สสส. ปลูกฝังเยาวชน “กินผักพื้นบ้าน” สร้างสำนึกอนุรักษ์สู่คาบสมุทรสทิงพระ

ข่าวทั่วไป Tuesday November 11, 2008 09:35 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 พ.ย.--สสส. สสส. สนับสนุนชาวสทิงพระ อนุรักษ์ผักและอาชีพพื้นบ้าน ชี้วัฒนธรรมอาหารท้องถิ่นกำลังถูกลืม แนะปลูกฝังเยาวชนบริโภคผักพื้นเมืองเพื่อสืบสานภูมิปัญญา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ โครงการอนุรักษ์-ฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรมอาหารท้องถิ่น คาบสมุทรสทิงพระ ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ร่วมกันสร้างจิตสำนึกให้คนในคาบสมุทรสทิงพระ จังหวัดสงขลา ได้เห็นถึงประโยชน์และความสำคัญของฐานทรัพยากรอาหารที่จะช่วยให้ชาวบ้านมีอาชีพที่มั่นคง พึ่งพาตนเองได้ และยังคงไว้ซึ่งองค์ความรู้ทางภูมิปัญญาของชุมชนมิให้สูญหายไป นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้จัดการแผนงานฐานทรัพยากรอาหาร สสส.กล่าวว่าในปัจจุบันจะเห็นว่าผักพื้นเมืองทั้งหลายได้หายไปจากวิถีชีวิต เนื่องจากการค้ายุคใหม่ทำให้คนรุ่นใหม่นิยมบริโภคอาหารต่างประเทศ “ถ้าเราสามารถพื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ ชุมชนก็จะมีอาหารที่มีคุณภาพ มีคุณค่าทางโภชนาการ และช่วยลดค่าใช้ในเรื่องของอาหารไปได้” นายสามารถ สะกวี หัวหน้าโครงการอนุรักษ์-ฟื้นฟูฯเปิดเผยว่า พื้นที่ชุมชนคาบสมุทรสทิงพระ ประสบปัญหาทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลายจากการทำนากุ้ง และการขยายตัวของโรงงานอุตสาหกรรม คนรุ่นใหม่หันไปทำงานในโรงงาน ส่งผลให้เกิดค่านิยมและการดำเนินชีวิตแบบสังคมเมืองโดยมองข้ามพลังของชุมชนและภูมิปัญญาท้องถิ่น ส่งผลให้ภูมิปัญญาของชุมชนที่สั่งสมมาแต่โบราณเริ่มสูญหาย คนรุ่นหลังทอดทิ้งสังคมชนบทและบ้านเกิดไปสู่สังคมเมือง “โครงการจึงร่วมกับกลุ่มออมทรัพย์บ้านบ่อกุลและบ้านหัวเปลวปลูกให้ฝังเยาวชนรุ่นใหม่ ให้เห็นความสำคัญของสิ่งเหล่านี้ โดยจัดค่ายเยาวชนสำหรับเด็กอายุ 7-18 ปี ให้เด็กๆ ได้มาร่วมกิจกรรมการเรียนรู้เรื่องผักพื้นบ้านและของดีในท้องถิ่นในลักษณะพี่สอนน้อง ซึ่งมีสมาชิกที่เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 100 คน” นายสามารถกล่าว ป้ากนิษฐา วงษ์นิกร วัย 59 ปี ชาวบ้านบ่อกุล กล่าวว่า “หลังจากที่ได้ส่งลูกหลานเข้าค่ายเรียนรู้ พบกว่าเด็กๆ หันมากินผักพื้นบ้านกันมากขึ้น ซึ่งทางบ้านก็จะสนับสนุนด้วยการทำกับข้าวที่เด็กๆ รู้จักและกินง่ายๆ เช่น แกงเลียง ซึ่งการนำผักพื้นบ้านมาทำอาหารถือเป็นการช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในครอบครัวได้มาก เพราะผักต่างๆเช่น ผักพาโหม ยอดมันปู ผักพื้นบ้าน เหล่านี้หาเก็บได้ง่ายในท้องนาโดยไม่ต้องเสียเงินซื้อ” การอนุรักษ์พันธุ์ผักพื้นบ้าน เป็นอีกแนวทางหนึ่งในการส่งเสริมให้คนในชุมชนคาบสมุทรสทิงพระมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ด้วยการลดรายจ่าย สร้างรายได้ ทั้งเป็นช่องทางในการกระชับความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวและชุมชนให้มีความเข้มแข็ง ซึ่งในที่สุดจะกลายเป็นจิตสำนึกและเป็นพลังสำคัญในการอนุรักษ์ทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่น เพื่อให้เป็นฐานทรัพยากรอาหารที่ยั่งยืนสำหรับชุมชนต่อไป. ผู้ส่ง : punnda เบอร์โทรศัพท์ : 0813580687

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ