องค์การแพธ สรุปผล 5 ปี “เพศศึกษาเพื่อเยาวชน” โครงการก้าวย่างอย่างเข้าใจเด็กท้องได้เรียนต่อจริงหรือ... การสอนเพศศึกษารอบด้านทำได้หรือไม่...

ข่าวทั่วไป Tuesday November 4, 2008 17:00 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 พ.ย.--เจ ดับบลิว ที พับบลิค รีเลชั่นส์ “5ปีของโครงการก้าวย่างอย่างเข้าใจ” ที่องค์การแพธ(PATH) ร่วมกับภาคีเพศศึกษา 16 องค์กร ถ่ายทอดการทบทวน การขยายผลการทำงานด้านเพศศึกษาทั่วประเทศ สานต่อระบบและกระบวนการสอนเพศศึกษารอบด้านอย่างเหมาะสมและสอดคล้อง ผ่านกิจกรรมหลากหลายมุมมองจากเครือข่ายคนทำงานเพศศึกษาไปสู่ครู ผู้บริหารโรงเรียน พ่อแม่ผู้ปกครอง เยาวชน และประชาชนทั่วไป ในงานประชุมวิชาการ “เพศศึกษาเพื่อเยาวชน” ครั้งที่ 4 ภายใต้แนวคิด “ทบทวน ทายท้า ศรัทธา กล้าเลือก” เมื่อ13-15ตุลาคม 2551 ที่ผ่านมา คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวว่า “ขอชื่นชมกับโครงการดีๆ ที่ช่วยพัฒนาเพศศึกษารอบด้านให้กับเยาวชน รวมถึงความสำเร็จในการสร้างกระบวนการเรียนรู้ การป้องกันและแก้ไขปัญหา ช่วยต่ออนาคตของเด็กที่ท้องไม่พร้อม ตลอดจน สพฐ.พร้อมที่จะส่งเสริมการพัฒนา และผลักดันการสอนทักษะชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหลักสูตรการสอนเพศศึกษาที่ต้องมีความชัดเจน นโยบายของโรงเรียนในสังกัดสพฐ.เรื่องเด็กท้องสามารถเรียนต่อได้ มีเวทีผู้ปกครองเปิดใจ อีกทั้งยังให้การรับฟังปัญหาจากผู้บริหารสถานศึกษาในแง่มุมต่างๆ และตระหนักถึงปัญหาว่ายังมีอุปสรรคการเรียนการสอนที่ไม่ได้มาจากเยาวชนเท่านั้น แต่เป็นอุปสรรคจากทัศนคติของครูผู้สอน ผู้บริหารโรงเรียน ครูเพศศึกษาที่ขาดแคลน ผู้บริหารโรงเรียนที่มีการโยกย้ายหรือเปลี่ยนแปลงบ่อย นโยบายของโรงเรียนที่ปิดกั้น และผู้ปกครองที่ต่อต้าน รวมทั้งการขาดการสื่อสารกันเองในท้องถิ่น และปัญหาด้านงบประมาณสนับสนุน” นางสาวภาวนา เหวียนระวี ผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ องค์การแพธ (PATH) กล่าวว่า “นับจากปีแรกของการทำงาน โครงการฯ สามารถเข้าถึงสถานศึกษาได้รวมทั้งสิ้น 759 แห่ง ใน 73 จังหวัดทั่วประเทศ ครอบคลุมสถานศึกษาระดับต่างๆ ทั้งการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ระดับมัธยมศึกษา และประถมศึกษา), ระดับอาชีวศึกษา, ระดับอุดมศึกษา, ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอ (ศบอ.), ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน นอกจากนี้ การประเมินผลเชิงคุณภาพโดยคณะประเมินผลภายนอก ได้พบสาเหตุที่ทำให้ครูส่วนหนึ่งสอน เพศศึกษาน้อยลงจากเดิม คือ “ครูไม่กล้าสอน เพราะกังวลใจว่า ผู้ปกครองไม่เห็นด้วย ทั้งที่ ครูหรือผู้บริหารก็ยังไม่เคยได้รับเสียงสะท้อนจากผู้ปกครอง” นางสาวภาวนา เพิ่มเติมว่า การประเมินผลเชิงปริมาณซึ่งศึกษาเปรียบเทียบระหว่างเยาวชนในสถานศึกษาที่ได้เรียนเพศศึกษาตามหลักสูตรในโครงการก้าวย่างอย่างเข้าใจ กับเยาวชนในสถานศึกษานอกโครงการ ตั้งแต่ปี ๒๕๔๙-๒๕๕๑ ชี้ว่า สถานศึกษาควรให้ความสำคัญกับการสอนเพศศึกษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เยาวชนมีความตระหนักที่ติดลึกในตัวเองและยั่งยืนขึ้น ขณะเดียวกัน โครงการฯ ต้องเสริมความเข้มแข็งในกระบวนการจัดการเรียนรู้เพศศึกษาให้มากขึ้น ทั้งในด้านหลักสูตรและครูผู้สอน ทั้งในเชิงเนื้อหาและทักษะการจัดการเรียนรู้ควบคุ่กันไปด้วย นอกจากนี้ยังพบประเด็นที่น่าสนใจ สะท้อนให้เห็นแง่มุมและความร่วมมือที่รอบด้านอย่างจริงจัง ทั้ง“เพศวิถีถูกบิดเบือน จี้ทบทวนประวัติศาสตร์” นางสาวชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ รองศาสตราจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า “จากการศึกษาประวัติศาสตร์เรื่องเพศ พบว่า คนไทยในปัจจุบันมีความเข้าใจในเรื่องเพศวิถีคลาดเคลื่อนแตกต่างจากในอดีต เช่น แนวคิดเรื่องการปกปิดร่างกายให้มิดชิด การรักษาพรหมจรรย์ก่อนแต่งงาน ส่งผลให้เกิดความเข้มงวด เคร่งครัดกับเด็กและเยาวชนมากเกินไป ซึ่งนิยามของการรักนวลสงวนตัวในปัจจุบันที่จริงแล้ว คือในอดีตคือการเตือนให้ผู้หญิงระมัดระวังในการเลือกสามี เพราะผู้หญิงอาจตกเป็นเครื่องมือในการสร้างอำนาจทางการเมืองของผู้ชาย” ด้านนายสุจิตต์ วงษ์เทศ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ คอลัมนิสต์ชื่อดัง กล่าวเสริมว่า “คนไทยในยุคนี้ต้องกล้ายอมรับความจริง และกล้าที่จะเปิดใจ ว่าเรื่องเพศที่คุยกันอย่างปิดบังในยุคสมัยนี้ แท้จริงแล้วอดีตพูดกันในที่โล่งแจ้ง ความหมายของคำพูด หรือคำสอนเรื่องเพศถูกบิดเบือนกลายเป็นเรื่องสกปรก ลามกเสียหมด คนไทยให้เกียรติวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ แต่ละทิ้งวิชาชีวิตอย่างเพศศึกษา” พร้อมแนะให้เริ่มต้นการหยุดยั้งปัญหาที่ต้นตอจากเพศศึกษาครอบครัวและชุมชนก่อน “ผลวิจัยชี้ การสอนเพศศึกษา ไม่เพิ่มการมีเซ็กส์” ทีมประเมินโครงการก้าวย่างอย่างเข้าใจ เผยว่า การเรียนรู้เรื่องเพศศึกษาไม่ส่งผลให้นักเรียนมีเพศสัมพันธ์เพิ่มมากขึ้น แต่ช่วยเพิ่มความรู้ความเข้าใจและทักษะการจัดการเรื่องเพศของตนได้ เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมเชิงบวก เช่นการป้องกัน HIV หรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ รู้จักการป้องกันที่ปลอดภัยเพิ่มขึ้น และคิดวิเคราะห์ต่อผลกระทบในอนาคตหากมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน ประกอบกับด้านของยูเอ็น ที่เผยข้อมูลวิจัยจากนางจินตนา ศรีวงษา เจ้าหน้าที่กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ(UNFPA) ว่า “วัยรุ่นในทวีปยุโรปมีเพศสัมพันธ์ช้ากว่าเอเชียเพราะการเรียนเพศศึกษาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่อายุ 11 ปี ขณะที่วัยรุ่นเอเชียอยู่ที่ 14-15ปี ในทางกลับกันวัยรุ่นยุโรปที่มีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 17-18 ปี แต่วัยรุ่นเอเชียเฉลี่ยอยู่ที่อายุ 14-15ปี” ด้านประเด็นการผลักดันของนโยบาย 2 ด้านที่ดูจะเข้มข้นไม่แพ้กัน ทั้ง “การเปิดเพศศึกษาเป็นวิชาบังคับเลือก” เพื่อให้นักเรียนได้เรียนมากขึ้น และ “ท้องไม่พร้อมสามารถเรียนต่อได้” นั้น นายประเสริฐ แก้วเพชร รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า “ขณะนี้โรงเรียนในกลุ่มอาชีวศึกษาได้บรรจุวิชาเพศศึกษาจากวิชาเลือกเสรีเป็นวิชาบังคับเลือกให้นักเรียนได้เรียนทุกคน และเตรียมขยายวิทยาลัยในสังกัดจาก 200 กว่าวิทยาลัย ให้ครบ 404 วิทยาลัยทั่วประเทศ โดยการขยายให้ครอบคลุมนั้น คิดว่าเป็นไปได้ไม่ยาก เนื่องจากมีองค์ความรู้และบุคลากรที่พร้อมให้ความร่วมมือ ด้านนโยบาย “ท้องไม่พร้อมเรียนต่อได้” นายประทีป จุฬาเลิศ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ วิทยาลัยการอาชีพบางปะกง กล่าวว่า “ปัญหาการท้องไม่พร้อมของนักเรียนสามารถจัดการเชิงบวกได้ อย่าคิดว่าเป็นเรื่องยุ่งยาก แต่มองว่าทุกอย่างมีทางออก และสามารถจัดการในแนวทางที่แตกต่างกันไปได้ การให้โอกาสเด็กเพื่ออนาคต อย่ามองว่าจะเป็นการยุยงให้เด็กเลียนแบบกัน เพราะความจริงจากปากเด็กคือ เห็นเพื่อนผิดพลาด แล้วรู้สึกเห็นใจ และไม่อยากเป็นแบบนั้น กลับมองเห็นความเปลี่ยนแปลงทางความคิด คือ เด็กนักเรียนมีความตั้งใจ และพยายามเรียนมากขึ้นด้วยซ้ำ” เปิดใจผู้ร่วมงานเพศศึกษาเพื่อเยาวชน ครั้งที่ 4 นางสาวจีระนันท์ คันธี นักศึกษาวิทยาลัยการอาชีพบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี เล่าว่า “จากการเข้าร่วมกิจกรรมการประชุมในครั้งนี้ ทำให้ทราบถึงทัศนคติเรื่องเพศกับคนที่คิดต่าง พบแนวทาง และปัญหาของแต่ละคนที่แตกต่าง บางคนเข้าใจ บางคนยังต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจ เปิดโอกาสให้ได้เรียนรู้กัน ได้ฟังประสบการณ์จากผู้รู้ และผู้ไม่รู้ที่แก้ไขในวิธีที่ถูกบ้างผิดบ้าง ต่างเป็นความพยายามที่จะร่วมกัน ช่วยเหลือกัน ให้ทุกอย่างดำเนินไปด้วยดี ด้านนายมงคล แสงทอง ศึกษานิเทศก์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา จังหวัดนครนายก เขต1 กล่าวเสริมว่า “จากการมีส่วนร่วมงานนี้ ได้เห็นปัญหาเยาวชน ปัญหาเรื่องเพศ การช่วยเหลือและป้องกัน ที่เกิดขึ้นจากความพยายามของผู้ที่เข้าใจ และยังขาดการสนับสนุนจากผู้ที่ยังไม่เข้าใจจำนวนมาก มีความเข้าใจตัวเองมากขึ้น ว่าจุดประสงค์ที่แท้จริงของการช่วยเหลือเด็กคืออะไร การร่วมมือกันแก้ปัญหาอย่างครอบคลุม ต้องมีเพิ่มขึ้นขนาดไหน เพราะไม่ใช่เพียงแต่หน่วยงานใด หน่วยงานหนึ่งเท่านั้น เราต้องร่วมมือกันเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันและขยายออกไปในวงกว้าง หลักสูตรเพศศึกษาไม่ได้ตายตัว ทุกฝ่ายสามารถปรับและผู้ใหญ่ควรเปิดพื้นที่ในการพูดคุยกันมากขึ้น โครงการฯ จึงร่วมกันผลักดันให้เกิดกิจกรรมการสร้างเครือข่ายในอนาคตอย่างเข้มแข็ง เพื่อเพิ่มศักยภาพและสานต่องานให้เกิดผลเชิงรูปธรรมด้านเพศศึกษามากที่สุด ประกอบด้วยกิจกรรมส่งเสริมการสร้างการเรียนรู้เพศศึกษา สร้างระบบการสอนในโรงเรียนนำร่องเพื่อขยายไปสู่โรงเรียนทั่วประเทศ กิจกรรมเยาวชนบอกต่อ สร้างการมีส่วนร่วมในสถานศึกษาระหว่างผู้ปกครอง ในเรื่องการ “การสื่อสารเรื่องเพศกับลูกที่เป็นวัยรุ่น” การสร้างความเข้าใจเรื่องสิทธิผู้เรียน และสิทธิเยาวชน การรณรงค์ระดมพลังประชาคมพ่อแม่ผู้ปกครองร่วมลงชื่อสนับสนุนการสอนเพศศึกษารอบด้านในสถานศึกษา 100,000 รายชื่อ เพื่อนำเสนอต่อกระทรวงศึกษาธิการ สานต่อกระบวนการเรียนเพศศึกษาในสถานศึกษาอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง รวมทั้งเพื่อให้เกิดความคืบหน้าในการพัฒนาหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้เพศศึกษาที่สอดคล้องกับความต้องการและบริบทที่หลากหลายทั้งของเยาวชน และผู้ปกครองในแต่ละชุมชนต่อไป สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ เจ ดับบลิว ที พับบลิค รีเลชั่นส์ ศริญญา แสนมีมา / ภัทรภร ตันตรงภักดิ์ โทร. 0-2204-8218, 081-805-1498, 0-2204-8550, 086-668-1415

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ