กรุงเทพฯ--11 พ.ย.--สสส.
สสส. ร่วมกับ กลุ่มสลึง เปิดตัวโครงการ “ดนตรีกวีคีตา เพื่อการเรียนรู้สู่ปัญญา” สร้างเวทีให้นักศึกษาทำงานดนตรีสร้างเสริมสุขภาวะ ดึงศิลปิน-นักดนตรีร่วมส่งเสริมเยาวชนผู้มีใจรักเสียงเพลง เชื่อดนตรีสามารถเป็นเครื่องมือสื่อสารกับคนรุ่นใหม่ กระตุ้นเด็กไทยให้เป็นคนดีมีความสุขได้
นายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช กรรมการบริหารแผนเปิดรับทั่วไปและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้กล่าวในงานเปิดตัวโครงการ “ดนตรีกวีคีตา เพื่อการเรียนรู้สู่ปัญญา” ที่จัดขึ้น ณ บริเวณ ลานสานฝัน TK Park อาคารเซ็นทรัลเวิล์ด เมื่อเร้ซๆ นี้ว่า ทาง สสส. ได้ร่วมมือกับกลุ่มดนตรีสลึงที่ทำงานด้านดนตรีเชิงสร้างสรรค์ในกลุ่มนักศึกษามาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน จัดโครงการประกวดดนตรีเพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะทางปัญญา เปิดเวทีให้นักศึกษาในระดับอุดมศึกษาทั่วประเทศผลิตผลงานเพลงสร้างสรรค์สังคม โดยเชื่อมั่นว่าดนตรีเป็นเครื่องมือที่สื่อสารได้ดีกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ สามารถถผลักดันให้เยาวชนและสังคมเกิดภูมิคุ้มกันทางอารมณ์ได้
“เพลงที่สร้างสุขภาวะทางปัญญานั้น คือเพลงที่ฟังแล้วเพราะ ในขณะเดียวกันก็มีเนื้อหาที่น้อมนำ เพื่อสร้างให้เกิดความสุขในจิตใจและสร้างสติปัญญา เพลงเหล่านี้จะสามารถสร้างแรงบันดาลใจ และให้สาระประโยชน์แก่สังคม นั่นก็คือเจตนาของสสส.” นายแพทย์บัญชา กล่าว
ด้านนายแพทย์วิรุฬ ลิ้มสวาท ผู้ก่อตั้งกลุ่มสลึง ในฐานะที่ปรึกษาโครงการดนตรีกวีคีตา เพื่อการเรียนรู้สู่ กล่าวว่า จากประสบการณ์ร่วม 10 ปีนับตั้งแต่ช่วงที่ยังเป็นนักศึกษาก็ได้เห็นมาโดยตลอดว่าดนตรีสามารถเป็นเครื่องมือสื่อสารเพื่อการสร้างสรรค์สังคมที่ดีได้ โดยโครงการทางนี้กลุ่มสลึง และ สสส. ต้องการสนับสนุนให้วัยรุ่นใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ มีสุขภาวะทางปัญญา มีความสุขในการสร้างสิ่งดีสู่สังคม โดยสามารถถ่ายทอดเรื่องราวในชีวิตผ่านทางดนตรีได้
“ผมเชื่อว่าวัยรุ่นมีศักยภาพมีพลังสร้างสรรค์ และดนตรีก็เป็นเครื่องมือสื่อสารที่สามารถทำให้เราเข้าถึงสถาวะทางอารมณ์ อยากให้วัยรุ่นเห็นว่านี่เป็นโอกาสสำหรับตัวเองและเพื่อนๆ ได้ลองทำอะไรที่ดูแตกต่าง อาจไม่ใช่แนวเพลงที่เป็นที่นิยมกัน แต่มันเป็นโอกาสที่บอกทุกคนว่าเราสามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ที่ดีงามได้เสมอ เราทำได้ และต้องทำด้วย เพราะไม่มีใครจะสื่อสารกับคนรุ่นใหม่ได้ดีเท่ากับเยาวชนด้วยกันเอง” นายแพทย์วิรุฬ กล่าว
มาโนช พุฒตาล ศิลปินนักดนตรี และนักจัดรายการวิทยุชื่อดังซึ่งร่วมเป็นหนึ่งในคณะกรรมการคัดเลือกผลงานดนตรีของนักศึกษาระดับอุดมศึกษาที่ส่งเข้าประกวดในโครงการดนตรีกวีคีตา ได้กล่าวว่า ดนตรีเป็นเครื่องมือพิเศษที่ทำให้เราเข้าใจอารมณ์และเข้าถึงความจริง และมีความเชื่อมั่นว่าหากใช้ดนตรีในทางที่สร้างสรรค์ก็จะสามารถเป็นเครื่องมือช่วยสร้างเสริมสังคมอย่างมีประสิทธิภาพอย่างหนึ่ง
“ดนตรีสามารถสร้างโลกได้ เพราะสามารถใช้เป็นเครื่องมือได้หลายทาง หากนำไปใช้ประโยชน์ให้เหมาะสมก็สามารถเสริมสร้างสิ่งดีๆ ได้ เรื่องการผลักดันให้วงการดนตรีสร้างสรรค์งานดีๆ เป็นเรื่องสำคัญ ต้องใช้สติปัญญามากๆ เพราะถึงจะมีทุนสนับสนุนมีโอกาส แต่ถ้าหากขาดสติปัญญาก็ไม่สามารถทำได้สำเร็จ ดังนั้นคนที่ส่งงานเข้ามาประกวดถึงแม้จะเป็นการแข่งขันแต่ก็อย่าไปทำให้เกิดความทุกข์ แต่ที่สำคัญก็ต้องพยายามทำให้ดีที่สุดด้วย” มาโนช พุฒตาล กล่าว
ส่วน ตุล ไวทูรเกียรติ นักร้องนักแต่งเพลงวงอพาร์ตเม้นต์คุณป้า ซึ่งร่วมเป็นคณะกรรมการพิจารณาผลงานของโครงการด้วยเช่นกัน ได้กล่าวชวนนักศึกษาให้ร่วมส่งผลงานเข้าประกวดเพื่อร่วมสร้างสรรค์ดนตรีที่สามารถทำให้เราเข้าใจสภาวะอารมณ์ทั้งภายในตนเองและผู้อื่นๆได้
“น้องๆ ที่ชอบดนตรี รักเสียงดนตรี โครงการนี้เป็นโอกาสที่น้องๆ จะได้แสดงฝีมือ แสดงความคิดเห็นและเรื่องราวที่อยู่ในชีวิตของเราออกมาให้ทุกคนได้รับฟังกัน แต่อย่าไปคิดเรื่องแพ้ชนะครับ ทำให้ดีที่สุดในวันนี้ ดนตรีทำให้คนเข้าใจกัน ทำให้เราได้เรียนรู้และยอมรับว่าโลกมีหลายมิติ เป็นการสื่อสารที่ทำให้ทุกคนมีความสุขได้ครับ”ตุล นักดนตรีชื่อดังทิ้งท้าย
โครงการดนตรีกวีคีตา เพื่อการเรียนรู้สู่ปัญญา จัดประกวดดนตรี Acoustic ภายใต้แนวคิด Triple H กล่าวคือ มาด้วยใจ (Heart) เติมไวให้คิดฝัน (Heart) ลงมือทำอย่างตั้งใจ (Hand)โดยเปิดรับผลงานเพลงเชิงสร้างสรรค์จากนักศึกษาระดับอุดมศึกษาทั่วประเทศ และผลงานทั้งหมดจะผ่านการคัดเลือกโดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับวงการดนตรี ไม่ว่าจะเป็น ประภาส ชลศรานนท์, มาโนช พุฒตาล, ตุล ไวทูรเกียรติ นักร้องนักแต่งเพลงวงอพาร์ตเม้นต์คุณป้า ร่วมกับคณะกรรมการจากกลุ่มดนตรีกวีคีตาและ สสส.
กลุ่มนักศึกษาที่ผ่านการคัดเลือก 20 จะได้มาร่วม Workshop การแต่งเพลงกับศิลปินชื่อดัง ร่วมค่ายจิตอาสา และกิจกรรมดนตรีอาสา รวมทั้งได้รับทุนสนับสนุนสนุนเพื่อผลิตผลงานเพลงรวบรวมเป็นอัลบั้มเผยแพร่สู่สาธารณะ พร้อมทั้งร่วมแสดงในงานคอนเสิร์ตมหกรรมดนตรีเพื่อส่งเสริมการสร้างดนตรีเพื่อสุขภาวะที่จะจัดขึ้นด้วย นิสิตนักศึกษาที่สนใจสามารถติดตามรายละเอียดได้ที่ www.Hmusic.org และส่งใบสมัครพร้อม เทปเดโมเพลงที่สอดคล้องกับประเด็นสุขภาวะทางปัญญา เข้าประกวดได้ก่อนวันที่ 30 พฤศจิกายน 2551 นี้ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร.02 — 883- 9393 มือถือ 086-342-2379 e-mail: tripleh2551@hotmail.com หรือ triph2551@gmail.com
ผู้ส่ง : วนาลี จันทร์อร่าม (นาว)
เบอร์โทรศัพท์ : 0891203073