กรุงเทพฯ--7 พ.ย.--กฟผ.
กฟผ. ลงนามสัญญาจ้าง บริษัท Burns and Roe Asia, Ltd. ศึกษาความเหมาะสมโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศไทย โดยใช้เวลา 20 เดือน ก่อนเสนอให้รัฐบาลตัดสินจะเดินหน้าหรือไม่ ขณะที่ กฟผ. เตรียมพร้อมด้านบุคลากร ส่งอบรมและศึกษาทั้งในและต่างประเทศ
เมื่อวันที่ (5 พ.ย.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จัดพิธีลงนามสัญญาจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาความเหมาะสมโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ กับบริษัท Burns and Roe Asia, Ltd. โดยมีนายสมบัติ ศานติจารี ผู้ว่าการ กฟผ. และผู้แทนจากบริษัท ฯ ร่วมลงนาม ซึ่งได้รับเกียรติจากนายณอคุณ สิทธิพงศ์ รองปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นสักขีพยาน ณ ห้องกมลทิพย์ ชั้น 2 โรงแรมสยามซิตี้ ถ.ศรีอยุธยา กรุงเทพฯ
นายสมบัติ กล่าวว่า บริษัทที่ปรึกษา Burns and Roe Asia, Ltd. จากประเทศสหรัฐอเมริกา ได้รับการคัดเลือกจากคณะทำงานเพื่อดำเนินการจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาความเหมาะสมโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ซึ่งแต่งตั้งโดยคณะอนุกรรมการประสานงานด้านวางแผนการดำเนินการโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ให้เป็นผู้ศึกษาความเหมาะสมของโครงการ (Feasibility Study) โดยจะศึกษาด้านความปลอดภัยของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ การจัดการกากกัมมันตรังสี และการคัดเลือกสถานที่ก่อสร้าง รวมทั้ง การเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสม การศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น การศึกษาเชิงเศรษฐศาสตร์และการเงิน และการวางแผนพัฒนาบุคลากร โดยจะใช้เวลาศึกษา 20 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2551 ก่อนจะนำเสนอให้รัฐบาลตัดสินว่าประเทศไทยจะเดินหน้าสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์หรือไม่ ช่วงปลายปี 2553
ขณะเดียวกัน ผู้ว่าการ กฟผ. ได้กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมในส่วนของ กฟผ. ว่าขณะนี้ได้เตรียมพร้อมด้านบุคลากร โดยได้รับความร่วมมือจากภาควิชานิวเคลียร์เทคโนโลยี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการจัดอบรมให้ความรู้พื้นฐานพลังงานนิวเคลียร์ ให้ผู้ปฏิบัติงาน กฟผ. เพื่อเตรียมความพร้อมในการส่งไปเรียนในหลักสูตรก้าวหน้าในประเทศที่พัฒนาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ต่อไป ทั้งนี้ กฟผ. ได้พิจารณาแล้วว่าการเตรียมความพร้อมทุกด้าน เพื่อรองรับการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์นับได้ว่าเป็นสิ่งจำเป็น เนื่องจากปัจจุบันนี้ปริมาณสำรองน้ำมันในโลกมีเหลือใช้ได้อีกประมาณ 40 ปี ส่วนก๊าซธรรมชาติที่ประเทศไทยใช้มากถึง ร้อยละ 70 แหล่งก๊าซในประเทศก็จะหมดไปในระยะเวลาอีกประมาณ 20 ปีข้างหน้า ดังนั้นอนาคตของเชื้อเพลิงที่พึ่งพาได้ นอกเหนือจากการนำเข้าถ่านหินซึ่งจะมีแหล่งสำรองใช้ไปได้อีก 200 ปี พลังงานนิวเคลียร์จึงเป็นพลังงานทางเลือกอีกทางหนึ่งของประเทศไทย โดยต้องมีการศึกษาและติดตามเทคโนโลยีเพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าในอนาคตเช่นกัน
ฝ่ายสื่อสารองค์การ
ผู้ประสานงาน พรรณทิพย์ฯ 08 1303 2458 / ฐิติภัทร์ฯ 08 1850 9072
โทรศัพท์ : 0 2436 4824 , 0 2436 4884
โทรสาร : 0 2436 4897
Pantip Adchasai
E-mail: pantip.a@egat.co.th