กรุงเทพฯ--31 ต.ค.--ก.ไอซีที
นายมั่น พัธโนทัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยว่า กระทรวงฯโดยสำนักกิจการอวกาศแห่งชาติ ได้จัดการสัมมนาระดมความคิดเห็นเรื่อง “กรอบแนวคิดการจัดตั้งองค์การอวกาศแห่งชาติ” ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ทรงคุณวุฒิและผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนากิจการอวกาศแห่งชาติได้ร่วมกันเสนอแนะและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นระหว่างกัน เพื่อนำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ไปประกอบการพิจารณาศึกษารูปแบบการจัดตั้งองค์การอวกาศแห่งชาติที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย
เนื่องจากปัจจุบันกิจการอวกาศได้เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงปลอดภัย โดยเฉพาะได้ถูกนำมาใช้งานด้านการสื่อสารโทรคมนาคม การสำรวจพื้นพิภพ รวมทั้งการวิจัยพัฒนา การประยุกต์ใช้งานด้านต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมามีหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชนได้นำเทคโนโลยีอวกาศมาใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวาง แต่เมื่อพิจารณาการพัฒนากิจการอวกาศในภาพรวมแล้ว ยังไม่มีการประสานงานที่เป็นระบบ จึงทำให้เกิดปัญหาทั้งในเรื่องความซ้ำซ้อนในการดำเนินการ การใช้งบประมาณ การขาดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการด้านการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอวกาศ และการลงทุนอย่างคุ้มค่า ซึ่งก่อให้เกิดผลเสียหายต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศโดยรวม
“กระทรวงฯ ในฐานะหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนากิจการอวกาศของประเทศไทยให้มีเอกภาพ เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านการสื่อสารและประสานความร่วมมือด้านกิจการอวกาศในภูมิภาค จึงได้จัดทำแนวทางการพัฒนากิจการอวกาศของประเทศ และนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2551 ซึ่งสาระสำคัญที่ได้นำเสนอนั้น คือ การแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ เพื่อทำหน้าที่กำหนดนโยบาย ส่งเสริม สนับสนุน การพัฒนากิจการอวกาศของประเทศให้สอดคล้องรองรับกับนโยบายรัฐบาล แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีอวกาศทั้งในปัจจุบัน และอนาคต โดยให้มีการจัดตั้งองค์การอวกาศแห่งชาติ เพื่อทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการฯ และเป็นหน่วยงานหลักในการประสานงานในการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ รวมทั้งประสานความร่วมมือด้านอวกาศระหว่างประเทศทั้งในระดับทวิภาคและพหุภาค เพื่อให้การพัฒนากิจการอวกาศของประเทศเป็นไปอย่างมีเอกภาพ มั่นคง และยั่งยืน” นายมั่นกล่าว
สำหรับรูปแบบการจัดตั้งองค์การอวกาศแห่งชาติที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทยนั้น กระทรวงฯ ได้ร่วมกับสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ดำเนินการศึกษา โดยพิจารณาจากความจำเป็น ความคุ้มค่า โครงสร้าง และภารกิจองค์กรฯ รวมทั้งประโยชน์ที่จะได้รับทั้งในด้านกฎหมาย และด้านเศรษฐศาสตร์ ซึ่งการสัมมนาระดมความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในครั้งนี้ ทำให้ได้รับทราบข้อเสนอแนะที่น่าสนใจในหลายๆ ประเด็น อาทิผลประโยชน์ที่พึงได้รับควรให้ครอบคลุมใน 3 ประเด็น คือ ในแง่ที่เป็นตัวเงินและไม่เป็นตัวเงิน ในแง่ประโยชน์ที่ประชาชนได้รับ และในแง่จิตวิทยาที่มีผลกระทบต่อประชาชน รวมทั้งต้องรักษาผลประโยชน์ของประเทศไทยในอวกาศ นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับวิธีการดำเนินการ และบทบาทหน้าที่ที่ไม่ควรซ้ำซ้อนกับหน่วยงานที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน เป็นต้น