กรุงเทพฯ--6 พ.ย.--ก.ไอซีที
ดร.มั่น พัธโนทัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยว่า แม้ปัจจุบันพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 จะมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2550 เป็นต้นมา แต่แนวโน้มการเผยแพร่เนื้อหาที่ไม่เหมาะสมเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศชาติบนเว็บไซต์ต่างๆ ยังมีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง แม้จะใช้มาตรการบังคับทางกฎหมาย ก็ยังไม่สามารถยุติปัญหาให้ทันต่อสถานการณ์ได้ ดังนั้นกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมีความจำเป็นต้องขอความร่วมมือระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยในสังคม ซึ่งมีประเด็นการขอความร่วมมือนั้น คือ การหาแนวทางป้องกัน และสกัดกั้นเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสม เว็บไซต์ที่มีเนื้อหาเข้าข่ายหมิ่นเบื้องสูง หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และการขอความร่วมมือปิดกั้นเว็บไซต์ตามคำสั่งศาลอาญา รวมทั้งการขอข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ ตามมาตรา 18 แห่ง พ.ร.บ.ฯ โดยกระทรวงฯ ได้จัดประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน อาทิ กระทรวงมหาดไทย สภาความมั่นคงแห่งชาติ รวมทั้งผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตด้วย
“การประชุมในวันนี้เป็นการหารือข้อตกลงร่วมกันในมาตรการดำเนินการเกี่ยวกับการเผยแพร่เว็บไซต์ที่เผยแพร่เนื้อหาเข้าข่ายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยกระทรวงฯ ได้กำหนดมาตรการให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต หรือ ISP ดำเนินการ 5 มาตรการ คือ 1. ให้ ISP ร่วมมือกันปิดกั้นเว็บไซต์ที่เผยแพร่เนื้อหาเข้าข่ายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพทันทีที่พบเห็น 2. ให้ ISP สืบค้นหาตัวผู้กระทำความผิดทุกครั้งก่อนการปิดกั้นเว็บไซต์นั้น 3. หากกระทรวงฯ ตรวจพบว่า ISP รายใดไม่ดำเนินการปิดกั้นเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมตามที่กระทรวงไอซีทีมีหนังสือแจ้งไป ซึ่งหากยังตรวจพบจะแจ้งเตือนเป็นหนังสือไปเป็นครั้งที่ 2 และหากยังมีหนังสือแจ้งไปเป็นครั้งที่ 3 กระทรวงฯ จะดำเนินการโดยแจ้งให้ กทช. เพิกถอนใบอนุญาต
4. กระทรวง ฯ จะดำเนินการพิสูจน์ทราบผู้กระทำความผิด เพื่อเสนอไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติดำเนินคดี และขอความร่วมมือ ISP นำรายชื่อผู้กระทำความผิดขึ้นบัญชีและนำประกาศเผยแพร่ต่อไป และ 5. ISP ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของภาครัฐ ได้แก่ CAT และ TOT ก็ให้ดำเนินการอย่างเคร่งครัดเช่นเดียวกัน” ดร.มั่น กล่าว
นอกจากนี้กระทรวงฯ ยังมีมาตรการเพิ่มเติม คือ จะมีการจัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังฯ ตลอด 24 ชม. และให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ในการร้องเรียนหรือแจ้งเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสม รวมทั้งจะได้ดำเนินการจัดตั้งคณะกรรมการฯ พิจารณาเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม ในลักษณะของ กบว. อินเทอร์เน็ตอีกด้วย
“กระทรวงฯ จะได้มีการออกกฎกระทรวงเพื่อรองรับกับการดำเนินมาตรการดังกล่าว เพื่อช่วยคุ้มครอง ISP ไม่ให้ต้องถูกฟ้องร้องจากเว็บไซต์ที่ถูกสั่งปิดเหล่านั้น โดยคาดว่าจะออกกฎกระทรวงและประกาศในราชกิจจานุเบกษาได้ภายใน 30 วัน” ดร.มั่น กล่าวเพิ่มเติม
ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ ทวิติยา
เบอร์โทรศัพท์ : 02 568 2453