EU ร่างกฎหมายใหม่ป้องกันการค้าไม้ที่ผิดกฎหมาย

ข่าวทั่วไป Tuesday November 4, 2008 15:39 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 พ.ย.--คต. นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ตามที่กรมฯได้เผยแพร่ข้อเสนอของคณะกรรมาธิการยุโรปด้านสิ่งแวดล้อม จะมีการเสนอปรับปรุงข้อบังคับ (Council regulation) เรื่องการจัดตั้งระบบใบอนุญาต FLEGT (Forest Law Enforcement, Governance and Trade) สำหรับการนำเข้าไม้ เพื่อเป็นการรับประกันว่าไม้ที่นำเข้าในอียูเป็นไม้ที่ตัดโดยถูกต้อง ตามกฎหมาย มีการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืนและมีระบบการตรวจสอบควบคุมที่ถูกต้อง นั้น เนื่องจากเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2551 คณะกรรมาธิการยุโรป (DG Environment) ได้ออกร่าง ข้อบังคับกำหนดให้ผู้ประกอบการจำหน่ายไม้เป็นผู้ให้ข้อมูลว่าไม้มาจากแหล่ง ที่ถูกกฎหมาย สาระสำคัญของ ร่างข้อบังคับสรุปได้ดังนี้ 1. ผู้ประกอบการต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับไม้ (due diligence) โดยดำเนินการตามกระบวนการและมาตรการที่กำหนดใน “due diligence system” ซึ่งระบุอยู่ใน Article 4 ของร่างข้อบังคับฯ เช่น การระบุประเทศที่เป็นแหล่งผลิตไม้ น้ำหนัก ชื่อและที่อยู่ผู้ประกอบการที่เป็นแหล่งไม้ ข้อมูลการดำเนินการตามกฎหมาย applicable legislation ของประเทศที่เป็นแหล่งผลิตไม้ การรักษาและบริหารจัดการป่าไม้ การบริหารจัดการความเสี่ยง และการตรวจสอบ (audits) โดยหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบของอียูอาจให้การรับรององค์กรตรวจสอบ (monitoring organization) ที่มีความเหมาะสมเป็นผู้รับรองว่าผู้ประกอบการได้ดำเนินการตาม due diligence system และจะมีการเผยแพร่รายชื่อองค์กรตรวจสอบใน Official Journal และเว็ปไซต์โดยมีการ update รายชื่อเป็นระยะ (Article 5 และ 6) รวมทั้งร่วมมือกับหน่วยงานบริหาร (administrative authorities) ของประเทศนอก อียู และคณะกรรมาธิการยุโรปในการควบคุมให้มีการปฏิบัติตามข้อกำหนดที่ระบุในข้อบังคับ ดังกล่าว 2. สินค้าไม้ที่ระบุใน Annex II และ III ของข้อบังคับ FLEGT (Regulation (EC) No 2173/2005) ที่มีแหล่งกำเนิดจากประเทศนอกอียูตาม Annex I ของข้อบังคับ FLEGT (ซึ่งในขณะนี้ยังไม่มีประเทศใดอยู่ใน Annex I เนื่องจากอียูยังอยู่ในระหว่างการเจรจาข้อบังคับ FLEGT กับประเทศ ที่สามหลายประเทศ อาทิ มาเลเซีย อินโดนีเซีย แคเมอรูน คองโก กานา) จะถือว่ามาจากแหล่งไม้ ที่ถูกกฎหมาย 3.การกำหนดบทลงโทษให้ประเทศสมาชิกอียูวางกฎเกณฑ์ในการลงโทษการกระทำที่ละเมิดข้อบังคับนี้ (Article 13) นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการยุโรปได้จัดทำข้อเสนอในการต่อต้านการทำลายป่า (deforestation) และตั้งเป้าหมายลดการทำลายป่าเขตร้อนอย่างน้อยร้อยละ 50 ภายในปี 2020 โดยจะผลักดันการพัฒนากลไกซื้อขายคาร์บอนเครดิตจากการรักษาป่า (Global Forest Carbon Mechanism หรือ GFCM) ในเวทีระหว่างประเทศดังนี้ 1) ประเทศกำลังพัฒนาสามารถได้เครดิตการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) จาก การรักษาป่า 2) การให้เงินทุน (funding) แก่ประเทศกำลังพัฒนาในช่วงปี 2013-2020 ใน การ ลดการทำลายป่า 3) เสริมสร้างนโยบายที่เกี่ยวกับการรักษาป่าในนโยบายด้านอื่น เช่น การค้า พลังงาน เกษตร ความมั่นคงด้านอาหาร และความร่วมมือด้านการพัฒนา ซึ่งข้อเสนอนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของท่าทีอียูในการเจรจา UNFCCC ในช่วงวันที่ 1-12 ธันวาคม 2551 ด้วย ที่ Poznan, Poland และ COP 15 ที่กรุงโคเปนเฮเกน ในเดือน ธันวาคม 2552 ด้วย อย่างไรก็ดี สภายุโรปได้เรียกร้องให้อียูเข้มงวดเรื่องการตัดไม้เถื่อน และกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่เห็นว่าร่างข้อบังคับฉบับนี้จะไม่สามารถป้องกันการค้าไม้ผิดกฎหมายได้ จึงเสนอให้มีกฎหมายระหว่างประเทศในเรื่องนี้ เพื่อป้องกันการจำหน่ายไม้ที่ผิดกฎหมายในตลาดอียู ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงควรติดตามและปฏิบัติตามข้อบังคับดังกล่าวเพื่อป้องกันปัญหาการส่งออกไม้ของไทยที่ผิดกฎหมาย และเตรียมความพร้อมในการส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้แปรรูปและเฟอร์นิเจอร์ที่ใช้ไม้แปรรูปเป็นวัตถุดิบไปอียูโดยสามารถศึกษารายละเอียด ได้จากเว็ปไซต์ http://ec.europa.eu/environment/forests/pdf/proposal_logging.pdf

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ