กองทุนว่างงานมีเสถียรภาพมั่นคง .... เป็นไปตามกม.ประกันสังคม ไร้เงา ‘การเมือง’

ข่าวทั่วไป Tuesday December 19, 2006 16:11 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 ธ.ค.--สปส.
การประกันการว่างงานของประเทศไทย เป็นระบบการให้ความช่วยเหลือผู้ทำงานที่ว่างงาน จนทำให้สูญเสียรายได้ โดยจะได้รับความช่วยเหลือในระยะเวลาที่กำหนด
ภาวะการว่างงานก่อให้เกิดปัญหาและผลกระทบหลายอย่าง นอกจากขาดรายได้และมาตรฐานการดำรงชีวิตต่ำลง ยังทำให้เกิดภาวะบีบคั้นทางด้านจิตใจมีอิทธิพลต่อชีวิตครอบครัวและสภาพแวดล้อมทางสังคม และทำให้แรงงานถูกละทิ้งอย่างเปล่าประโยชน์มีผลให้รายได้ประชาชาติตกต่ำ ตลอดจนส่งผลกระทบทางการเมืองและเสถียรภาพของรัฐบาล รัฐจึงต้องจัดการให้ประชาชนมีงานทำ เช่น การจ้างงาน ส่งเสริมการมีงานทำ ส่งเสริมการลงทุน ตลอดจนจัดมาตรการคุ้มครองทางสังคม ทั้งด้านบริการทางสังคม การช่วยเหลือทางสังคม รวมทั้งการประกันสังคม เพื่อแก้ไขและป้องกันความเดือดร้อนเป็นการสนับสนุนให้ประชาชนดำรงชีพอย่างมีคุณภาพ
ซึ่งการประกันสังคมกรณีว่างงาน เป็นมาตรการหนึ่งในการบรรเทาปัญหาการว่างงานโดยพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 54(7) ได้กำหนดให้จัดประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานแก่ผู้ประกันตน และมาตรา 104 วรรคสาม กำหนดให้เริ่มดำเนินการจัดเก็บเงินสมทบเพื่อการให้ประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเมื่อใดให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา
สปส.ได้จัดประโยชน์ทดแทน 6 กรณี ให้แก่ผู้ประกันตนเป็น 3 ระยะ ระยะที่ 1 ตั้งแต่ พ.ศ.2534 ได้จัดประโยชน์ทดแทนกรณีเจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ และเสียชีวิต ระยะที่ 2 ตั้งแต่ พ.ศ.2541 ได้จัดประโยชน์ทดแทนกรณีสงเคราะห์บุตร และบำนาญชราภาพ สำหรับการให้ความคุ้มครองกรณีว่างงาน สำนักงานประกันสังคมได้เริ่มศึกษาตั้งแต่ปี พ.ศ.2536 โดยได้ร่วมมือกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) จัดสัมมนาทางวิชาการเรื่องการประกันการว่างงาน เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2536 วัตถุประสงค์เพื่อระดม ความคิดเห็นในการหาแนวทางที่เหมาะสมที่จะจัดให้มีการประกันการว่างงาน แต่ผลการสัมมนาได้ข้อสรุปว่า ประเทศไทยในขณะนี้ ยังไม่พร้อมที่จะดำเนินการประกันการว่างงาน ทำให้การเตรียมการในเรื่องนี้ชะลอไป
กระทั่งเกิดภาวะวิกฤตเศรษฐกิจใน พ.ศ.2540 เป็นเหตุให้ลูกจ้าง ผู้ประกันตนจำนวนมากต้องถูกเลิกจ้าง จึงได้มีการเรียกร้องต่อรัฐบาลให้เร่งดำเนินการให้ความคุ้มครองประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานแก่ผู้ประกันตนอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ทิศทางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับ 9 (พ.ศ.2545-2549) มุ่งเน้นการพัฒนาคนอย่างต่อเนื่องจากแผนฯ ฉบับที่ 8 โดยมีจุดมุ่งหมายพัฒนาคนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งกระทรวงแรงงานโดยสำนักงานประกันสังคม ได้กำหนดทิศทางการดำเนินงานที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ คือ กำหนดแนวทางขยายความคุ้มครองกรณีว่างงาน
ส่วนการพิจารณาจัดเก็บเงินสมทบและประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน ได้ดำเนินการเป็นขั้นตอนและรอบคอบ โดยมีผู้แทนจากนายจ้าง ลูกจ้าง นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญจากองค์กรระหว่างประเทศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมให้ความคิดเห็น รวมทั้งความคิดเห็นจากเวทีสัมมนาทั่วประเทศหลายครั้ง จึงไร้เงาครอบงำจากนักการเมือง และคำนึงถึงเสถียรภาพของกองทุนเป็นหลัก โดยพิจารณาจากอัตราส่วนเงินสำรองกองทุนเทียบกับรายจ่ายในปีถัดไป (Fund Ratio) ซึ่งได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ ILO และ JICA ว่ากองทุนเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนควรจะมี Fund Ratio อยู่ในระดับ1-2 เท่าของประโยชน์ทดแทนในปีถัดไป หากกองทุนมี Fund Ratio ที่ระดับ 2 เท่า สามารถรองรับความเสี่ยงในกรณีเกิดภาวะวิกฤติเศรษฐกิจได้มากกว่า Fund Ratio ที่ระดับ 1 เท่า ทั้งนี้ สปส .ได้มีการประเมินสถานะกองทุนตามหลักการทางคณิตศาสตร์ประกันภัยเป็นประจำทุกปี และจากการดำเนินงานกองทุนฯ กรณีว่างงาน มาแล้ว 2 ปี พบว่า Fund Ratio ของกองทุนมีระดับสูงถึง 8 เท่า มั่นใจได้ว่าแม้จะมีการจ่ายประโยชน์ทดแทนให้ผู้ประกันตนว่างงานที่ลาออก กองทุนประกันสังคมยังคงมีเสถียรภาพที่มั่นคง
ในส่วนของการจ่ายประโยชน์ทดแทน คำนึงถึงมาตรฐานขั้นต่ำขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ซึ่งได้กำหนดให้จ่ายเงินทดแทนการขาดรายได้ในอัตรา 45-50% ของรายได้ก่อนว่างงานเป็นระยะเวลาประมาณ 13-26 สัปดาห์ นอกจากนี้ อัตราการจ่ายประโยชน์ทดแทนต้องไม่ต่ำเกินไปจนไม่สามารถบรรเทาความเดือดร้อนของลูกจ้างที่ว่างงานได้ และให้พอมีเงินยังชีพได้ในระหว่างหางานใหม่ทำ ทั้งนี้ในประเทศที่ให้ประโยชน์ทดแทนแก่ผู้ลาออกกำหนดอัตราการจ่ายที่น้อยกว่าผู้ถูกเลิกจ้าง
สำหรับประเทศไทย การว่างงานตามมาตรา 5 แห่งพ.ร.บ.ประกันสังคม หมายความว่า การที่ผู้ประกันตนต้องหยุดงานเนื่องจากนิติสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงานสิ้นสุดลง ได้มีข้อเสนอจากคณะอนุกรรมการเตรียมการประกันสังคมกรณีว่างงานว่า ให้จ่ายประโยชน์ทดแทนเฉพาะผู้ว่างงานที่ถูกเลิกจ้างโดยไม่มีความผิด ซึ่งเป็นไปตามหลักการของประกันสังคมกรณีการว่างงาน แต่จากผลการสัมมนาและข้อเสนอจากฝ่ายลูกจ้าง ตลอดจนการพิจารณาของคณะกรรมการเตรียมการขยายความคุ้มครองประกันสังคมกรณีว่างงาน ได้เสนอให้ดำเนินการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ในกรณีว่างงานตามข้อกำหนดของพระราชบัญญัติประกันสังคมฉบับปัจจุบันโดยไม่ต้องแก้ไขกฎหมาย และให้จ่ายประโยชน์ทดแทนแก่ผู้ลาออกด้วย เพราะไม่มีบทบัญญัติในมาตราใดของพระราชบัญญัติประกันสังคมห้ามไม่ให้จ่ายประโยชน์ทดแทนแก่ ผู้ลาออก
จึงได้หารือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเกี่ยวกับความหมายของการว่างงาน สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตีความแล้วให้หมายรวมถึงการลาออกจากงาน ดังนั้นหากไม่มีการแก้ไขกฎหมาย ผู้ลาออกจากงานมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานด้วย ซึ่งเป็นการช่วยเหลือลูกจ้างที่ถูกนายจ้างบีบบังคับให้ลาออกจากงานเพื่อหลีกเลี่ยงการจ่ายค่าชดเชย
อัตราการจ่ายประโยชน์ทดแทนตามมาตรฐานขั้นต่ำของ ILO แนวปฏิบัติของนานาชาติ รวมทั้งรายงานการสำรวจและวิจัยของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พบว่าผู้ว่างงานสามารถหางานใหม่ได้ภายใน 3- 6 เดือน และมีค่าใช้จ่ายที่จำเป็นประมาณ 30 —50% ของรายได้ การกำหนดอัตราจ่ายประโยชน์ทดแทนให้ผู้ถูกเลิกจ้างและผู้ลาออกจากงานจึงแตกต่างกัน โดยผู้ที่ลาออกจากงานได้รับประโยชน์ทดแทนในอัตราและระยะเวลาที่น้อยกว่า และเพื่อไม่จูงใจให้มีการลาออกจากงานโดยไม่จำเป็น ตามอัตราดังนี้
1. ผู้ถูกเลิกจ้าง ได้รับในอัตรา 50% ของค่าจ้าง ครั้งละไม่เกิน 180 วัน
2.ผู้ลาออกจากงาน ได้รับในอัตรา 30% ของค่าจ้าง ครั้งละไม่เกิน 90 วัน
อัตราและระยะเวลาการจ่ายประโยชน์ทดแทนตามที่กำหนด รวมทั้งเงื่อนไขข้อกฎหมายตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม จะไม่เป็นการจูงใจให้ผู้ประกันตนลาออกเพื่อมาขอรับประโยชน์ทดแทน และแม้ว่าจำนวนผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานส่วนใหญ่จะเป็นผู้ลาออกจากงาน ไม่มีผลกระทบต่อเสถียรภาพกองทุน เนื่องจากอัตราเงินสมทบกรณีว่างงานที่เรียกเก็บในปัจจุบัน ได้ผ่านการวิเคราะห์ทางคณิตศาสตร์ประกันภัยเพื่อรองรับการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานแก่ผู้ประกันตนทั้งที่ถูกเลิกจ้าง และลาออก
เม็ดเงินที่ สปส.จ่ายประโยชน์ทดแทน ในปี ‘47 (ก.ค.-ธ.ค.) สปส.จ่ายประโยชน์ทดแทน เป็นเงิน 155 ล้านบาท ปี ’48 เป็นเงิน 817 ล้านบาท และในปี ’49 (ม.ค.-ก.ย.) เป็นเงิน 849.10 ล้านบาท สำหรับสถานะกองทุนฯ กรณีว่างงาน จนถึงปัจจุบัน ต.ค.’49 เท่ากับ 21,398 ล้านบาท และรวมจ่ายประโยชน์ทดแทนให้กับผู้ประกันตนทั้ง 2 กรณี เป็นเงิน 1,916.48 ล้านบาท
ดังนั้น การที่ผู้วิจัยมองว่ากองทุนประกันสังคมกรณีว่างงานจะล้มละลาย ยืนยันว่าไม่เป็นความจริง เพราะจากประมาณการทางคณิตศาสตร์ประกันภัยสถานะกองทุนกรณีว่างงานในอีก 8 ปีข้างหน้า คือในปี 2558 เงินสมทบกรณีว่างงานที่จัดเก็บได้ เป็นเงิน 16,860 ล้านบาท การจ่ายประโยชน์ทดแทน เป็นเงิน 5,300 ล้านบาท และกองทุนดังกล่าวจะมียอดเงินสะสมถึง 102,995 ล้านบาท ซึ่งแสดงให้เห็นว่ากองทุนมีเสถียรภาพที่มั่นคง
การกำหนดอัตราเงินสมทบ นอกจากจะพิจารณาจากอัตราการจ่ายประโยชน์ทดแทน ซึ่งจะต้องเป็นไปตามมาตรฐานสากลและให้ผู้ว่างงานมีเงินพอยังชีพได้ระหว่างหางานทำแล้ว ยังจะต้องพิจารณาถึงผลกระทบต่อผู้เกี่ยวข้องที่จะต้องมีภาระเพิ่มขึ้นจากการจ่ายเงินสมทบ และเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ดังนั้น อัตราเงินสมทบที่จัดเก็บจะทำให้ผู้เกี่ยวข้องมีภาระเพิ่มขึ้นไม่มากเมื่อเทียบกับประโยชน์ที่จะได้รับกลับคืน
ทั้งนี้ การที่มีผู้วิจัยกล่าวอ้างหรือแสดงความคิดเห็นในเวทีสาธารณะ ควรนำผลการวิจัยเสนอแนะในเชิงสร้างสรรค์ เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ต่อลูกจ้าง หน่วยราชการและประเทศชาติ โดยมิใช่เป็นการกล่าวอ้างโดยปราศจากข้อมูลและการศึกษาเรื่องดังกล่าวอย่างจริงจัง ส่งผลกระทบและสร้างความเสียหายกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
ศูนย์สารนิเทศ สนง.ประกันสังคม สายด่วน 1506/www.sso.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ