ปภ.แนะประชาชนภาคใต้เฝ้าระวังภัยพิบัติจากภาวะฝนตกหนัก

ข่าวทั่วไป Thursday October 30, 2008 14:40 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 ต.ค.--ปภ. กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย แนะประชาชนภาคใต้เฝ้าระวังภัยพิบัติ โดยหมั่นติดตามรับฟังพยากรณ์อากาศและสังเกตความเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติอย่างใกล้ชิด หากมีประกาศเตือนภัยให้รีบขนย้ายทรัพย์สินและอพยพไปยังพื้นที่ปลอดภัยทันที พร้อมสั่งการให้ศูนย์ ปภ.เขต และสำนักงาน ปภ.จังหวัดในพื้นที่ภาคใต้จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังสถานการณ์ภัยพิบัติและจัดเตรียมอุปกรณ์เครื่องมือให้พร้อมช่วยเหลือผู้ประสบภัยเมื่อเกิดภัยพิบัติ นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ร่องความกดอากาศต่ำจะพาดผ่านภาคใต้ ทำให้มีฝนตกหนาแน่นและฝนตกหนัก อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ภาคใต้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงขอเตือนให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยภาคใต้ทั้งที่ลาดเชิงเขา ที่ราบลุ่มริมฝั่งแม่น้ำ และใกล้ทางน้ำไหล ระมัดระวังอันตรายจากน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม โดยหมั่นติดตามรับฟังพยากรณ์อากาศและประกาศแจ้งเตือนภัยจากหน่วยงานภาครัฐอย่างใกล้ชิด จัดเตรียมอาหารแห้ง ยารักษาโรค ตะเกียง ไฟฉาย และวิทยุ ไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน และสังเกตสัญญาณความเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ หากสีน้ำเปลี่ยนเป็นสีเดียวกับดินบนภูเขา ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีเสียงดังจากบนภูเขา สัตว์ป่าแตกตื่น หรือหากมีประกาศแจ้งเตือนภัย ให้รีบแจ้งเตือนชาวบ้าน เพื่อขนย้ายทรัพย์สินไว้บนที่สูง พร้อมอพยพไปยังพื้นที่ปลอดภัยในทันที สำหรับผู้ที่เดินเรือควรงดออกจากฝั่งในช่วงที่มีประกาศแจ้งเตือนภัย เนื่องจากคลื่นพายุลมแรงอาจทำให้เรือล่มได้ นายอนุชาฯ กล่าวต่อไปว่า ในส่วนการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือสถานการณ์ภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ประสานให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง ๑๔ จังหวัดภาคใต้ และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จัดตั้งศูนย์อำนวยการ เฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยฯ ระดับจังหวัด / อำเภอ / องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และจัดทำแผนเฉพาะกิจในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยฯ ปี ๒๕๕๑ โดยวางระบบการเฝ้าระวัง แผนการอพยพ เส้นทางอพยพ การแจ้งเตือนภัย และกำหนดพื้นที่รองรับการอพยพ สำรวจปรับปรุงข้อมูลพื้นที่เสี่ยงภัย ให้มีความสอดคล้องกับสถานการณ์ภัยพิบัติ ตลอดจนสั่งการให้ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต ๔ ประจวบคีรีขันธ์ เขต ๑๑ สุราษฎร์ธานี เขต ๑๒ สงขลา เขต ๑๘ ภูเก็ต และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดทั้ง ๑๔ จังหวัดภาคใต้ จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังสถานการณ์ภัยอย่างต่อเนื่องตลอด ๒๔ ชั่วโมง และประสานกับอำเภอและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้จัดเตรียมเครื่องมือ เครื่องใช้ อุปกรณ์ให้พร้อมช่วยเหลือผู้ประสบภัย นอกจากนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ยังได้จัดฝึกอบรมเครือข่ายการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในพื้นที่ ดังนี้ มิสเตอร์เตือนภัยในพื้นที่เสี่ยงภัย จำนวน ๗๖๗ คน ใน ๔๓๒ หมู่บ้าน ทีมกู้ชีพกู้ภัยประจำตำบล (OTOS) จำนวน ๗๓๕ แห่ง การจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบ ัติโดยอาศัยชุมชนเป็นฐานให้แก่ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัย จำนวน ๘๑๒ หมู่บ้าน และสมาชิก อปพร. ในพื้นที่เสี่ยงภัยทั้งสิ้น ๑๒๕,๖๒๙ คน ตลอดจนได้จัดวางระบบเฝ้าระวังสำหรับการแจ้งเตือนภัยล่วงหน้า โดยได้นำเครื่องวัดปริมาณน้ำฝน จำนวน ๙๔ เครื่อง เครื่องไซเรนมือหมุน จำนวน ๒๑๔ เครื่อง ไปติดตั้งในพื้นที่เสี่ยงภัย นอกจากนี้ ยังได้เตรียมพร้อมด้านเครื่องมือ อุปกรณ์ในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยฯ เช่น เรือท้องแบน จำนวน ๓๑๘ ลำ บ้านน๊อคดาวน์ (ของมูลนิธิเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก) จำนวน ๒๗๖ หลัง รถบรรทุก รถยนต์กู้ภัย รถเครื่องกำเนิดไฟฟ้า และรถผลิตน้ำดื่ม ฯลฯ สุดท้ายนี้ หากได้รับความเดือดร้อนจากเหตุอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนสาธารณภัย ๑๗๘๔ ตลอด ๒๔ ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ