กรุงเทพฯ--30 ต.ค.--สกว.
32 โรงงานก๋วยเตี๋ยวทั่วประเทศร่วมพัฒนาก๋วยเตี๋ยวปลอดภัยกับ สกว. ใช้น้ำมันสูตรใหม่ เลิกใส่สารกันรา ส่งผลอายุเส้นสดเหลือ 4-5 วัน หวังแก้ปัญหารายใหญ่ส่งข้ามเขตไปขายตัดราคารายเล็กในท้องถิ่นได้ด้วย
รายงานข่าวจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) แจ้งว่า ขณะนี้มีผู้ประกอบการโรงงานผลิตเส้นก๋วยเตี๋ยว 32 รายสมัครใจเข้าร่วมเป็นพันธมิตรร่วมวิจัยกับโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม (โครงการ SMEs) ของสกว. เพื่อหาแนวทางในการปรับปรุงคุณภาพและระบบการผลิตเส้นก๋วยเตี๋ยว
ผศ.ดร.บัณฑิต อินณวงศ์ ผู้ประสานงานชุดโครงการ SMEs กล่าวว่า สกว. จะถ่ายทอดองค์ความรู้จากงานวิจัยให้แก่โรงงานทั้ง 32 แห่ง เพื่อปรับปรุงระบบการผลิตให้ได้ทั้งคุณภาพและความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น “ปัญหาที่โรงงานส่วนใหญ่มีคล้ายกันคือ การใช้น้ำมันทอดซ้ำ ในการผลิตเส้นก๋วยเตี๋ยวโดยเฉพาะเส้นใหญ่ เราก็จะแนะนำให้ใช้น้ำมันสูตรใหม่ ที่เป็นน้ำมันพืชใหม่ผสมกับสารที่ได้จากไขมันธรรมชาติแทน ส่วนปัญหาการใช้สารส้มใส่ในเส้นก๋วยเตี๋ยวซึ่งทำให้มีโลหะหนักอะลูมิเนียม อะลัม ตกค้างและเป็นอันตรายต่อสุขภาพ เราก็จะแนะนำให้ใช้อย่างอื่นที่ทำให้เส้นก๋วยเตี๋ยวเป็นเงางามเหมือนกัน แต่ปลอดภัยต่อสุขภาพ” ผศ.ดร. บัณฑิต กล่าว
ขั้นตอนต่อไปคือ ในวันที่ 17-19 พฤศจิกายนนี้ โครงการ SMEs จะเชิญผู้ประกอบการทั้ง 32 รายเข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิตให้ทันสมัย และเรียนรู้วิธีการควบคุมคุณภาพในกระบวนการผลิตเส้นก๋วยเตี๋ยว โดยทราบถึงเทคนิค อุปกรณ์ และเครื่องมือที่จะใช้ในการควบคุมคุณภาพของวัตถุดิบข้าวและเส้นก๋วยเตี๋ยว รวมทั้งได้ทราบสูตรน้ำมันใหม่และตัวเลือกทดแทนสารส้ม
นายประกฤต มัธยสินชัย เจ้าของโรงก๋วยเตี๋ยวอึ้งฮะเซ้ง ตรามังกรคู่ จังหวัดจันทบุรี และนายปกาสิต ศรีวราลักษณ์ เจ้าของโรงงานก๋วยเตี๋ยว ป.รุ่งเรือง จังหวัดอำนาจเจริญ ซึ่งเป็นโรงงานที่ได้ทดลองใช้น้ำมันสูตรใหม่ผลิตเส้นก๋วยเตี๋ยวแล้ว ต่างบอกว่า พอใจในประสิทธิภาพที่ได้ และยินดีจะใช้ แม้จะทำให้ต้นทุนสูงขึ้นบ้างก็ตาม เพราะปลอดภัยแก่ผู้บริโภค ซึ่งตรงกับความต้องการของโรงงาน
นอกจากเรื่องความปลอดภัย ทีมวิจัยของ สกว. ยังหวังด้วยว่า ในที่สุดแล้วปัญหาที่ผู้ผลิตรายใหญ่ที่กำลังการผลิตมากและผลิตก๋วยเตี๋ยวที่อยู่ได้นานขนส่งได้หลายวัน ส่งก๋วยเตี๋ยวข้ามเขตหรือข้ามภูมิภาคไปตัดราคาขายแข่งกับผู้ผลิตรายเล็กในท้องถิ่นจะหมดไป เพราะก๋วยเตี๋ยวที่ปลอดภัยไร้สารเคมีอันตรายจะอยู่ได้เพียง 4-5 วัน จึงทำให้ผู้ผลิตต้องจำหน่ายเฉพาะในเขตใกล้เคียงกับโรงงานเท่านั้น
สำหรับโรงงานเส้นก๋วยเตี๋ยวที่สมัครใจเข้าร่วมวิจัยทั้งสิ้น 32 รายนี้ถือได้ว่า ครอบคลุมผู้ผลิตเส้นก๋วยเตี๋ยวเกือบทั่วประเทศ มีส่วนแบ่งตลาดรวมกันเกินครึ่งของปริมาณเส้นก๋วยเตี๋ยว 200 ตันต่อวันที่ผลิตได้ทั้งประเทศ โรงงานที่เข้าร่วมมาจากทุกภูมิภาคโดยเฉพาะจากภาคกลางมีมากถึง 20 ราย ส่วนรายที่ยังไม่เข้าร่วมการวิจัยนั้นส่วนใหญ่เป็นรายเล็กที่ใช้ข้าวเพียง 1-2 กระสอบต่อวันในการผลิต
นอกจากปัญหาหลักๆ ที่มีร่วมกันแล้ว ทีมวิจัยยังจะช่วยแก้ปัญหาเฉพาะของแต่ละโรงงานด้วย เช่น ผลิตได้เส้นก๋วยเตี๋ยวที่เส้นมีสีคล้ำไม่น่ารับประทาน ซึ่งอาจเป็นเพราะน้ำที่ใช้ในการผลิตมีแร่เหล็กมากเกินไป หรือเรื่องของพันธุ์ข้าวที่เหมาะสำหรับนำมาทำก๋วยเตี๋ยว ซึ่งต้องเป็นพันธุ์ที่มีปริมาณอะไมโลสมาก (ทำให้เส้นเหนียวนุ่ม มีเนื้อสัมผัสที่ดี) แต่ปัจจุบันมีไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้ประกอบการ อาทิ ข้าวเสาไห้ ข้าวเหลืองประทิว ข้าวชัยนาท เป็นต้น
ผู้ส่ง : ฉัตร์ทิพย์ งานสื่อสารสังคม สกว.
เบอร์โทรศัพท์ : (02) 278-8290