กรุงเทพฯ--10 พ.ย.--สศร.
นายสมศักดิ์ เชาวน์ธาดาพงศ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) กระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า โครงการศิลปกรรมพระประวัติและพระกรณียกิจในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เป็นโครงการที่ สศร. ร่วมมือกับศิลปินร่วมสมัย สาขาทัศนศิลป์ จิตรกรรม 84 คน จากทั่วทุกภาคของประเทศ น้อมรำลึกถึงพระกรุณาธิคุณของสมเด็จ พระเจ้าพี่นางเธอฯ ผ่านผลงานจิตรกรรม ซึ่งผลงานในโครงการทั้งหมดจะได้นำมาจัดแสดงนิทรรศการ ณ บริเวณมณฑลพระราชพิธี ท้องสนามหลวง พร้อมทั้งจัดพิมพ์เผยแพร่เป็นหนังสือ “ศิลปกรรมพระประวัติและพระกรณียกิจในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์”
นายสมศักดิ์ เชาวน์ธาดาพงศ์ กล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับการดำเนินงานว่า สศร. ได้แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิทางศิลปะเป็นคณะกรรมการคัดเลือกศิลปินในโครงการฯ ประกอบด้วย ผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (ศ. ดร.อภินันท์ โปษยานนท์) รองผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (นายสมศักดิ์ เชาวน์ธาดาพงศ์) รองอธิบดีกรมศิลปากร (นายปรารพ เหล่าวานิช) นายนนทิวรรธน์ จันทนะผะลิน ศาสตราจารย์ปรีชา เถาทอง นายเฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ นายสมศักดิ์ รักษ์สุวรรณ นายธีระวัฒน์ คะนะมะ ผู้อำนวยการสำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร (นายไพบูลย์ ผลมาก) และผู้อำนวยการสถาบันศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย สศร. (นายสามารถ จันทร์สูรย์) ร่วมด้วยนางสายไหม จบกลศึก ที่ปรึกษาเลขาธิการพระราชวัง และนายจิระ ศิริสัมพันธ์ ข้าราชบริพารในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ร่วมกันคัดเลือกศิลปิน จำนวน 84 คน จาก 4 ภาค ของประเทศไทย เข้าร่วมโครงการฯ
รองผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย เปิดเผยเกี่ยวกับการดำเนินงานและการสร้างสรรค์ผลงานของศิลปินว่าเป็นการสร้างสรรค์ภาพโดยใช้เทคนิคสีน้ำมัน และสีอะคริลิก บนผ้าใบ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ
ส่วนแรก จำนวน 80 ภาพ ขนาดภาพ 80?100 เซนติเมตร เป็นการสร้างสรรค์ภาพใน 11 หมวด ได้แก่ 1. พระโสทรเชษฐภคินี 2. พระประวัติ 3. ทรงเป็นครูของแผ่นดิน 4. ยอดขัตติยกัลยาณี 5. สืบสานโครงการสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี 6. เกื้อกูลประชากรด้านสังคมสงเคราะห์ 7. เกื้อกูลประชากรด้านดนตรี การแสดง และศิลปะทุกแขนง 8. ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา และศาสนาอื่นๆ 9. เจ้าฟ้านักประพันธ์ 10. ทรงเมตตาสัตว์น้อยใหญ่ และ 11. พระเกียรติคุณ สดุดี
ส่วนที่ 2 เป็นภาพขนาดพิเศษ 2.4.?1.80 เมตร จำนวน 4 ภาพ จัดแสดงบริเวณทับเกษตร การสร้างสรรค์ภาพแบ่งเป็น 4 ช่วง ประกอบด้วย ภาพทรงพระเยาว์ วาดโดย สมศักดิ์ รักษ์สุวรรณ ภาพทรงกรมฯ วาดโดย ศ.ปรีชา เถาทอง ภาพพระกรณียกิจ วาดโดย พรชัย ใจมา และภาพพระชันษาสูง วาดโดย ธีระวัฒน์ คะนะมะ ซึ่งภาพทั้ง 4 ภาพนี้ ศิลปินได้วาดให้มีความสอดคล้องต่อเนื่องกัน
ส่วนการเผยแพร่โครงการนี้ นายสมศักดิ์ เชาวน์ธาดาพงศ์ กล่าวว่า สศร. ดำเนินการเผยแพร่ใน 4 รูปแบบ ได้แก่ ส่วนที่ 1 หนังสือ “ศิลปกรรมพระประวัติและพระกรณียกิจในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์” ซึ่งเป็นหนังสือ 1 ใน 9 รายการที่คณะกรรมการฝ่ายจัดทำจดหมายเหตุและหนังสือที่ระลึกฯ เห็นชอบให้สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย จัดทำขึ้น เพื่อเผยแพร่พระเกียรติคุณของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ
ส่วนที่ 2 หนังสือสมุดภาพประกอบนิทรรศการ “ศิลปกรรมพระประวัติและพระกรณียกิจในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์” เพื่อเผยแพร่ผลงานและแนะนำศิลปินในโครงการให้ประชาชนได้รู้จัก หนังสือคู่มือเล่มเล็กนี้นำเสนอภาพผลงานทั้ง 84 ภาพ พร้อมชื่อที่อยู่ของศิลปิน ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ประชาชนที่มาเข้าชมนิทรรศการ
ส่วนที่ 3 การจัดทำเว็บไซต์สำหรับโครงการนี้ขึ้นโดยเฉพาะ คือ เว็บไซต์ http://www.royalcremationartexhibition.com เพื่อการเผยแพร่พระประวัติ พระเมรุ ข้อมูลโครงการ ภาพผลงาน ข้อมูลศิลปิน และความก้าวหน้าของโครงการ เพื่อให้เข้าถึงประชาชนได้อย่างกว้างขวางและทั่วถึงมากที่สุด
ส่วนที่ 4 การจัดนิทรรศการศิลปกรรมพระประวัติและพระกรณียกิจในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ จัด ณ บริเวณมณฑลพระราชพิธี ท้องสนามหลวง หลังจากเสร็จสิ้นพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ โดยกำหนดจัดระยะแรกในระหว่างวันที่ 18 -30 พฤศจิกายน 2551 ทั้งนี้ คณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์และประสานงาน การจัดงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพฯ อาจจะมีการขยายระยะเวลาในการจัดเพิ่มขึ้นตามความเหมาะสมต่อไป
ศูนย์เครือข่ายสัมพันธ์และแหล่งทุน สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย
โทร.0-2422-8823-5
เว็บไซต์ สศร. http://www.ocac.go.th
เว็บไซต์โครงการ http://www.royalcremationartexhibition.com
รายชื่อและหมวดในการสร้างสรรค์ผลงานของศิลปิน
1. ศิลปินที่ได้รับมอบหมายให้วาดภาพใหญ่ขนาด 2.40?1.80 เมตร ติดตั้ง ณ ทับเกษตร ได้แก่
ภาพทรงพระเยาว์ โดย สมศักดิ์ รักษ์สุวรรณ ศิลปินจากภาคใต้
ภาพทรงกรมฯ โดย ปรีชา เถาทอง ศิลปินจากภาคกลาง
ภาพพระกรณียกิจ โดย พรชัย ใจมา ศิลปินจากภาคเหนือ
ภาพพระชันษาสูง โดย ธีระวัฒน์ คะนะมะ ศิลปินจากภาคอีสาน
2. การแบ่งกลุ่มศิลปินในการสร้างสรรค์ผลงาน แบ่งเป็น 11 หมวด มีรายละเอียดดังนี้
หมวดที่ 1 พระโสทรเชษฐภคินี (15 คน) ได้แก่
เกรียงไกร เมืองมูล ธรรมนูญ เรืองสวัสดิ์ เนติกร ชินโย ประทีป คชบัว ประสงค์ ลือเมือง
พิชิต ไปแดน พิสิษฐ์ พันธ์เทียน ไพฑูรย์ สิงห์คำ ไพรวัลย์ ดาเกลี้ยง ยุทธกิจ ประสมผล
วิศเวท วัฒนสุข สมภพ บุตรราช สัมฤทธิ์ เพชรคง สุภร พรินทรากุล และ สุวัฒน์ วรรณมณี
หมวดที่ 2 พระประวัติ (10 คน) ได้แก่
กำจร สุนพงษ์ศรี จำนันต์ สารารักษ์ จินตนา เปี่ยมศิริ ชัยรัตน์ แสงทอง ธีระวัฒน์ งามเชื้อชิต
เปี่ยมสุข เหรียญรุ่งเรือง วัชระ กล้าค้าขาย วิรัญญา ดวงรัตน์ ศักย ขุนพลพิทักษ์ และ อุดมลักษณ์ ทรงสุวรรณ
หมวดที่ 3 ทรงเป็นครูของแผ่นดิน และด้านวิชาการ (10 คน) ได้แก่
กมล ทัศนาญชลี ทวี เกศางาม พรชีวินทร์ มลิพันธุ์ ไพบูลย์ ธรรมเรืองฤทธิ์ มูฮัมมัด โรจนอุดม-ศาสตร์ สมพงษ์ สารทรัพย์ สุรเดช แก้วท่าไม้ เสกสรร สิงห์อ่อน อิทธิพล ตั้งโฉลก และ อุตสาห์ ไวยศรีแสง
หมวดที่ 4 ยอดขัตติยกัลยาณี (5 คน) ได้แก่
กรุณา ภาณุเมศ เทอดศักดิ์ พลซา บุญชนะ ไชยจิตต์ สมบูรณ์ สูงขาว และ อลงกรณ์ หล่อวัฒนา
หมวดที่ 5 อุปถัมภ์โครงการสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และด้านการแพทย์ (7 คน) ได้แก่
โชคชัย ตักโพธิ์ ทินกร กาษรสุวรรณ ธารา วงศ์รัตน์ พิชิต ตั้งเจริญ รัตนชัย ไชยรัตน์ สาธิต เทศนา และ อานันท์ ราชวังอินทร์
หมวดที่ 6 เกื้อกูลประชากรด้านสังคมสงเคราะห์ (5 คน)ได้แก่
จำเนียร ทองมา ชัยวิชิต สิทธิวงศ์ ปริทรรศ หุตางกูร สัมพันธ์ สารารักษ์ และสุรพล แสนคำ
หมวดที่ 7 เกื้อกูลประชากรด้านดนตรี การแสดง และศิลปะทุกแขนง (7 คน) ได้แก่
ทวีศักดิ์ ศรีทองดี พีระ ศรีอันยู้ พีระพงษ์ คีรีวงษ์ มณเฑียร ชูเสือหึง วศิน กำเนิดรัตน์
วุฒิกร คงคา และ อรัญ หงส์โต
หมวดที่ 8 ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา และศาสนาอื่นๆ (8 คน) ได้แก่
ทรงเดช ทิพย์ทอง ประดิษฐ์ ตั้งประสาทวงศ์ ประศาสน์ จันทร์สุภา วีระศักดิ์ สัสดี
ศักชัย อุทธิโท สมยศ ไตรเสนีย์ สาคร โสภา และสุรสิทธิ์ เสาว์คง
หมวดที่ 9 เจ้าฟ้านักประพันธ์ (4 คน) ได้แก่
โชติ แก้วละเอียด เด่น หวานจริง ธีรยุทธ จีนประชา และพิชัย นิรันต์
หมวดที่ 10 ทรงเมตตาสัตว์น้อยใหญ่ (5 คน) ได้แก่
คมกริช สวัสดิรมย์ ประทีป สว่างสุข รุ่งศักดิ์ ดอกบัว วิชิต ชมทวีวิรุตม์ และ วิษุวัติ พีสะระ
หมวดที่ 11 พระเกียรติคุณ สดุดี (4 คน) ได้แก่
ธนฤษภ์ ทิพย์วารี นาวิน เบียดกลาง ยงยุทธ รุยันต์ และ อภิรักษ์ ปันมูลศิลป์