เทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็น “พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย”

ข่าวเทคโนโลยี Friday October 6, 2006 17:00 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--6 ต.ค.--เอพีพีอาร์ มีเดีย
จากผลงานนวัตกรรม “โครงการแกล้งดิน” พร้อมมอบรางวัลพระราชทานประติมากรรมพระบรมรูปแก่ผู้ชนะเลิศ “รางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ”
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และมูลนิธิชัยพัฒนา ร่วมกันดำเนินโครงการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็น “พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย” จากผลงานนวัตกรรมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ “โครงการแกล้งดิน” ในเขตจังหวัดนราธิวาส โดยได้จัดแสดงนิทรรศการเทิดพระเกียรติผลงานนวัตกรรม “โครงการแกล้งดิน” ในวันพฤหัสบดีที่ 5 ตุลาคม 2549 ณ ห้องบอลรูม ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
ดร. ศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า “ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2549 ที่เห็นชอบตามที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเสนอ ให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ และมูลนิธิชัยพัฒนา ร่วมกันดำเนินโครงการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็น “พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย” จากโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ “แกล้งดิน” ในเขตจังหวัดนราธิวาส และให้วันที่ 5 ตุลาคม ของทุกปีเป็น “วันนวัตกรรมแห่งชาติ” ดังนั้น สนช. จึงได้จัดนิทรรศการเพื่อเทิดพระเกียรติในผลงานนวัตกรรม “โครงการแกล้งดิน” โดยนำเสนอเรื่องราวความเป็นมาของโครงการดังกล่าว พร้อมทั้งวิธีการแก้ไขปัญหาตามแนวพระราชดำริ อันก่อให้เกิดผลประโยชน์ต่อพสกนิกรอย่างมหาศาล ซึ่งโครงการพระราชดำริครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกในโลก ในการนำเสนอแนวคิดและการลงมือปฏิบัติจริงเพื่อปรับปรุงสภาพพื้นที่ที่มีความเปรี้ยวจนไม่สามารถทำการเพาะปลูกได้ เช่น ดินพรุในเขตภาคใต้ มาพัฒนาหาวิธีที่เหมาะสมในการปรับปรุงพื้นที่จนสามารถนำมาเพาะปลูกพืชได้อีกครั้ง”
นายศุภชัย หล่อโลหการ ผู้อำนวยการ สนช. กล่าวว่า “การจัดแสดงนิทรรศเทิดพระเกียรติในวันนี้ เป็นความร่วมมือของหลายหน่วยงาน เช่น มูลนิธิชัยพัฒนา เครือซิเมนต์ไทย บริษัท และบุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ซึ่งภายในงานยังมีการบรรยายพิเศษที่น่าสนใจหลายเรื่อง เช่น เรื่อง “นวัตกรรมกับเศรษฐกิจพอเพียง” โดย ดร. สุเมธ ตันติเวชกุล เรื่อง “Innovation for Sustainable Development” เรื่อง “นวัตกรรมเพื่อคุณภาพชีวิตของสังคมไทย” และการอภิปรายเรื่อง “โลกาภิวัตน์ นวัตกรรม และความสามารถของธุรกิจไทย” และในช่วงท้ายจะมีพิธีมอบรางวัลพระราชทานประติมากรรมพระบรมรูปแก่ผู้ชนะเลิศรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ประจำปี 2549 ระดับบริษัทและหน่วยงาน ซึ่งประกอบด้วย 2 ด้าน ได้แก่ 1) รางวัลนวัตกรรมแห่งชาติด้านเศรษฐกิจ และ 2) รางวัลนวัตกรรมแห่งชาติด้านสังคม รวมทั้งการมอบรางวัลนวัตกรรมแห่งประเทศไทย ประจำปี 2549 ระดับอุดมศึกษา ซึ่งประกอบด้วย 4 สาขา ได้แก่ 1) วิทยาศาตร์และเทคโนโลยี 2) วิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี 3) สร้างเสริมสุขภาพ 4) สื่อสารวิทยาศาสตร์ และสาขาพิเศษรางวัลแผนธุรกิจ และรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ โดยมี ดร. ศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานมอบรางวัลดังกล่าว
นายศุภชัยฯ ยังได้ชี้ให้เห็นว่า “โครงการแกล้งดิน” นี้ มีความเป็นนวัตกรรมเนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงนำความรู้ที่มีอยู่แล้วในสาขาต่างๆ ทั้งด้านการปรับปรุงดิน ด้านน้ำ ด้านปฏิกิริยาเคมี และด้านชลประทาน มาผสมผสาน และประยุกต์ใช้ เพื่อสร้างให้เกิดสิ่งใหม่ที่เป็นประโยชน์กับชีวิตประชาชน โดยการทำให้ดินที่เปรี้ยวอยู่หายเปรี้ยว แล้วบำบัดให้เป็นดินที่สามารถกลับมาใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่”
“ทั้งนี้ จากแนวพระราชดำริดังกล่าวได้เน้นให้เห็นถึงการประสมประสานระหว่างนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีควบคู่กับนวัตกรรมด้านการบริหารจัดการ จนได้วิธีที่เหมาะสมในการแก้ไขปัญหาสภาพดินเปรี้ยวได้ ซึ่งในแผนการดำเนินงานของ สนช. ในปี พ.ศ. 2549 — 2552 ได้น้อมนำแนวพระราชดำริด้านนวัตกรรมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาเป็นแนวทางและเป้าหมายในการดำเนินงานที่มีความชัดเจน เพื่อกระตุ้นและส่งเสริมให้เกิดการขับเคลื่อนนวัตกรรมในภาคการผลิตของประเทศ รวมทั้งการสร้างความตื่นตัวด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี อันจะทำให้เกิด “วัฒนธรรมนวัตกรรม” ขึ้นในประเทศ” นายศุภชัยฯ กล่าวทิ้งท้าย
เกี่ยวกับโครงการแกล้งดิน
โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่ทรงเรียกว่า “แกล้งดิน” เป็นการศึกษาวิธีการทำให้ดินที่มีสารประกอบกำมะถันให้แปรสภาพเป็นดินเปรี้ยวจัดหรือเป็นกรดจัดแล้วหาทางแก้ไขให้สามารถปลูกพืชได้ เริ่มจากวิธีการ “แกล้งดินให้เปรี้ยว” ด้วยการทำให้ดินแห้งและเปียกสลับกันไป เพื่อเร่งปฏิกิริยาทางเคมีของดินให้เปรี้ยวจัดปีละหลายๆ รอบ เพื่อจำลองสภาพฤดูแล้งและฤดูฝนให้กับดินโดยย่อระยะเวลาลง แล้วทำการตรวจสอบสภาพความเป็นกรดด้วยการปลูกพืชทดสอบ จนพืชที่ทดสอบตายหมด หลังจากนั้นจึงให้หาวิธีการปรับปรุงดินดังกล่าวให้สามารถปลูกพืชเศรษฐกิจได้ เพื่อนำวิธีการที่ประสบผลสำเร็จจัดทำเป็นตำราออกเผยแพร่ให้แก่เกษตรกรที่ประสบปัญหา
โครงการแกล้งดิน ได้มีการนำผลการศึกษามาใช้ปรับปรุงดินเปรี้ยว จนกระทั่งได้ผลดีในหลายๆ พื้นที่ โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ป่าพรุ และอีกหลายๆ จังหวัดทางภาคใต้ โดยมีศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นผู้ดำเนินการ ตั้งแต่การเร่งความเป็นกรดของดินจนไม่สามารถปลูกพืชได้ แล้วศึกษาหาวิธีการแก้ไข ซึ่งวิธีการแก้ไขดินเปรี้ยวจัดตามแนวพระราชดำริ พอสรุปได้ดังนี้
1. แก้ไขโดยวิธีการควบคุมระดับน้ำใต้ดิน
เพื่อป้องกันการเกิดกรดกำมะถัน จึงสมควรพยายามควบคุมน้ำใต้ดินให้อยู่เหนือชั้นดินเลนที่มีสารประกอบไพไรท์อยู่ เพื่อมิให้สารประกอบไพไรท์ทำปฏิกิริยากับออกซิเจนหรือถูกออกซิไดซ์โดยอาศัยระบบการระบายน้ำ และระบบชลประทาน
2. แก้ไขโดยใช้วิธีการปรับปรุงดิน เพื่อใช้ทำนาหรือปลูกพืชล้มลุกในฤดูแล้ง
สามารถเลือกใช้ได้ 3 วิธีการ ตามแต่สภาพของดินและความเหมาะสม คือ
วิธีการที่ 1 : ใช้น้ำชะล้างความเป็นกรด
วิธีการที่ 2 : ใช้ปูนผสมคลุกเคล้ากับหน้าดิน
วิธีการที่ 3 : ใช้ปูนควบคู่ไปกับการใช้น้ำชะล้างและควบคุมระดับน้ำใต้ดิน
3. การปรับสภาพพื้นที่เพื่อใช้ปลูกไม้ผลหรือพืชล้มลุก
เนื่องจากพื้นที่ดินเปรี้ยวมีสภาพราบลุ่ม การปรับสภาพพื้นที่จึงเป็นแนวทางหนึ่งที่จะใช้แก้ปัญหาน้ำท่วมได้ โดยวิธีการยกร่อง ปลูกพืชและทำคันดินล้อมรอบ ซึ่งการยกร่องปลูกพืชต้องไม่ขุดดินชั้นล่างมาทับอยู่บนดินชั้นบนพร้อมกับต้องมีการใช้น้ำชะล้างความเปรี้ยวควบคู่ไปกับการใช้วัสดุปูนแล้วจึงใช้ปลูกพืช
สภาพพื้นที่ทางภาคใต้มีสภาพเป็นดินเปรี้ยวจัดทำการเพาะปลูกไม่ได้ เนื่องจากมีกรดกำมะถันอนเป็นสาเหตุของดินเปรี้ยวอยู่เป็นอันมาก ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในโลกที่ได้มีแนวพระราชดำริและการลงมือปฏิบัติเพื่อปรับปรุงสภาพพื้นที่มีความเปรี้ยวจนไม่สามารถทำการเพาะปลูกได้ ให้กลับมาใช้ประโยชน์ได้อีกครั้ง
การแก้ไขดินเปรี้ยวตามแนวพระราชดำริคือ การใช้กรรมวิธี “แกล้งดิน” คือ การทำดินให้เปรี้ยวด้วยการทำให้ดินแห้งและเปียกสลับกันเพื่อเร่งปฏิกิริยาทางเคมีของดินให้มีความเป็นกรดจัดมากขึ้นจนถึงที่สุด จากนั้นจึงมีการทดลองปรับปรุงดินเปรี้ยวโดยวิธีการต่างๆ กัน เช่น โดยการควบคุมระบบน้ำใต้ดินเพื่อป้องกันการเกิดกรดกำมะถัน การใช้วัสดุปูนผสม ประมาณ 1-4 ตันต่อไร่ การใช้น้ำชำระล้างจนถึงการเลือกใช้พืชที่จะเพาะปลูกในบริเวณนั้น การ “แกล้งดิน” ตามแนวพระราชดำริสามารถทำให้พื้นดินที่เปล่าประโยชน์และไม่สามารถทำอะไรได้กลับฟื้นคืนสภาพที่สามารถทำการเพาะปลูกกลับมาใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่
“แกล้งดิน” โดยวิธีที่ได้พระราชทานไว้นั้น สามารถทำให้บริเวณพื้นดินที่เปล่าประโยชน์และไม่สามารถทำการเพาะปลูกได้อีกครั้งหนึ่งด้วยวิธีการอันเกิดจากพระปรีชาสามารถโดยแท้
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ
อาศยา ศิริเอาทารย์ โทร 0-2644-6000 ต่อ 123 อีเมล์: asaya@nia.or.th
บริษัท เอพีพีอาร์ มีเดีย จำกัด
พัชราวดี สุทธิภูล โทร 0-2655-6633 /0-1817-7094 อีเมล์: patcharavadee@apprmedia.com
บุษกร ศรีสงเคราะห์ โทร 0-2655-6633 /0-1911-0931 อีเมล์: busakorn@apprmedia.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ