปฏิบัติงานทางวิชาการ เพื่อพัฒนาความรู้และเทคโนโลยีด้านหุ่นยนต์ เป็นศูนย์กลางทางด้านข่าวสารในวิทยาการใหม่ ๆ ของหุ่นยนต์ ทั้งในประเทศและต่างประเทศและสร้างเครือข่ายนักวิจัยและวิชาการเพื่อส่งเสริมการศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษา ในสาขาหุ่นยนต์และวิศวกรรมอัตโนมัติ ท่านสามารถติดต่อสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทยได้ที่ โทร. 0-2218-6956 หรือเว็บไซต์ www.trs.or.th
บริษัทซีเกท
ซีเกทคือผู้นำทั่วโลกในการออกแบบ การผลิตและการตลาดฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ การพัฒนาผลิตภัณฑ์อันหลากหลาย สำหรับองค์กร เครื่องคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ เครื่องคอมพิวเตอร์มือถือ (Mobile Computing) และอุปกรณ์อุปโภคบริโภค (Consumer Electronics) รูปแบบการดำเนินธุรกิจของซีเกทช่วยเสริมสร้างความเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยีและการผลิตระดับโลกเพื่อส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และมีคุณภาพ ในระดับชั้นนำของอุตสาหกรรมไปยังลูกค้าทั่วโลก รวมทั้งเป็นผู้ผลิตที่มีต้นทุนต่ำในตลาดทั้งหมดที่เรามีส่วนร่วม บริษัทมีความมุ่งมั่นในการส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่ได้รับรางวัลและมีคุณภาพดีที่สุดเพื่อตอบสนองความต้องการบันทึกข้อมูลที่เพิ่มขึ้นตลอดเวลาในโลก ท่านสามารถพบซีเกทได้ทั่วโลกและพบข้อมูลซีเกทที่ www.seagate.com
ข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ รศ. ดร. มนูกิจ พานิชกุล โทรศัพท์ 0-2524-5229 Email: manukid@ait.ac.th
นางสาวขวัญจิต สุดสวัสดิ์ โทรศัพท์ 0-2715-2919, 081-835-8094 Email: kwanjit.sudsawad@seagate.com
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ