กรุงเทพฯ--5 พ.ย.--กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดยกรมทรัพยากรทางทะเลแลชายฝั่ง (ทช.) จัดทำโครงการมาตรการบรรเทาผลกระทบจากวิกฤตโลกร้อน สร้างพื้นที่สาธิตที่บางปู จังหวัดสมุทรปราการ โดยใช้แนวคิดธรรมชาติสู้ธรรมชาติ อาศัยการปัก 3 อย่าง คือ ปักไม้ไผ่ ป่าชายเลน และกังหันลม เพื่อให้ได้ประโยชน์ 4 อย่าง คือ ป้องกันการพังทลายของชายฝั่ง ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม สนับสนุนการใช้พลังงานสะอาด และสร้างความมั่นคงทางสังคมและเศรษฐกิจของชุมชน
นายสำราญ รักชาติ อธิบดี ทช. เปิดเผยว่า คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้สรุปการเปลี่ยนแปลงของตัวชี้วัดทางสภาพอากาศที่สำคัญๆ ซึ่งเป็นข้อบ่งชี้ถึงสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา โดยในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา อุณหภูมิเฉลี่ยโลกเพิ่มขึ้น 0.74 องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยในพื้นที่แถบตะวันออกของอเมริกาเหนือและใต้ ยุโรปเหนือ เอเชียกลาง และเอเชียเหนือ เพิ่มขึ้น และพื้นที่ที่มีความแห้งแล้งเพิ่มขึ้น คลื่นความร้อนเกิดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและเกิดน้ำท่วมใหญ่ในทวีปเอเชียเพิ่มขึ้น 6 เท่า นอกจากนี้ภูเขาน้ำแข็ง ทะเลน้ำแข็งแถบอาร์กติก และแผ่นน้ำแข็งแถบกรีนแลนด์ มีพื้นที่ที่เป็นน้ำแข็งลดน้อยลงมีผลทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้นถึง 1.2-1.7 มิลลิเมตรต่อปี อุณหภูมิเฉลี่ยของไทยสูงขึ้นประมาณ 1 องศาเซลเซียส ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา หลังจากปี พ.ศ. 2503 เป็นต้นมา ระดับน้ำทะเลมีอัตราเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 20 มิลลิเมตรต่อปี และคาดการณ์ว่าปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยต่อปี จะลดลงเหลือ 800 — 900 มิลลิเมตร แต่มีความแตกต่างกันมากในแต่ละพื้นที่
สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้น ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งของประเทศไทย คือ ระบบนิเวศทางทะเลเกิดความเสื่อมโทรม การกัดเซาะชายฝั่งทวีความรุนแรง การเกิดพายุรุนแรงและสภาพอากาศแปรปรวนบ่อยครั้ง และการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศป่าไม้ส่งผลต่อทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพ
อธิบดี ทช. กล่าวต่อไปว่า กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ในฐานะที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการสงวน อนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จึงมีแนวคิดในการวางระบบในการป้องกันพื้นที่ชายฝั่งและบรรเทาผลกระทบจากภัยธรรมชาติที่รุนแรงและการกัดเซาะชายฝั่ง โดยอาศัยหลักการแก้ไขปัญหาที่อยู่บนพื้นฐานของการกลับคืนสู่สมดุลธรรมชาติ ในวิธีการที่สอดคล้องกับสภาพสังคมและวัฒนธรรมความเป็นอยู่ในพื้นที่ การส่งเสริมให้เกิดภูมิคุ้มกันของชุมชนในพื้นที่ต่อปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยใช้แนวคิดธรรมชาติสู้ธรรมชาติ อาศัยการปัก 3 อย่าง คือ ปักไม้ไผ่ ป่าชายเลน และกังหันลม เพื่อให้ได้ประโยชน์ 4 อย่าง คือ ป้องกันการพังทลายของชายฝั่ง ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม สนับสนุนการใช้พลังงานสะอาด และสร้างความมั่นคงทางสังคมและเศรษฐกิจของชุมชน
อธิบดี ทช. กล่าวว่า การปักไม้ไผ่เพื่อเป็นแนวกันคลื่นบริเวณชายฝั่งนั้น เนื่องจากไม้ไผ่มีความอ่อนไหว ปักแล้วลดพลังงานของคลื่นลม แต่ไม่กีดขวางการแลกเปลี่ยนพลังงานและห่วงโซ่อาหารในพื้นที่ แนวคิดนี้ได้มาจากการสังเกตของชาวประมงชายฝั่งในอดีตที่พบว่าคลื่นลมบริเวณหลังแนวโพงพางจะมีสภาพอ่อนตัวลง และเกิดตะกอนสะสมหลังแนวไม้ไผ่ ซึ่งกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ศึกษาในประเด็นดังกล่าวและมีข้อเสนอแนะให้ปักไม้ไผ่ห่างชายฝั่งประมาณ 50 เมตรเพื่อให้ได้เกิดผลสูงสุดสำหรับการสะสมของตะกอน ส่วนการปลูกป่าชายเลนบริเวณแนวถอยร่นและหลังแนวไม้ไผ่ (เมื่อตะกอนสะสมตัวแข็งพอ) ซึ่งเมื่อกล้าไม้ชนิดพันธุ์ที่เหมาะสมได้รับการปลูกหลังแนวไม้ไผ่จะทำให้มีโอกาสในการรอดเพิ่มขึ้น โดยมีแนวไม้ไผ่กั้นคลื่น ขยะและเหมือนพี่เลี้ยงให้กล้าไม้เติบใหญ่ประมาณ 4-5 ปีก่อนที่ ไม้ไผ่จะสลายไป
การบำบัดน้ำเสียโดยพื้นที่ชุ่มน้ำ โดยใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมและกระบวนการทางธรรมชาติได้รับการศึกษาวิจัยจนประสบความสำเร็จและมีตัวอย่างให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม ในโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลแหลมผักเบี้ย อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี โดยการใช้ระบบ บ่อบำบัดน้ำเสีย ระบบพืชและหญ้ากรองน้ำเสีย ระบบพื้นที่ชุ่มน้ำเทียม และระบบแปลงพืชป่าชายเลน อย่างมีประสิทธิภาพในการบำบัดนำเสียจากชุมชน ซึ่งเป็นกระบวนการที่สะอาด มีศักยภาพในการนำมาปรับปรุงให้เข้ากับการบำบัดน้ำเสียในพื้นที่โครงการร่วมกับการใช้พลังงานลมซึ่งเป็นพลังงานสะอาด ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสภาพแวดล้อม ปัจจุบันจึงมีการให้ความสำคัญและนำพลังงานจากลมมาใช้ประโยชน์มากขึ้น เช่นการนำมาผลิตกระแสไฟฟ้า ทดแทนการใช้ถ่านหินเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าซึ่งสร้างมลภาวะและเพิ่มปัญหาโลกร้อน ซึ่งในประเทศไทยนั้นพลังงานลมมีศักยภาพในการเป็นหน่วยผลิตพลังงานทดแทนขนาดเล็กในโครงการที่จะช่วยในการหมุนเวียนน้ำผ่านระบบบำบัดน้ำเสีย รวมทั้งให้พลังงานที่เหลือแก่ที่พักอาศัยและสถานที่ราชการในโครงการได้
“ จากแนวทางดังกล่าวถือเป็นการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติโดยไม่ต้องฟื้นฟู ระบบนิเวศและทรัพยากร ธรรมชาตินั้นมีความหลากหลายและซับซ้อน แนวทางที่ดีที่สุดที่จะฟื้นฟูให้ธรรมชาติที่เสื่อมโทรมมีความอุดมสมบูรณ์กลับมาคือการหยุดยั้งการทำลายเพิ่มเติมจากกิจกรรมของมนุษย์แล้วปล่อยให้ธรรมชาติฟื้นฟูตัวเอง” อธิบดี ทช. กล่าว
โครงการมาตรการบรรเทาผลกระทบจากวิกฤตโลกร้อน ได้กำหนดเป้าหมาย คือจัดทำพื้นที่ตัวอย่าง เพื่อสาธิตการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ฟื้นฟูความสมบูรณ์ของชายฝั่งทะเล การบำบัดน้ำเสียโดยวิธีธรรมชาติ ร่วมกับการใช้พลังงานสะอาดอย่างยั่งยืน และคุ้มครองป้องกันทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ฟื้นฟูระบบนิเวศชายฝั่ง และคืนความสมบูรณ์ของท้องทะเล ส่งเสริมระบบบำบัดน้ำเสียโดยวิธีธรรมชาติ ส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด และพัฒนาเป็นพื้นที่สาธิตและเรียนรู้ในการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน
การจัดทำพื้นที่สาธิตการบรรเทาผลกระทบจากวิกฤตโลกร้อน ณ สถานตากอากาศบางปู กองอำนวยการ สถานพักผ่อน กรมพลาธิการทหาร จังหวัดสมุทรปราการ มีระยะเวลาการดำเนินการ 1 ปี มีส่วนประกอบหลัก ได้แก่ ส่วนการปักแนวป้องกันชายฝั่งโดยใช้ไม้ไผ่ (ระบบธรรมชาติช่วยธรรมชาติ) บ่อบำบัดน้ำเสียโดยใช้วิธีธรรมชาติ กังหันลมเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานทดแทน(พลังงานลม) และ นิทรรศการภายในอาคารเพื่อจัดแสดงนิทรรศการเนื้อหาทางวิชาการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดทำพื้นที่สาธิตให้มีความน่าสนใจ เป็นสถานที่ทดลองปฏิบัติงานจริงและวัดผลการปฏิบัติจริง ตลอดจนเป็นแหล่งเรียนรู้ในการเตรียมความพร้อมและแหล่งปฏิบัติการสำหรับผู้เข้าร่วมกิจกรรมปฏิบัติการ ให้นักเรียน นักศึกษา เยาวชน ประชาชนทั่ว และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้เรียนรู้ วิธีการบรรเทาผลกระทบจากวิกฤตโลกร้อนอย่างยั่งยืน และเพื่อสำหรับเป็นสถานที่ศึกษา วิจัย และดูงาน โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือ นักเรียน นักศึกษา นักวิจัย ครูและบุคลากรทางราชการ เยาวชน และประชาชนทั่วไป ตลอดจนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ผลจากการดำเนินโครงการนี้ จะทำให้ได้รับประโยชน์ทั้งในทางตรง คือ มีพื้นที่ป่าชายเลนเพิ่มขึ้น ป้องกันและลดอัตราการกัดเซาะและสูญเสียพื้นที่ชายฝั่ง ได้พลังงานสะอาด และทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้รับการคุ้มครองอย่างมีประสิทธิภาพ และประโยชน์ทางอ้อม คือระบบนิเวศป่าชายเลนและชายฝั่งทะเลอ่าวไทยมีความสมบูรณ์และสมดุล มลพิษทางน้ำได้รับการบำบัด และลดปัญหาโลกร้อน นอกจากนี้ ยังจะได้รับการสนับสนุนทางวิชาการจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและชุมชนต่อไปด้วย
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
กลุ่มสื่อสารองค์กร www.dmcr.go.th
โทรศัพท์/โทรสาร ๐ — ๒๒๙๘ — ๒๐๒๐