โอกาสสิ่งทอไทยในตลาดสหรัฐอเมริกา

ข่าวทั่วไป Friday November 7, 2008 16:20 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--7 พ.ย.--คต. นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า จากการที่สหรัฐฯได้ใช้มาตรการปกป้อง โดยการจำกัดโควต้าการนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มจากจีน ซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม 2551 และสหรัฐฯ ได้ดำเนินโครงการเฝ้าจับตามอง (Textile Monitoring Program : TMP) การนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มจากเวียดนาม ซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 19 มกราคม 2552 นั้น ทำให้อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของสหรัฐฯ และจาก 15 ประเทศในแถบลาตินอเมริกา แอฟริกา และเอเซียได้ยื่นหนังสือถึงฝ่ายบริหารและฝ่ายการเมืองของสหรัฐฯ เพื่อผลักดันให้ขยายระยะเวลาโครงการเฝ้าจับตามองการนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มจากเวียดนาม รวมทั้งขยายผลถึงการนำเข้าจากจีนด้วย ภายใต้โครงการ TMP กับเวียดนามนั้น กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ (DOC) มีอำนาจในการตรวจสอบ ติดตามการนำเข้าสิ่งทอจากเวียดนาม หากพบหลักฐาน หรือมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการทุ่มตลาด DOC สามารถเปิดการไต่สวนการตอบโต้การทุ่มตลาด AD ได้ สินค้าที่สหรัฐฯ เฝ้าจับตามองเวียดนาม ได้แก่ กางเกง เสื้อเชื๊ต ชุดว่ายน้ำ และเสื้อสเว็ตเตอร์ เป็นต้น ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2551 (ม.ค. - มิ.ย.) สหรัฐฯ นำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มจากจีนลดลงกว่าร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เนื่องจากราคาน้ำมันและ ค่าแรงงานที่สูงขึ้น ทำให้ต้นทุนต่อหน่วยเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 67 โดยเฉพาะสินค้าในหมวดเสื้อเชิ้ต กางเกง ชุดว่ายน้ำ และเสื้อสเว็ตเตอร์ นั่นแสดงให้เห็นว่าผู้นำเข้าสหรัฐฯ ยังคงหาแหล่งผลิตอื่นที่มีต้นทุนต่ำจากทั่วทุกภูมิภาค โดยเฉพาะจากประเทศในกลุ่มลาตินอเมริกา นางอภิรดีฯ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับประเทศไทย ในปี 2551(มค.-ก.ย) ไทยส่งออก สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มมูลค่า 5,483.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยส่งออกไปยังสหรัฐฯ มูลค่า 1,452.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 26.5 ของการส่งออกรวม ดังนั้น หากสหรัฐฯ ขยายระยะเวลาโครงการเฝ้าจับตามองการนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มจากเวียดนาม รวมทั้งจีนด้วย นับว่าจะเป็นโอกาสดีของผู้ประกอบการไทยที่จะช่วงชิงและขยายตลาดสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไปยังสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะเสื้อแจ๊กเก็ต เสื้อโอเวอร์โค้ต ชุดนอน เสื้อผ้าเล่นสกี กางเกง เสื้อเชิ้ต ชุดว่ายน้ำ และเสื้อกระโปรงชุดติดกัน เป็นต้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ