บีโอไอคลอดมาตรการกระตุ้นการลงทุนปี 51-52 ให้สิทธิประโยชน์สูงสุด แก่ 6 กลุ่มอุตสาหกรรมที่ให้ความสำคัญเป็นพิเศษ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 6, 2008 08:47 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--6 พ.ย.--บีโอไอ บีโอไอคลอดมาตรการพิเศษ กระตุ้นการลงทุนปี 2551 - 2552 ให้สิทธิประโยชน์สูงสุด แก่ 6 กลุ่มอุตสาหกรรมที่ให้ความสำคัญเป็นพิเศษ เน้นกิจการที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และกิจการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และฟื้นมาตรการช่วยเรื่องสภาพคล่องทางการเงินแก่กิจการที่ประกอบอยู่เดิม นายโอฬาร ไชยประวัติ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบในการเพิ่มมาตรการพิเศษ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในภาวะที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัว และเร่งรัดการลงทุนให้บรรลุเป้าหมายตามนโยบายของรัฐบาลที่ประกาศให้ปี 2551-2552 เป็น “ปีแห่งการลงทุน” (Thailand Investment Year 2008-2009) โดยตามมาตรการพิเศษดังกล่าวจะทำให้ผู้ประกอบการที่ยื่นขอรับส่งเสริมภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2552 และได้รับการอนุมัติให้การส่งเสริม ได้รับสิทธิประโยชน์สูงสุดตามที่กฎหมายสามารถให้ได้ ประกอบด้วย การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 8 ปี ทุกเขตที่ตั้ง และได้รับสิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล ในอัตราร้อยละ 50 เป็นเวลา 5 ปี อนุญาตให้หักค่าขนส่ง ค่าไฟฟ้า และค่าประปา 2 เท่า และอนุญาตให้หักเงินค่าติดตั้งหรือก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกจากกำไรสุทธิไม่เกินร้อยละ 25 ของเงินที่ลงทุน นอกเหนือจากการหักค่าเสื่อมราคาตามปกติ สำหรับกิจการที่เข้าข่ายได้รับการส่งเสริมการลงทุน ภายใต้มาตรการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในภาวะที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัว และเร่งรัดการลงทุนตามนโยบาย “ปีแห่งการลงทุน” 2552 มีทั้งสิ้น 6 กลุ่มกิจการ ได้แก่ 1. กิจการเกี่ยวกับการประหยัดพลังงาน และพลังงานทดแทน เช่น กิจการผลิตแอลกอฮอล์ หรือเชื้อเพลิงจากผลผลิตทางการเกษตร กิจการผลิตเครื่องจักร หรืออุปกรณ์ประหยัดพลังงาน ใช้พลังงานทดแทน สถานีบริการก๊าชธรรมชาติ (NGV) เป็นต้น 2. กิจการที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น กิจการผลิตเส้นใยธรรมชาติหรือเส้นใยประดิษฐ์ กิจการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ กิจการผลิตชิ้นส่วนยานพาหนะ เป็นต้น ทั้งนี้จะมีการเปิดประเภทกิจการใหม่เพิ่ม ได้แก่ กิจการผลิตผลิตภัณฑ์เซรามิกส์ที่ใช้สำหรับงานอุตสาหกรรม (Advanced Ceramics) 3. กิจการผลิตวัสดุและผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และจะเปิดประเภทกิจการใหม่ขึ้นอีก 2 ประเภทได้แก่ กิจการผลิตเคมีภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Eco-friendly Chemicals) และกิจการผลิตผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Eco-friendly Products) เช่น วัสดุบรรจุภัณฑ์หรือบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหาร ที่สามารถย่อยสลายเองได้ 4. กิจการที่เกี่ยวเนื่องกับโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ (Mega Projects) เนื่องจากเป็นกิจการที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐในการส่งเสริมให้เอกชนลงทุน เพื่อลดภาระของรัฐ 5. กิจการด้านการท่องเที่ยวและเชื่อมโยงกับภาคอสังหาริมทรัพย์ เพื่อเตรียมพร้อมรองรับภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง 6. กิจการในอุตสาหกรรมที่ใช้ผลิตผลทางการเกษตรเป็นวัตถุดิบ เพื่อช่วยเหลือด้านราคาพืชผลทางการเกษตรและเพื่อยกระดับเทคโนโลยีการผลิตให้สูงขึ้นเช่น กิจการผลิตสารให้ความหวาน กิจการผลิตเดรกตริน หรือโมดิไฟด์สตาร์ช ฟื้นมาตรการช่วยเหลือสภาพคล่องผู้ประกอบการในช่วงวิกฤติ ด้าน พล.ต.อ. ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้บีโอไอใช้มาตรการการให้สิทธิมาตรา 36 ซึ่งเคยประกาศใช้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจหลังจากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 กลับมาใช้อีกครั้ง เพื่อช่วยเหลือเรื่องสภาพคล่องแก่ผู้ประกอบการและผู้ส่งออก โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอีโดยสามารถนำเข้าวัตถุดิบได้ไม่ต้องเสียภาษี ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมในการใช้หนังสือค้ำประกันของธนาคาร และไม่มีภาระดอกเบี้ยในกรณีต้องชำระอากรวัตถุดิบก่อน มาตรการดังกล่าว จะมีผลบังคับใช้ไปถึงสิ้นปี 2552 โดยครอบคลุมใน 14 กลุ่มอุตสาหกรรม ประกอบด้วย เสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องหนัง รองเท้า เครื่องเรือนหรือเครื่องตกแต่ง ของเด็กเล่น เลนส์ สิ่งทอ เครื่องกีฬา ชิ้นส่วนยานพาหนะ ผลิตภัณฑ์พลาสติกหรือเคลือบด้วยพลาสติก ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วน อัญมณีและเครื่องประดับ และ สิ่งพิมพ์ ทั้งนี้ได้ให้สมาคม หรือสถาบันที่เกี่ยวข้อง เป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลการให้สิทธิประโยชน์ ศูนย์บริการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กระทรวงอุตสาหกรรม 555 ถ.วิภาวดีรังสิต จตุจักร กรุงเทพฯ 10900 โทร 0 2537- 8111 , 0 2537- 8155

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ