กรุงเทพฯ--6 พ.ย.--สสวท.
นางสาวนารี วงศ์สิโรจน์กุล รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี (สสวท.) เปิดเผยว่า พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 ได้กำหนดไว้ว่า การจัดการศึกษาต้องจัดให้บุคคลมีสิทธิและโอกาสเสมอกัน ในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่า 12 ปีที่รัฐต้องจัดให้อย่างทั่วถึง มีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย การจัดการศึกษาสำหรับบุคคลซึ่งมีความบกพร่องทางร่างกาย จิตใจ สติปัญญา อารมณ์ สังคม การสื่อสาร และการเรียนรู้ หรือมีร่างกายพิการ หรือทุพพลภาพ หรือบุคคลซึ่งไม่สามารถพึ่งตนเองได้ หรือไม่มีผู้ดูแลหรือด้อยโอกาส ต้องจัดให้บุคคลดังกล่าวมีสิทธิ และโอกาสได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นพิเศษ
ขณะนี้มีนักเรียนที่บกพร่องทางการเห็นของประเทศไทยมีจำนวนมาก แต่ไม่มีโอกาสได้เรียนวิชาวิทยาศาสตร์ ทั้งที่สนใจในวิชาวิทยาศาสตร์ เนื่องจากเงื่อนไขทางด้านสิ่งแวดล้อมและวิธีการสอนไม่เอื้อต่อการเรียนรู้ แต่จากประจักษ์พยานที่นักเรียนที่บกพร่องทางการเห็นได้เข้าร่วมกิจกรรมค่ายวิทยาศาสตร์ ที่สมาคมคนที่บกพร่องทางการเห็นแห่งประเทศไทย และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ พบว่านักเรียนที่บกพร่องทางการเห็นมีศักยภาพและมีความสนใจที่จะเรียนในสาขาวิทยาศาสตร์ และข้อมูลจากประเทศต่างๆ ทั้งประเทศทางตะวันตกและประเทศในเอเชีย พบว่านักเรียนที่บกพร่องทางการเห็นสามารถเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ในแขนงต่างๆ ได้
ด้วยเหตุผลดังกล่าว สสวท. จึงได้ดำเนินโครงการพัฒนากิจกรรมวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ สำหรับนักเรียนที่บกพร่องทางการเห็น เพื่อส่งเสริม สนับสนุนนักเรียนที่บกพร่องทางการเห็นที่มีความสนใจในวิชาวิทยาศาสตร์เหล่านี้ ได้เรียนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ตามความสนใจ ตั้งแต่ระดับอนุบาล จนถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยในปีงบประมาณ 2552 นี้ ได้วางแผนการดำเนินงาน 3 ส่วน ซึ่งเป็นการ
พัฒนางานต่อเนื่องจากปีงบประมาณ 2551 ประกอบด้วย การพัฒนาชุดกิจกรรมวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ที่เหมาะสมสำหรับนักเรียนที่บกพร่องทางการเห็นระดับประถมศึกษา (ช่วงชั้นที่ 1 และ 2 ) ที่สอดคล้องกับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน จัดทำคู่มือการผลิตสื่อและการจัดการเรียนรู้สำหรับนักเรียนที่บกพร่องทางการเห็นช่วงชั้นที่ 1 และ 2 รวมทั้งเผยแพร่ชุดกิจกรรมวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ และติดตามผลประเมินผลการใช้เพื่อเป็นข้อมูลในการปรับปรุง
ทั้งนี้ กิจกรรมที่ดำเนินการตลอดทั้งโครงการในปีงบประมาณ 2552 ได้แก่ การจัดค่ายวิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนที่บกพร่องทางการเห็นครั้งที่ 4 ร่วมกับ สวทช. วิเคราะห์และจัดทำคู่มือการผลิตสื่อและกิจกรรมการเรียนรู้จากมาตรฐานหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ สำหรับนักเรียนที่บกพร่องทางการเห็นในช่วงชั้นที่ 1 และ 2 อบรมผลิตสื่อและกิจกรรมการทดลองสำหรับนักเรียนที่บกพร่องทางการเห็นในช่วงชั้นที่ 1 และ 2 ร่วมกับ สพฐ. และติดตามประเมินผลการใช้สื่อและชุดกิจกรรม