กรุงเทพฯ--5 ม.ค.--สนพ.
กระทรวงพลังงาน ดัน 20 เทศบาล เป็นต้นแบบเทศบาลประหยัดพลังงาน ตั้งเป้าลดใช้พลังงานแห่งละ 5% แล้วขยายเครือข่าย
นายเมตตา บันเทิงสุข ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า จากการที่ภาครัฐพยายามส่งเสริมให้เกิดวินัยการใช้พลังงานอย่างต่อเนื่องในทุกสาขา โดยนำกิจกรรมหรือรูปแบบที่เหมาะสมเข้าไปให้ความรู้ความเข้าใจในทุกกลุ่มเป้าหมาย เช่นที่ สนพ.ดำเนินการ ส่งเสริมการจัดการพลังงานและสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพระดับเทศบาล เพื่อเป็นต้นแบบของการทดสอบเครื่องมือหรือกระบวนการที่จะช่วยให้เกิดการจัดการที่ดี ช่วยให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพได้ในท้ายที่สุดนั้น สนพ.ได้ให้สถาบันสิ่งแวดล้อมไทยเป็นผู้ดำเนินการ โดยคัดเลือกเทศบาล 2 แห่ง คือ เทศบาลตำบลเมืองแกลง จ.ระยอง และเทศบาลตำบลแหลมฉบัง จ.ชลบุรี ซึ่งเป็นเทศบาลเป้าหมาย มาเป็นเทศบาลนำร่องประหยัดพลังงาน โดยนำเทคนิค "เทคโนโลยีสะอาด (Cleaner Technology)" มาจัดการด้านพลังงานและคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม เสริมกับการจัดตั้งระบบตามมาตรฐานสากล ISO 14001 เพื่อให้เกิดการใช้และวิเคราะห์ข้อมูลอย่างมีระบบ จากผลการดำเนินงานพบว่า เทศบาลตำบลเมืองแกลงสามารถลดการใช้ไฟฟ้าในสำนักงานลงได้ 8% คิดเป็น 27,923 บาท และลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงลงได้ 6% คิดเป็น 201,736 บาท ส่วนเทศบาลตำบลแหลมฉบังสามารถลดการใช้ไฟฟ้าลงได้ 8% คิดเป็น 128,765 บาท และลดการใช้น้ำมันลงได้ 3% นอกจากนี้แต่ละเทศบาลยังสามารถดึงชุมชนที่อยู่ในความรับผิดชอบเข้าร่วมโครงการได้กว่า 50%
สำหรับการดำเนินโครงการระยะที่ 2 สนพ. ได้ขยายผลไปยังเทศบาล 20 แห่ง โดยคัดเลือกจากเทศบาลนคร เทศบาลเมือง และเทศบาลตำบลทั่วประเทศ 1,129 แห่ง โดยเลือกเทศบาลที่มีศักยภาพและกระจายชุมชนต้นแบบไปทุกภูมิภาค ได้แก่ ภาคเหนือ ได้แก่ เทศบาลตำบลอุโมงค์ จ.ลำพูน เทศบาลเมืองสุโขทัยธานี เทศบาลเมืองสวรรคโลก จ.สุโขทัย เทศบาลเมืองพิจิตร ภาคตะวันออก ได้แก่ เทศบาลเมืองขลุง จ.จันทบุรี เทศบาลตำบลบ้านเพ จ.ระยอง เทศบาลเมืองชลบุรี เทศบาลตำบลท่าข้าม จ.ฉะเชิงเทรา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ เทศบาลเมืองศรีสะเกษ เทศบาลตำบลนางรอง เทศบาลตำบลโนนสูง เทศบาลตำบลสีคิ้ว ภาคกลาง ได้แก่ เทศบาลเมืองอ้อมน้อย จ.สมุทรสาคร เทศบาลตำบลศรีดอนไผ่ จ.ราชบุรี เทศบาลนครสมุทรปราการ เทศบาลตำบลคลองด่าน ภาคใต้ ได้แก่ เทศบาลเมืองตะกั่วป่า เทศบาลเมืองพังงา เทศบาลนครภูเก็ต เทศบาลเมืองป่าตอง
โดยรูปแบบการดำเนินงาน เน้นให้คณะทำงานในเทศบาลแต่ละแห่ง สร้างเครือข่ายในการจัดการพลังงานและสิ่งแวดล้อมในแต่ละเทศบาล ด้วยการดึงเทศบาลและภาคีต่างๆ เข้าร่วมโครงการอย่างน้อย 2 องค์กรต่อ 1 เทศบาล จัดทำโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยอย่างน้อย 1 โครงการต่อ 1 เทศบาล และจัดทำกิจกรรมการลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าและน้ำมันเชื้อเพลิงของเทศบาล โดยตั้งเป้าหมายว่า นอกจากจะช่วยลดการใช้พลังงานทั้งไฟฟ้าและน้ำมันเชื้อเพลิงลงได้อย่างน้อย 5% แล้ว ยังสามารถเป็นต้นแบบในการจัดการพลังงานและสิ่งแวดล้อมให้แก่องค์กรอื่นๆ และสามารถบูรณาการเข้าเป็นระบบการปฏิบัติงานปกติของเทศบาลอย่างถาวรต่อไป โดยกิจกรรมครั้งนี้จะเสร็จสิ้นภายในเดือนพฤษภาคม 2549 สนับสนุนโดยกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน--จบ--