กรุงเทพฯ--11 พ.ย.--ปภ.
ช่วงนี้ใกล้ถึงเทศกาลลอยกระทง ซึ่งเป็นเทศกาลที่ประชาชนมักนิยมเล่นพลุ และดอกไม้เพลิง ส่งผลให้ผู้ประกอบการต่างเร่งผลิตและขนย้ายสินค้า ซึ่งอาจเกิดความผิดพลาดในกระบวนการดังกล่าว ก่อให้เกิดการระเบิดขึ้นได้ ประกอบกับช่วงนี้ตรงกับประเพณีการทอดกฐินโบราณของวัดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีการแข่งขันการจุดพลุเสียงดัง ทำให้มีชาวบ้านลักลอบผลิตพลุอย่างไม่ได้มาตรฐาน จึงมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดอันตราย ดังเช่นเหตุการณ์พลุระเบิดที่บ้านหนองแวงใหญ่ จังหวัดร้อยเอ็ด ทำให้มีผู้เสียชีวิต ๖ ราย และบาดเจ็บอีกหลายราย เพื่อเป็นการป้องกันอันตราย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ประสานให้จังหวัด กรุงเทพมหานคร และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เตรียมป้องกันและเฝ้าระวังอุบัติภัยจากพลุ ดอกไม้เพลิง พร้อมดำเนินการตรวจสอบ กำกับ ควบคุมการผลิตและขนย้ายดอกไม้เพลิงให้เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัย โดยปฏิบัติตาม พ.ร.บ. อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. ๒๔๙๐ รวมทั้งประกาศหลักเกณฑ์การควบคุมและกำกับดูแลการผลิต การค้า การครอบครอง การขนส่งดอกไม้เพลิง และวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตดอกไม้เพลิง พ.ศ. ๒๕๔๗
เพื่อเป็นการป้องกันอันตรายจากอุบัติภัยพลุ ดอกไม้เพลิง กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ขอแนะวิธีการเลือกซื้อและเล่นดอกไม้เพลิง การปล่อยโคมไฟที่ถูกต้องและปลอดภัย พร้อมโทษตามความผิดต่างๆ ที่มีสาเหตุมาจากการเล่นดอกไม้เพลิง ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ดังนี้
การเลือกซื้อ และเล่นดอกไม้เพลิง ควรเลือกสินค้าที่มีฉลาก และปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด ผู้ปกครองไม่ควรปล่อยให้เด็กเล่นดอกไม้เพลิงตามลำพัง เพราะอาจก่อให้เกิดอันตรายได้ ห้ามจุดดอกไม้เพลิงใส่ฝูงชนหรือโยนใส่กันหลีกเลี่ยงการจุดพลุใกล้สายไฟ สถานีบริการน้ำมัน ถังเชื้อเพลิงหรือวัตถุไวไฟต่างๆ เนื่องจากหากเกิดการระเบิด อาจก่อให้เกิดอัคคีภัยที่รุนแรงและยากต่อการควบคุม ควรเล่นในที่โล่งแจ้ง ไม่มีใบไม้แห้งหรือวัตถุที่เป็นเชื้อเพลิง การยืนดูพลุให้ยืนในระยะปลอดภัย คือ ห่างจากบริเวณที่จุดประมาณ ๑๐ เมตรขึ้นไป ไม่ควรยื่นหน้าหรืออวัยวะต่างๆ เข้าไปใกล้ดอกไม้เพลิงที่จุดแล้ว ตลอดจนเตรียมน้ำไว้ใกล้ๆ บริเวณที่เล่นดอกไม้เพลิง เพื่อที่จะดับไฟได้ทันหากเกิดเพลิงไหม้ ที่สำคัญ ห้ามเก็บพลุ ดอกไม้เพลิงไว้ในกระเป๋าเสื้อ — กางเกง รวมถึงในที่มีความร้อนและแสงแดดส่องเด็ดขาด เพราะจะทำให้เกิดการเสียดสีเป็นประกายไฟและเกิดเพลิงไหม้ได้
สำหรับการปล่อยโคมไฟ หลีกเลี่ยงการปล่อยโคมไฟบริเวณชุมชนที่มีสิ่งก่อสร้างและมีผู้อาศัยหนาแน่น เพราะอาจตกใส่ที่พักอาศัย ทำให้เกิดเพลิงไหม้ ที่สำคัญควรปล่อยโคมไฟหลังเวลา ๒๑.๓๐ น. ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่อากาศยานไม่ขึ้น — ลง และหากมีการปล่อยโคมไฟจำนวนมาก จะต้องแจ้งให้ทางจังหวัดและท่าอากาศยานทราบล่วงหน้า เพื่อเตรียมการป้องกันอุบัติภัยที่อาจเกิดขึ้นสถานประกอบการหรือโรงงานผลิตพลุ ดอกไม้เพลิง ต้องได้รับใบอนุญาตการผลิตสินค้าที่ถูกต้องตามกฎหมาย และดำเนินการตามมาตรฐานความปลอดภัยที่กฎหมายกำหนด ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต การเก็บรักษา และการขนย้ายพลุ ดอกไม้เพลิง เพื่อป้องกันความผิดพลาดจากการเร่งผลิต ทำให้เกิดเพลิงไหม้หรือระเบิด ก่อให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินโทษตามกฎหมายของผู้เล่นดอกไม้เพลิง ตามมาตรา ๔๗ พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ได้กำหนดโทษของผู้ที่เล่นพลุ ประทัด และดอกไม้เพลิงอันเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๑ เดือน หรือปรับไม่เกิน ๑,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีการเล่นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิตหรือจำคุกตั้งแต่ ๑๐ — ๒๐ ปีแล้วแต่กรณี
สุดท้ายนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ขอความร่วมมือประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังอุบัติภัยที่อาจเกิดขึ้นจากการเล่นพลุ และดอกไม้เพลิง กรณีพบเห็นการลักลอบผลิต จำหน่าย รวมถึงการดัดแปลงที่พักอาศัยเป็นโรงงานผลิตพลุ ดอกไม้เพลิง ให้โทรแจ้งสายด่วนสาธารณภัย ๑๗๘๔ เพื่อประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดต่อไป
ผู้ส่ง : ปภ
เบอร์โทรศัพท์ : 022432200