กรุงเทพฯ--10 พ.ย.--ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี
“ซายพาร์ค” หนุนนวัตกรรมกลุ่มอุตสาหกรรมกระดาษ เริ่มตั้งแต่การผลิต “เยื่อกระดาษทดแทน” จากกล่องนมที่ใช้แล้วนำมาผลิตกระดาษใหม่ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ “เอนไซม์ผลิตกระดาษ” ช่วยกำจัดหมึกพิมพ์จากกระดาษรีไซเคิล ก่อนนำมาผลิตใหม่ และ “ระบบทำความสะอาดลูกกลิ้งจ่ายหมึกพิมพ์” ช่วยทำความสะอาดเครื่องจักรราคาแพง ลดสีผิดเพี้ยนในงานพิมพ์ ชี้นวัตกรรมทั้งหมดช่วยลดต้นทุน ลดของเสีย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จนคว้ารางวัลนวัตกรรมระดับสากล ย้ำ“ซายพาร์ค”เปิดกว้างหนุนทุกกลุ่มอุตสาหกรรม นำนวัตกรรมไทยก้าวไกลในตลาดโลก
ดร.เจนกฤษณ์ คณาธารณา ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย (Thailand Science Park) กล่าวว่า อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทยเป็นอุทยานวิทยาศาสตร์(นิคมวิจัย)แห่งแรกของประเทศ ภายใต้การบริหารงานของ ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี(TMC) สวทช. ทำหน้าที่ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนกิจกรรมวิจัยพัฒนาของภาคเอกชน และส่งเสริมให้เกิดธุรกิจเทคโนโลยีใหม่ในประเทศ
โดยล่าสุดหน่วยบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย (Thailand Science Park Incubator, TSP-I) ได้จัดให้ผู้ประกอบการจากหน่วยบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยีจำนวน 2 รายได้แก่ บจก.เฟล็กซ์โซ่รีเสริ์ช กรุ๊ป และบจก.เพรสรูมซัพพลาย เข้าร่วมแสดงผลงานในงานนิทรรศการ “2008 Taipei International Invention Show & Technomart” (INST 2008) ณ กรุงไทเป ไต้หวัน ซึ่งงานดังกล่าวถือเป็นงานระดับนานาชาติที่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการจำนวนกว่า 20 ประเทศทั่วโลกได้เข้าร่วมแสดงผลงานผลิตภัณฑ์ด้านนวัตกรรม
“การนำบริษัทเข้าร่วมงานนิทรรศการครั้งนี้เกิดจากหอการค้าไต้หวันเชิญชวนกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทยเข้าร่วมงาน กระทรวงฯ จึงได้มอบหมายให้ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยีเข้าร่วม โดยมีหน่วยบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทยเป็นผู้แทนเข้าร่วมออกบูท พร้อมเชิญผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิกสองบริษัทที่มีความพร้อมที่จะออกสู่ตลาดต่างประเทศเข้าร่วมด้วย ทั้ง 2 บริษัท มีผลิตภัณฑ์จาก R&D ที่สามารถช่วยแก้ปัญหาในการผลิต ช่วยลดต้นทุน และเพิ่มผลผลิตในอุตสาหกรรม ด้วยศักยภาพดังกล่าว จึงทำให้ทั้งสองบริษัทคว้ารางวัลนวัตกรรมระดับสากลจากงานนิทรรศการดังกล่าว”
นายไพจิตร แสงไชย กรรมการผู้จัดการ บจก.เฟล็กโซ่รีเสิร์ช กรุ๊ป หนึ่งในบริษัทที่เข้าร่วมนิทรรศการครั้งนี้ กล่าวด้วยว่า จากประสบการณ์ที่ได้รับในการทำงานในกลุ่มกระดาษและบรรจุภัณฑ์ของเครือซิเมนต์ไทย จนได้ผันตัวเองมาเป็นผู้ประกอบการและได้เข้ารับการบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี ทำให้มีความสนใจงานนวัตกรรมใน อุตสาหกรรมกระดาษ และทำการวิจัย พัฒนา “เยื่อกระดาษทดแทน” (Substituted Pulp) โดยมีเทคโนโลยีสองรูปแบบได้แก่ การใช้เทคโนโลยี Recovery Post Consumer Packaging ซึ่งเป็นการนำบรรจุภัณฑ์กระดาษที่มีคุณสมบัติเส้นใยกระดาษที่ยาวและแข็งแรง ที่ผ่านการใช้งานแล้ว เช่น กล่องนม UHT, ถุงปูน, ถุงอาหารสัตว์ มาทำเป็นวัตถุดิบเยื่อกระดาษในการผลิตกระดาษใหม่
ซึ่งบรรจุภัณฑ์เหล่านี้จะมีพลาสติกหรืออะลูมิเนียม รวมถึงสิ่งแปลกปลอมต่างๆ เช่น ฝุ่นปูน ฝุ่นจากสารอินทรีย์ต่าง ๆ ผสมอยู่ ดังนั้นหากโรงงานผลิตกระดาษต่างๆนำบรรจุภัณฑ์เหล่านี้กลับมาใช้เป็นเยื่อกระดาษใหม่ จึงค่อนข้างยุ่งยากและเสียเวลา
สำหรับเทคโนโลยีอีกรูปแบบหนึ่ง ได้แก่ การนำแร่วอลลาสโตไนท์ (wollastonite) มาใช้เป็นเยื่อกระดาษทดแทน โดยแร่ชนิดนี้จะมีคุณสมบัติเกาะยึดติดกับเส้นใยกระดาษและมีความขาวสว่าง อีกทั้งมีความทึบแสงสูงเหมาะที่จะนำเยื่อกระดาษทดแทนนี้มาผลิตเป็นกระดาษพิมพ์เขียน กระดาษ Duplex ที่ใช้ทำกล่องสินค้าอุปโภค บริโภคต่างๆ เช่น กล่องขนม กล่องสบู่ ยาสีฟัน เป็นต้น ซึ่งเทคโนโลยีทั้งสองรูปแบบนี้สามารถนำมาผสมกันหรือเลือกใช้รูปแบบใดรูปแบบหนึ่งขึ้นอยู่กับชนิดของกระดาษและกระบวนการผลิต
จากที่กล่าวมาแล้วข้างต้น จึงเกิดผลงานผลิตภัณฑ์เยื่อกระดาษทดแทนที่สามารถลดการใช้เยื่อกระดาษจากต้นไม้ได้ประมาณ 5-30% และเยื่อกระดาษทดแทนเหล่านี้ยังช่วยลดต้นทุนในการผลิตกระดาษได้ประมาณ 750-4,500 บาทต่อตัน (ขึ้นอยู่กับชนิดของกระดาษและกระบวนในการผลิต) ด้วยการใช้เทคโนโลยีที่บริษัทฯพัฒนาขึ้นสามารถนำเยื่อกระดาษทดแทนเหล่านี้ไปใช้ผลิตกระดาษได้หลากหลายชนิด เช่น กระดาษคราฟท์อุตสาหกรรม กระดาษพิมพ์เขียน กระดาษ Duplex ฯลฯ และในการนำ “เยื่อกระดาษทดแทน” (Substituted Pulp) นี้เข้าร่วมประกวดในงาน นิทรรศการ “2008 Taipei International Invention Show & Technomart” (INST 2008) ณ กรุงไทเป ไต้หวัน (INST 2008) ทำให้สามารถคว้ารางวัลเหรียญเงิน จากเกณฑ์ของการเป็นนวัตกรรมที่สามารถลดต้นทุนการผลิตและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
กรรมการผู้จัดการ บจก.เฟล็กโซ่รีเสิร์ช กรุ๊ป กล่าวอีกว่า การเข้าร่วมนิทรรศการครั้งนี้บริษัทฯ ยังได้นำผลิตภัณฑ์ “เอนไซม์ ใช้ในการผลิตกระดาษ” (Pulp and paper making enzyme) มาใช้กำจัดหมึกพิมพ์ กาว สิ่งเจือปน ออกจากเยื่อกระดาษรีไซเคิลต่างๆ ก่อนนำเยื่อกระดาษเหล่านี้มาผลิตใหม่ ทำให้กระบวนการผลิตกระดาษทำได้ง่าย ทดแทนการใช้เครื่องมือกลในการบดเยื่อกระดาษที่ทำให้สิ้นเปลืองพลังงานไฟฟ้า อีกทั้งมีจุดเด่นที่แตกต่างจากผลิตภัณฑ์เอนไซม์ของบริษัทอื่น คือ บริษัทฯได้พัฒนาเอนไซม์ขึ้นถึง 4 ชนิด ซึ่งแต่ละชนิดเหมาะสมกับการใช้ในกระดาษรีไซเคิลที่แตกต่างกัน ทำให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการในการใช้งานได้อย่างตรงจุดจนคว้ารางวัลเหรียญทองแดงนวัตกรรมที่สามารถลดต้นทุนการผลิตและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งปัจจุบันผลิตภัณฑ์นี้ก็ได้มีการจำหน่ายให้แก่โรงงานกระดาษหลายรายในประเทศไทยแล้ว
ด้าน นายคมสัน รวิวรรณ กรรมการผู้จัดการ บจก. เพรสรูมซัพพลาย อีกหนึ่งในบริษัทที่เข้าร่วมงานนิทรรศการ INST 2008 กล่าวว่า บริษัทฯเข้าร่วมในหน่วยบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยีและได้รับการสนับสนุนให้เข้าร่วมงานนิทรรศการนี้โดยนำ ระบบทำความสะอาดลูกกลิ้งจ่ายหมึกพิมพ์ (Anilox Cleaner) ไปคว้ารางวัลเหรียญทองแดงนวัตกรรมที่สามารถลดของเสียในการผลิตและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
โดยที่ลูกกลิ้งจ่ายหมึกพิมพ์ (Anilox Roll) นั้นนับว่าเป็นหัวใจของกระบวนการผลิตงานพิมพ์ระบบเฟล็กโซ่กราฟฟิก แต่เมื่อมีการใช้งานลูกกลิ้งจ่ายหมึกพิมพ์ไประยะหนึ่ง หมึกพิมพ์จะอุดตันเซลล์ของ Anilox Roll ทำให้การพิมพ์เกิดสีผิดเพี้ยนและเกิดของเสียในกระบวนการผลิต ขณะที่การนำเข้าลูกกลิ้งใหม่นั้นมีราคาสูงมาก ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีระบบทำความสะอาดลูกกลิ้งจ่ายหมึกพิมพ์ เพื่อทำให้ลูกกลิ้งดังกล่าวกลับมาใช้งานได้อย่างปกติ โดยระบบทำความสะอาดลูกกลิ้งจ่ายหมึกพิมพ์ของบริษัทฯจะช่วยยืดอายุการใช้งานให้ยาวนานขึ้น และยังถือเป็นรายเดียวในประเทศไทยที่ให้บริการทำความสะอาดลูกกลิ้งหมึกพิมพ์แบบครบวงจรอีกด้วย
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการทั้งสองราย ยังมองความสำเร็จในครั้งนี้ว่า เกิดจากการเข้าร่วมกับหน่วยบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยีที่สนับสนุนผู้ประกอบการให้ดำเนินธุรกิจด้านเทคโนโลยีอย่างเป็นระบบ ทำให้สามารถผลิตผลิตภัณฑ์จากการวิจัย พัฒนา ที่มีความน่าเชื่อถือ โดยเฉพาะการผลักดันให้เข้าร่วมแสดงผลงานนิทรรศการในระดับสากล ดังที่ผ่านมาบริษัททั้งสองรายยังได้เข้าร่วมแสดงผลงานในงาน Asian Paper Show ที่จัดขึ้นประเทศไทย เมื่อเดือนเมษายน 2008 ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าอุตสาหกรรมกระดาษระดับนานาชาติที่ทำให้ทั้งสองบริษัทเป็นที่รู้จักแพร่หลาย จนสามารถก้าวกระโดดไปถึงเป้าหมายอย่างรวดเร็วเกินความคาดหมาย
ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ภายในอุทยานวิทยาศาสตร์ฯมีบริษัทที่เข้ามาเช่าพื้นที่เพื่อทำงานวิจัยและพัฒนาหลายกลุ่มอุตสาหกรรม ซึ่งมีทั้งบริษัทของไทยและต่างประเทศ และทั้งขนาดเล็ก ขนาดกลาง ขนาดใหญ่ ไปจนถึงขนาดใหญ่มากที่ติดอับดับฟอร์จูน 500 ด้วย
สำหรับผู้ประกอบการใหม่ด้านเทคโนโลยีนั้น หน่วยบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย มีบริการที่ครบวงจร ตั้งแต่การพัฒนาทักษะธุรกิจ การเขียนแผนธุรกิจ การให้คำปรึกษาทั้งด้านธุรกิจและเทคโนโลยี และการเชื่อมโยงกับสถาบันวิจัยของรัฐและมหาวิทยาลัย ตลอดจนการสนับสนุนให้เข้าถึงตลาด ทั้งนี้ เพื่อติดอาวุธให้ผู้ประกอบการเทคโนโลยีไทยให้เติบโตและก้าวไกลในเวทีโลกต่อไป
งานประชาสัมพันธ์ ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี โทร. 0 2564-7000 ต่อ 1476-8 www.tmc.nstda.or.th
สอบถามข้อมูลข่าวและภาพเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ : คุณธณาพร (เอ็ม), คุณสุธิดา (ไก๋)
โทร. 0 2270 1350-4 ต่อ 104-105 มือถือ 08 6612 0912, 08 5930 7166 อีเมล: prtmc@yahoo.com