กรุงเทพฯ--11 พ.ย.--ปภ.
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รายงานพื้นที่ประสบอุทกภัย ๘ จังหวัด โดย ๓ จังหวัดภาคกลางตอนล่าง สถานการณ์อุทกภัยยังไม่คลี่คลาย ส่วนจังหวัดนครสวรรค์ ยังคงมีน้ำท่วมขังพื้นที่ที่ลุ่มต่ำของตำบลตาสัง อำเภอบรรพตพิสัย ระดับน้ำสูงประมาณ ๐.๑๐ — ๐.๓๐ เมตร ปัจจุบันน้ำลดลงอย่างต่อเนื่องแล้ว คาดว่าหากไม่มีฝนตกเพิ่ม สถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติใน ๑- ๒ วันนี้ และ จากภาวะฝนตกหนักต่อเนื่องในพื้นที่ภาคใต้ ทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร นครศรีธรรมราช และ สุราษฎร์ธานี กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ประสานจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยในเบื้องต้น พร้อมเร่งสำรวจความเสียหายแล้ว
นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ทั่วประเทศมีพื้นที่ประสบสถานการณ์อุทกภัย รวม ๘ จังหวัด โดยระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาได้เอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ริมฝั่งของจังหวัดในพื้นที่ภาคกลาง ๓ จังหวัด ได้แก่ สิงห์บุรี อ่างทอง และพระนครศรีอยุธยา โดย สิงห์บุรี น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่อำเภออินทร์บุรี ๖ ตำบล ๑ เทศบาล ๔๘ หมู่บ้าน ได้แก่ ตำบลอินทร์บุรี ทับยา ประศุก ชีน้ำร้าย ท่างาม น้ำตาล และเทศบาลตำบลอินทร์บุรี อ่างทอง ราษฎรได้รับความเดือดร้อน ๑,๓๙๕ ครัวเรือน ๒,๔๕๘ คน น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ ๓ อำเภอ ๑๖ ตำบล ๔๑ หมู่บ้าน ๔ ชุมชน ดังนี้ อำเภอเมือง ๗ ตำบล ( ตำบลตราดกรวด จำป่าหล่อ บ้านอิฐ บ้านรี โพสะ บ้านแห และบางแก้ว) อำเภอป่าโมก ๓ ตำบล (ตำบลโผงเผง บางเสด็จ และเทศบาลตำบลป่าโมก) อำเภอไชโย ๔ ตำบล (ตำบลจระเข้ร้อง ชัยฤทธิ์ หลักฟ้า และชัยภูมิ) พระนครศรีอยุธยา ราษฎรได้รับความเดือดร้อน ๑๓,๔๒๕ ครัวเรือน น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ ๙ อำเภอ ๙๖ ตำบล ๕๖๕ หมู่บ้าน ได้แก่ อำเภอผักไห่ บางบาล เสนา บางไทร มหาราช นครหลวง พระนครศรีอยุธยา บ้านแพรก และบางปะอิน ส่วนสถานการณ์อุทกภัยในจังหวัดนครสวรรค์ ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่การเกษตร ซึ่งเป็นที่ลุ่มต่ำของตำบลตาสัง อำเภอบรรพตพิสัย ระดับน้ำสูงประมาณ ๐.๑๐ — ๐.๓๐ เมตร สถานการณ์ปัจจุบันระดับน้ำลดลง อย่างต่อเนื่อง แนวโน้มสถานการณ์หากไม่มีฝนตกเพิ่ม คาดว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติใน๑- ๒ วันนี้
นอกจากนี้ ได้เกิด ฝนตกหนักต่อเนื่องในพื้นที่ภาคใต้ ทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎรและพื้นที่การเกษตรใน๔ จังหวัดได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร นครศรีธรรมราช และ สุราษฎร์ธานี โดย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ อำเภอบางสะพาน น้ำสูงประมาณ ๐.๒๐ — ๐.๖๐ เมตร ชุมพร น้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมใน ๕ อำเภอ ได้แก่ อำเภอหลังสวน ละแม ทุ่งตะโก พะโต๊ะ และสวี นครศรีธรรมราช น้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมใน ๖ อำเภอ ได้แก่ อำเภอขนอม นบพิตำ เฉลิมพระเกียรติ ชะอวด สิชล และพรหมคีรี สุราษฎร์ธานี ฝนตกหนักในพื้นที่อำเภอเกาะสมุย ส่งผลทำให้น้ำท่วมบริเวณตลาดดาว หาดเฉวง ทางสำนักงานป้องกันและบรรเทา สาธารณภัยจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำจำนวน ๑๕ เครื่อง เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ดังกล่าวแล้ว
สำหรับการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้เร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย อย่างต่อเนื่อง โดยระดมกำลังเจ้าหน้าที่ นำเครื่องจักรกล รถยนต์ เรือท้องแบน ๑๔ ลำ ออกให้บริการขนย้ายทรัพย์สินสิ่งของ และอพยพประชาชนออกจากพื้นที่น้ำท่วม พร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ๑๖ เครื่อง และเครื่องผลักดันน้ำ เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ประสบภัย กระสอบทรายสำหรับกั้นน้ำ จำนวน ๑๑,๔๐๐ ถุง รวมทั้งนำน้ำดื่มจำนวน ๕,๐๐๐ ขวด ยารักษาโรค ๑,๔ ๕๐ ชุด ถุงยังชีพเครื่องอุปโภคและบริโภคไปมอบให้แก่ผู้ประสบภัยในพื้นที่ต่างๆ และเต็นท์ที่พักอาศัยจำนวน ๑๐๐ หลัง ให้ผู้ประสบภัยได้ พักชั่วคราว เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น อีกทั้งออกสำรวจความเสียหาย เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย
นอกจากนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือสถานการณ์อุทกภัยจากภาวะฝนตกหนักในพื้นที่ภาคใต้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ประสานให้ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตและสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด เตรียมการป้องกันปัญหาอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม ด้วยการจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์ภัยในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ตลอด ๒๔ ชั่วโมง รวมทั้งจัดเตรียมเครื่องมืออุปกรณ์ให้พร้อมช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทันทีที่เกิดเหตุภัยพิบัติ สุดท้ายนี้ หากประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัย สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนสาธารณภัย ๑๗๘๔ ตลอด ๒๔ ชั่วโมง เพื่อประสานและให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป
ผู้ส่ง : pr
เบอร์โทรศัพท์ : 02 2432200