กรุงเทพฯ--13 ธ.ค.--สปส.
สำนักงานประกันสังคม แจงการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ ม.ค.-ก.ย. 49พร้อมแนะผู้ประกันตนทั่วประเทศ อย่าเสียดายเงินสมทบ 5 เปอร์เซ็นต์ที่จ่ายทุกเดือน หากไม่เคยใช้สิทธิ ฯ 3 เปอร์เซ็นต์ ได้รับเป็นบำเหน็จ บำนาญ เมื่ออายุ 55 ปี
นายสุรินทร์ จิรวิศิษฎ์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน รักษาราชการแทนเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า “อีก 6 ปีข้างหน้า สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติคาดการณ์ว่า จำนวนผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นเป็น 9.2 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 14 ของประชากร และจะเพิ่มสูงขึ้นเป็น13.7 ล้านคน ในอีก 20 ปีข้างหน้า สำหรับในปี 2549 จำนวนผู้สูงอายุมี 6,846,319 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2548 จำนวน 152,839 คน ในจำนวนนี้มีผู้ประกันตนที่อยู่ในระบบประกันสังคมและได้รับบำเหน็จชราภาพไปแล้ว (ม.ค.-ก.ย. 49) จำนวน 51,200 ราย สปส.จ่ายประโยชน์ทดแทนเป็นเงิน ทั้งสิ้น 882.37 ล้านบาท ”
“เงินสมทบที่ผู้ประกันตนถูกหักจากเงินเดือนแต่ละเดือน 5 % นั้น 3 % คือเบี้ยชราภาพ เช่น ผู้ที่ได้รับเงินเดือน 15,000 บาท จะต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุน ฯ 750 บาท โดยแบ่งเป็นเบี้ยชราภาพ 450 บาท เงินจำนวนนี้ ผู้ประกันตนจะได้รับเมื่ออายุครบ 55 ปี โดยจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ เงินบำเหน็จ (เงินก้อน) เงินบำนาญ(ได้รับเป็นรายเดือนตลอดชีวิต) ดังนั้นหากผู้ประกันตนท่านใดที่ไม่เคยใช้สิทธิประโยชน์ใดเลยจากกองทุนประกันสังคม ก็ขออย่าได้เสียดายเงินสมทบที่จ่ายไปตลอดชีวิตการทำงาน เพราะ 3 % เป็นเบี้ยชราภาพ ที่ท่านจะได้รับคืนมาในรูปของบำเหน็จ บำนาญ ” ซึ่งจะมีเงินสมทบในส่วนของนายจ้างและดอกผลที่ประกันสังคมจ่ายให้ทุกปีด้วย
นายสุรินทร์ กล่าวอีกว่า “ในกรณีที่ผู้ประกันตนส่งเงินสมทบน้อยกว่า 15 ปี (180 เดือน) จะได้รับเงินสงเคราะห์เป็น “บำเหน็จชราภาพ” โดยผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบต่ำกว่า 12 เดือน จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ เฉพาะในส่วนที่ตัวเองส่งเท่านั้น แต่กรณีส่งเงินสมทบมากกว่า 12 เดือน จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพส่วนที่ตัวเองและนายจ้างส่งเข้ามา บวกกับดอกผลที่สำนักงานประกันสังคมได้ผลตอบแทนจากการลงทุนในปีนั้นๆ แล้วประกาศให้ทราบ และหากส่งเงินสมทบครบ 15 ปีขึ้นไป จึงจะได้รับเป็นเงิน “บำนาญ”
ในส่วนของเงินบำนาญนั้นปัจจุบันยังไม่มีใครได้รับเพราะอายุของกองทุนประกันสังคมกรณีชราภาพยังไม่ถึง 15 ปี และเกษียณอายุงาน แต่มีหลักเกณฑ์ในการรับเงินคือ ผู้ประกันตนจะได้รับเงิน 15 % ของค่าจ้าง 60 เดือนสุดท้าย และถ้าส่งเงินสมทบมากกว่า 15 ปี จะได้รับเพิ่มอีกร้อยละ 1 % ในทุกๆ 1 ปี ซึ่งในขณะนี้ กำลังอยู่ในระหว่างดำเนินการปรับเพิ่มเงินบำนาญ จากอัตรา 15 %เป็น 20%ของค่าจ้าง และเพิ่มอัตราผลประโยชน์จาก1 % เป็น 1.5%ตามมติของคณะกรรมการประกันสังคมเมื่อวันที่ 5 ก.ค. 2548 ทั้งนี้ผู้ประกันตนสามารถตรวจสอบจำนวนเงินสะสมกรณีชราภาพของตนเองได้ทางเว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม www.sso.go.thซึ่งผู้ประกันตนต้องลงทะเบียนขอรหัสผ่านจาก สปส.ก่อน หรือจากตู้บริการข้อมูลอัตโนมัติ (Kiosk) ซึ่งตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้าและสถานที่ชุมชน กว่า 10 แห่ง รวมทั้งสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 1 สำนักงานประกันสังคม ทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ
ศูนย์สารนิเทศ www.sso.go.th สายด่วน 1506