กรุงเทพฯ--6 พ.ย.--กระทรวงพลังงาน
ก.พลังงาน ยัน ชงเรื่องแยกราคา LPG 2 ราคา ให้ที่ประชุมกพช. ชี้ขาด ระบุเป็นช่วงเวลาเหมาะสม เพราะราคา LPG ตลาดโลกอยู่ช่วงขาลง มั่นใจลดผลกระทบให้ทุกภาคส่วนได้ พร้อมให้กรมธุรกิจพลังงานศึกษาเรื่องสำรอง LPG ใกล้ชิด
นายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังการประชุมติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาราคาก๊าซหุงต้ม ว่า ในวันนี้ (5 พ.ย.) กระทรวงพลังงาน ได้เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมธุรกิจพลังงาน บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) ร่วมกันพิจารณาหาแนวทางการแก้ไขปัญหาราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) โดยขณะนี้กระทรวงพลังงานได้ติดตามสถานการณ์ราคาก๊าซหุงต้มอย่างใกล้ชิด และได้เตรียมเสนอแนวทางการกำหนดนโยบายการแยกราคาก๊าซ LPG 2 ราคา ได้แก่ การใช้ในภาคขนส่ง/อุตสาหกรรม และการใช้ภาคครัวเรือน เพื่อให้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ในฐานะประธาน กพช. พิจารณาในเร็ว ๆนี้
ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานจะได้นำเสนอแนวทาง กลไกในการปรับราคาก๊าซ LPG ดังกล่าว เพื่อให้ที่ประชุม กพช. พิจารณา ซึ่งเชื่อว่าเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม เนื่องจากสถานการณ์ราคาก๊าซ LPG ในปัจจุบัน โดยเฉพาะราคาในตลาดโลกได้ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง จาก 900 เหรียญสหรัฐต่อตัน เหลือเพียง 500 เหรียญสหรัฐต่อตัน รวมทั้งจากสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ลดลงต่อเนื่อง ได้ส่งผลให้ยอดใช้ก๊าซ LPG ในประเทศลดลงเช่นกัน
นายแพทย์วรรณรัตน์ กล่าวเพิ่มว่า ภายในการหารือในที่ประชุม ฯ กระทรวงพลังงาน ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าติดตามสถานการณ์ค่าการตลาดของสถานีบริการก๊าซ LPG อย่างใกล้ชิด เพื่อให้ราคาจำหน่าย LPG อยู่ในระดับที่เหมาะสม รวมทั้งได้เตรียมมาตรการรองรับในการแก้ไขปัญหาให้กลุ่มผู้ใช้ต่าง ๆ เช่น กลุ่มรถแท็กซี่ ที่ได้มอบหมายให้ ปตท. เตรียมออกโปรโมชั่นพิเศษในการรับเปลี่ยนแก๊ส LPG มาเป็น NGV แทน นอกจากนั้นยังได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาถึง 5 ชุดได้แก่ คณะกรรมการแก้ปัญหาและตรวจสอบ LPG ไปต่างประเทศ, คณะกรรมการดูแลความปลอดภัยและการใช้ผิดประเภท, คณะกรรมการติดตามตรวจสอบการเก็บเงินเข้ากองทุน, คณะกรรมการประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจแก่ประชาชน และคณะกรรมการดูแลแก้ไขในกลุ่มรถแท็กซี่ เพื่อดูแลภารกิจป้องกันการลักลอบถ่ายเท หรือจำหน่ายก๊าซ LPG ไปยังประเทศเพื่อนบ้าน และได้มอบหมายให้กรมธุรกิจพลังงาน เร่งทำการศึกษาแนวทางการสำรองก๊าซหุงต้มในประเทศเพิ่มขึ้น เพื่อเป็นการรักษาเสถียรภาพด้านราคา LPG และป้องกันการขาดแคลนในอนาคตต่อไป
“แม้ขณะนี้ กระทรวงพลังงานจะมีภาระสะสมจากการชดเชยการนำเข้ามากถึง 7,300 ล้านบาท แต่ยอดการชดเชยชะลอตัว จากการนำเข้าก๊าซ LPG ลดลง แต่นโยบายการแยกราคา LPG ดังกล่าว จะทำให้การใช้ในภาคขนส่งและอุตสาหกรรม มียอดการใช้ลดลง และให้สะท้อนต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่แท้จริง ส่วนในภาคครัวเรือนนั้น กระทรวงพลังงานยืนยันว่าจะดูแลไม่ให้มีผลกระทบ” นายแพทย์วรรณรัตน์กล่าว
สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เก๋ 086-789-8060 / จ๋า 089-434-2953