ปภ. เตือนอุบัติภัยที่มักเกิดขึ้นช่วงเทศกาลลอยกระทง

ข่าวทั่วไป Tuesday November 11, 2008 14:56 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 พ.ย.--ปภ. จากการรวบรวมสถิติอุบัติภัยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา พบว่า ในวันลอยกระทงมักเกิดอุบัติภัยในรูปแบบต่างๆ ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก เช่น อุบัติเหตุทางถนน อุบัติภัยทางน้ำ ทั้งการจมน้ำ และเรือล่ม รวมถึงอุบัติภัยจากพลุ และดอกไม้เพลิง เพื่อป้องกันและลดอุบัติภัยในวันลอยกระทง กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ขอแนะวิธีปฏิบัติตนให้ถูกต้องและปลอดภัยแก่ประชาชน ดังนี้ อุบัติเหตุทางถนน เทศกาลลอยกระทงเป็นช่วงที่ประชาชนจำนวนมากมักออกมามีส่วนร่วมในการสืบสานประเพณีไทย ทำให้การจราจรบนท้องถนนหนาแน่นกว่าช่วงเวลาปกติ ส่งผลความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนนเพิ่มสูงขึ้น จึงขอให้ประชาชนตรวจสภาพรถให้พร้อมก่อนการใช้งาน และเพิ่มความระมัดระวังในการขับขี่ ไม่ขับรถเร็วและคาดเข็มขัดนิรภัย ผู้ใช้รถจักรยานยนต์ควรสวมหมวกนิรภัยทุกครั้ง ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะจะทำให้ประสิทธิภาพในการขับขี่ลดลง ก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ ที่สำคัญควรปฏิบัติตามมาตรการ ๓ ม ๒ ข ๑ ร (สวมหมวกนิรภัย เมาไม่ขับ มอเตอร์ไซด์ปลอดภัย คาดเข็มขัดนิรภัย พกใบขับขี่ และไม่ขับรถเร็ว) อย่างเคร่งครัด เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนน อุบัติภัยทางน้ำ จากสถิติการจมน้ำเสียชีวิตของเด็กในช่วง ๔ — ๕ ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะช่วงเทศกาลลอยกระทงและหลังวันลอยกระทง ๑ วัน เป็นช่วงที่เด็กเสี่ยงต่อการจมน้ำเสียชีวิตมากที่สุด จึงขอเตือนผู้ปกครองที่พาเด็กไปเที่ยวงานวันลอยกระทงเพิ่มความเอาใจใส่เด็กเป็นพิเศษ ไม่ควรปล่อยเด็กให้ลอยกระทงเพียงลำพัง และสอนให้เด็กเรียนรู้วิธีการลอยกระทงอย่างปลอดภัย ควรพาเด็กไปลอยกระทงตามสถานที่ที่ปลอดภัยและถูกจัดเตรียมให้สำหรับลอยกระทงโดยเฉพาะ เพื่อป้องกันเด็กพลัดตกน้ำเสียชีวิต หลีกเลี่ยงการพาเด็กเดินเล่นบริเวณริมน้ำในบริเวณที่มีผู้คนเบียดเสียด ที่สำคัญผู้ปกครองควรดูแลเด็กไม่ให้คลาดสายตา โดยจูงมือเด็กให้มั่นขณะเดินทางท่องเที่ยวริมฝั่งแม่น้ำหรือโดยสารทางเรือ เพื่อป้องกันเด็กพลัดตกจมน้ำเสียชีวิต พร้อมกำชับเด็กไม่ให้ลงไปในน้ำเพื่อเก็บเงินในกระทง เพราะการแช่อยู่ในน้ำเย็นเป็นเวลานานๆ อาจทำให้เป็นตะคริวจมน้ำเสียชีวิต การให้ความช่วยเหลือกรณีที่เด็กจมน้ำ หากเด็กรู้สึกตัว หายใจได้เองควรเปลี่ยนเสื้อผ้าให้เด็ก และเช็ดตัว หากเด็กหายใจเองไม่ได้หรือหัวใจหยุดเต้น ให้เปิดทางเดินหายใจ โดยให้เด็กนอนราบกดหน้าผากลงและเชยคางขึ้นเบาๆ หากเด็กยังไม่หายใจแต่ชีพจรยังเต้นอยู่ ให้ทำการเป่าปากต่อเพียงอย่างเดียวโดยทำ ๒๐ครั้ง/นาที หลังจากนั้นให้รีบนำส่งโรงพยาบาลเพื่อทำการช่วยเหลือต่อไป สำหรับผู้ที่จะเดินทางไปร่วมงานลอยกระทงตามสถานที่ต่างๆ ให้เลือกสถานที่ที่มีความปลอดภัย ตลิ่งน้ำต้องไม่สูงชันจนเกินไป และจัดเตรียมไว้สำหรับงานดังกล่าวโดยเฉพาะ เพราะจะมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลรักษาความปลอดภัย ไม่ควรก้มลงหย่อนกระทงจนต่ำเกินไป เพราะอาจเสียหลักพลัดตกน้ำได้ หากมีคนยืนอยู่บริเวณท่าน้ำเป็นจำนวนมาก ไม่ควรยืนเบียดเสียดกัน เพราะอาจถูกเบียดจนตกน้ำ นอกจากนี้ ผู้ที่นั่งเรือออกไปลอยกระทงกลางลำน้ำ ให้เพิ่มความระมัดระวังในการขึ้นลงเรือ ต้องรอให้เรือเทียบท่าให้เรียบร้อย และหลีกเลี่ยงการยืนบนโป๊ะ เนื่องจากอาจเกิดอันตรายจากการพลิกคว่ำ หากว่ายน้ำไม่เป็นไม่ควรใช้บริการเรือโดยสาร สุดท้ายนี้ เพื่อให้การท่องเที่ยวเทศกาลลอยกระทงเป็นไปอย่างปลอดภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ประสานให้จังหวัดดำเนินการเตรียมการป้องกันและเฝ้าระวังอุบัติภัยที่อาจเกิดขึ้นด้วยการ จัดเตรียมบุคลากร อุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้ในการป้องกันอุบัติภัยที่อาจเกิดขึ้น พร้อมดำเนินการด้านเฝ้าระวังสาธารณภัย โดยให้จังหวัดจัดชุดเจ้าหน้าที่และสมาชิกอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) พร้อมขอความร่วมมือเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ดำเนินการเฝ้าระวังสถานที่เสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัย และอุบัติภัยอื่นๆ อย่างเข้มงวด เพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับประชาชนที่มาร่วมงานลอยกระทง ผู้ส่ง : ปภ เบอร์โทรศัพท์ : 022432200

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ