กรุงเทพฯ--3 พ.ย.--ธ.ก.ส.
ธ.ก.ส.ประเดิมขายหนี้เกษตรกรที่อยู่ระหว่างดำเนินคดีให้ กฟก. รับไปจัดการแทน 334 ราย วงเงิน 56 ล้านบาท พร้อมจัดทำแผนฟื้นฟูและพัฒนาอาชีพตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตแก่เกษตรกร
เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2551 ณ โรงแรมปริ๊นซ์ พาเลซ กรุงเทพมหานคร พลตรีสนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานและสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงการชำระหนี้แทนเกษตรกร ระหว่าง นายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ รองผู้จัดการ รักษาการแทนผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และ ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ รักษาการในตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) จำนวน 334 ราย วงเงิน 56 ล้านบาท ควบคู่การจัดทำแผนฟื้นฟูและพัฒนาอาชีพ เพื่อยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของเกษตรกรตามนโยบายของรัฐบาล
หลังเสร็จสิ้นพิธีลงนาม นายเอ็นนูกล่าวว่า คณะกรรมการ ธ.ก.ส.ได้มีมติเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2551 ให้พิจารณาแนวทางในการช่วยเหลือเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. ที่เป็นสมาชิกของ กฟก. โดยตกลงให้ กฟก.ชำระหนี้แทนเกษตรกรที่เป็นหนี้ถูกฟ้องร้องดำเนินคดี และมีภาระเงินต้นคงค้างไม่เกิน 1 ล้านบาท จำนวน 334 ราย จำนวนเงิน 111,628,307 บาท จำแนกเป็นเกษตรกรที่มีหลักประกันจำนอง 252 ราย จำนวนเงิน 104,127,081 บาท และเกษตรกรที่ไม่มีหลักประกันจำนอง 82 ราย จำนวนเงิน 7,501,226 บาท ทั้งนี้ กฟก.จะชำระหนี้แทนเกษตรกรตามต้นเงินดังกล่าวเพียง 50% คือ 55,814,153.50 บาท
นายเอ็นนูกล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันมีเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส.ที่ขึ้นทะเบียนหนี้กับ กฟก. จำนวน 190,033 ราย จำนวนต้นเงินที่เป็นหนี้ 27,174 ล้านบาท โดยหนี้ดังกล่าวเป็นหนี้ค้างชำระหรือ NPLs จำนวน 62,898 ราย จำนวนต้นเงินที่เป็นหนี้ 13,491 ล้านบาท โดยหนี้ค้างชำระทั้งหมดดังกล่าว แยกเป็นหนี้ดำเนินคดี 458 ราย จำนวนต้นเงินที่เป็นหนี้ 255 ล้านบาท ซึ่งหลักเกณฑ์การชำระหนี้แทน กฟก.จะชำระหนี้เพียง 50% ของต้นเงิน และดอกเบี้ยตัดทิ้ง กับหนี้อีกประเภทหนึ่ง คือ หนี้ค้าชำระที่ยังไม่ได้ดำเนินคดี จำนวน 62,440 ราย จำนวนต้นเงินที่เป็นหนี้ 13,236 ล้านบาท กฟก.จะต้องชำระหนี้แทนในจำนวนต้นเงิน 100% และดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี เช่นเดียวกับการชำระหนี้แทนเกษตรกรที่เป็นสมาชิกสหกรณ์การเกษตร โดยหลักเกณฑ์ดังกล่าว คณะกรรมการ ธ.ก.ส. ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธาน ได้ให้ความเห็นชอบไว้แล้ว
นายเอ็นนูกล่าวอีกว่า การแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกร จะต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการฟื้นฟูและพัฒนาอาชีพ เพื่อยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืนแก่เกษตรกร โดยน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในการดำเนินชีวิต เช่น การปรับวิธีคิด การลดต้นทุนการผลิต การลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน การพัฒนาอาชีพเสริมรายได้ เป็นต้น ทั้งนี้ หากเกษตรกรและหน่วยงานต่าง ๆ ร่วมดำเนินการอย่างจริงจัง จะช่วยแก้ปัญหาความยากจนและสามารถที่จะฝ่าฟันวิกฤตต่างๆ ไปได้อย่างแน่นอน
รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ 0-2280-0180 ต่อ 2023