กรุงเทพฯ--30 ต.ค.--พริสไพออริตี้
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มุ่งเน้นให้ความรู้เยาวชนจัดกิจกรรมโครงการ Energy Learning ซึ่งเป็นโครงการเพื่อส่งเสริมให้เยาวชนไทยได้มีโอกาสเรียนรู้วิธีการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิง และพลังงานรูปแบบต่างๆ จากประสบการณ์จริง ผ่านกิจกรรมสันทนาการ การแสดงนิทรรศการ การทัศนศึกษา การบรรยายให้ความรู้ ฯลฯ เพื่อนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับนั้นไปถ่ายทอดขยายผลให้กับบุคคลอื่นในสังคมได้รับทราบอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป ซึ่งหลังจากที่ได้มี กิจกรรม Energy Visit ซึ่งเปิดโอกาสให้เยาวชนทุกคนที่เข้าร่วมโครงการ ในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เดินทางไปศึกษาดูงานแหล่งผลิตไฟฟ้า เช่น เขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก ฯลฯ ไปแล้วนั้นยังได้มีการจัด กิจกรรม Energy Project เพื่อให้แต่ละโรงเรียนนำความรู้ที่ได้รับมารสร้างสรรค์โครงงานเข้าประกวดตามหัวข้อที่กำหนด โดยคณะกรรมการจาก กฟผ., กระทรวงศึกษาธิการ และผู้ทรงคุณวุฒิ จะร่วมกันตัดสินจนได้ผู้เข้ารอบสุดท้ายเพียง 15 โรงเรียน เพื่อประกาศรางวัลผู้ชนะเลิศ ในทุกประเภทเข้ารับประทานโล่รางวัลจากพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ซึ่งจะเสด็จเป็นองค์ประธานและทอดพระเนตรนิทรรศการ ในวันที่ 25-26 พฤศจิกายน 2551 ณ ห้องประชุม 1-2 อาคาร 9 เมืองทองธานี
นายโรจน์ คำพาที ผูช่วยผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ การสื่อสารองค์การ ได้กล่าวถึงการจัดโครงการ Energy Learning และเกณฑ์การตัดสินโครงงานสำหรับกิจกรรม กิจกรรม Energy Project ครั้งนี้ว่า
“ การจัดกิจกรรมครั้งนี้ได้รับการตอบรับจากโรงเรียนที่เชิญเข้าร่วมโครงการเป็นอย่างดี รวมทั้งสิ้น 40 โรงเรียน ซึ่งมีทั้งโรงเรียนในเขตพื้นที่ กทม. นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ รวมถึงโรงเรียนจากจังหวัดตากและจังหวัดลำปาง ซึ่งเป็นโรงเรียนในพื้นที่ที่โครงการได้ไปจัดกิจกรรม Energy Visit อีกจังหวัดละ 1 โรงเรียนด้วย เนื่องจากการประกวดโครงการ Energy Learning นั้นมีการจัดทำโครงงานด้านวิทยาศาสตร์ ซึ่งต้องนำองค์ความรู้ในด้านวิทยาศาสตร์ในระดับที่ค่อนข้างสูงมาใช้ในการคิดสร้างสรรค์โครงงาน เยาวชนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจึงเป็นกลุ่มที่มีความเหมาะสม รวมถึงในด้านการนำเสนอที่ต้องอาศัยศาสตร์ทางศิลปะเข้ามาช่วยด้วย ซึ่งกรรมการจะประเมินผลในรอบแรกจากการนำความรู้ที่ได้จากการเข้าร่วมกิจกรรม Energy Visit มาสร้างสรรค์โครงงานวิทยาศาสตร์ ทั้งในด้านรูปแบบ ความถูกต้องชัดเจน การใช้หลักการทำงานวิทยาศาสตร์ให้ถูกต้องเหมาะสมกับระดับความรู้และปัญหา โดยมีความเข้าใจเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นการตั้งสมมติฐาน การออกแบบการทดลอง การใช้นิยามเชิงปฏิบัติการ การเลือกเครื่องมือวัด และการแปรความหมายข้อมูลและข้อสรุปที่ถูกต้องรวมถึงประเมินผลจากการนำโครงงานวิทยาศาสตร์ดังกล่าวมานำเสนออย่างมีลีลา ให้น่าสนใจ และมีความคิดสร้างสรรค์ด้วย”
ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ :
DYMAXTION
กัมปนาท วงศ์หงส์กุล (เท็ดดี้) 089-894-3366