สสวท. ร่วมกับ NASA พัฒนาการเรียนรู้แบบเน้นการวิจัย ผ่านเครือข่ายการศึกษาดาวเทียม CloudSat

ข่าวทั่วไป Thursday October 30, 2008 13:47 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 ต.ค.--สสวท. นางพรพรรณ ไวทยางกูร รองผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) แจ้งว่า สสวท. จะจัดอบรมตามโครงการพัฒนาการเรียนการสอนแบบเน้นการวิจัยผ่านเครือข่ายการศึกษาดาวเทียม CloudSat ซึ่งเป็นโครงการศึกษาสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยจากสถานีตรวจอากาศอัตโนมัติให้กับนักเรียนและอาจารย์จากโรงเรียนต่าง ๆ ที่อยู่ในเครือข่ายของโครงการ GLOBE ซึ่งมีโรงเรียนเข้าร่วมทั้งหมด 21 แห่ง ระหว่างวันที่ 3-5 พฤศจิกายน 2551 ณ สสวท. หลังท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ ฯ โดยมีนักวิทยาศาสตร์จากองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (NASA) และนักวิทยาศาสตร์โครงการ GLOBE ประเทศไทยเป็นวิทยากร นอกจากนี้ภายในงานจะมีการนำเสนอผลงานวิจัยของนักเรียนเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศของโรงเรียนต่าง ๆ จำนวน 10 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนธัมมสิริศึกษาสัตหีบ เรื่อง ความเร็วลม, ทิศทางลม และชนิดของเมฆ ณ โรงเรียนธัมมสิริศึกษาสัตหีบ โรงเรียนวัดโป่งก้อนเส้า เรื่องชนิดของเมฆและเมฆปกคลุม ณ โรงเรียนวัดโป่งก้อนเส้า และ โรงเรียนชุมชนบ้านบางโหนด โรงเรียนจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัยตรัง เรื่อง การเปรียบเทียบชนิดของเมฆจากการสังเกตภาคสนามและข้อมูล CloudSat ณ โรงเรียนจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัยตรัง โรงเรียนบ้านสุขสำราญ เรื่อง ชนิดเมฆ, ปริมาณน้ำฝนและความชื้นสัมพัทธ์ที่มีผลต่อจำนวนลุกน้ำยุง ณ โรงเรียนบ้านสุขสำราญ โรงเรียนร้อยเอ็ดวิทยาลัย เรื่อง การเปรียบเทียบ ข้อมูลเมฆและข้อมูลอากาศระหว่างโรงเรียนร้อยเอ็ดวิทยาลัยและโรงเรียนชุมชนบ้านบางโหนด โรงเรียนมัธยมวานรนิวาศ เรื่อง อุณหภูมิ, ความชื้นสัมพัทธ์, ชนิดของเมฆและเมฆปกคลุมที่มีผลต่อการร่วงของใบและการออกดอกของต้นราชพฤกษ์ในโรงเรียนมัธยมวานรนิวาศ โรงเรียนดาราวิทยาลัย เรื่อง ความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณน้ำฝน, ชนิดของเมฆและเมฆปกคลุมจากข้อมูล CloudSat ณ โรงเรียนดาราวิทยาลัย โรงเรียนจตุคามวิทยาคม เรื่อง การศึกษาความชื้น อุณหภูมิและเมฆที่มีผลต่อการงอกของเห็ดโคน โรงเรียนวัดฉัตรแก้วจงกลนี เรื่อง แบบจำลองความสัมพันธ์ระหว่างอุณหภูมิสูงสุด/ต่ำสุด กับการเกิดเมฆที่กรุงเทพมหานคร และโรงเรียนชุมชนบ้านบางโหนด เรื่อง การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างข้อมูลชนิดเมฆและข้อมูลปริมาณเมฆปกคลุม ต่อปริมาณรังสียูวีภายในบริเวณโรงเรียนชุมชนบ้านบางโหนด จังหวัดนครศรีธรรมราช สสวท. จัดการอบรมขึ้นครั้งนี้เพื่อต้องการให้ความรู้แก่นักเรียนและคณะอาจารย์เกี่ยวกับเรื่องเมฆและการเก็บข้อมูลต่างๆเกี่ยวกับอากาศ สภาพอากาศและนำข้อมูลมาเปรียบเทียบกับภาพถ่ายดาวเทียม ซึ่งทางคณะทำงานของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ก็ได้เสริมกิจกรรมการเรียนรู้พื้นฐานเกี่ยวกับฟิสิกส์ เคมีและคณิตศาสตร์เข้าไปกับกิจกรรมการเรียนรู้ต่างๆ ด้วย เพื่อเป็นการบูรณาการเข้าด้วยกันระหว่างวิทยาศาสตร์กับวิชาอื่นๆ นอกจากนี้ทางนักวิทยาศาสตร์ของโครงการยังได้อบรมพัฒนาการเขียนโครงร่างงานวิจัยระดับนักเรียนให้นักเรียนและอาจารย์ที่เข้าอบรม เพื่อใช้เป็นวิธีการหนึ่งของการพัฒนาการเรียนการสอนของโรงเรียน เพื่อต้องการให้นักเรียนและอาจารย์แต่ละโรงเรียนเขียนโครงการวิจัยเข้ามาขอทุนในการสนับสนุนการทำโครงการวิจัยปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าภูมิอากาศของประเทศไทยนั้นมีการเปลี่ยนแปลงไปไม่ว่า การเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง หรือภาวะภัยแล้วที่ยาวนานขึ้น จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนี้ เมฆเป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่งต่อสภาพภูมิอากาศและระบบภูมิอากาศ ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของวัฎจักรน้ำ จากอากาศสู่พื้นดินของทั้งโลก เมฆยังส่งผลต่อการแลกเปลี่ยนพลังงานความร้อนและพลังงานแสงอาทิตย์ระหว่างบรรยากาศ พื้นผิวดิน วัฎจักรของน้ำ และสิ่งมีชีวิต ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงของเมฆเพียงเล็กน้อยจึงส่งผลต่อสภาพอากาศมากกว่าก๊าซเรือนกระจก หรือละอองอากาศ การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่เกิดจากเมฆอาจส่งผลทั้งในทางบวกและในทางลบขึ้นอยู่กับขบวนการที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นนักวิทยาศาสตร์จึงมีความเชื่อว่าความถูกต้องของการทำนายหรือทำแบบจำลองสภาพภูมิอากาศนั้นขึ้นกับเมฆและคุณสมบัติการแผ่รังสีของเมฆอย่างมาก

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ