กรุงเทพฯ--11 พ.ย.--สสวท.
นางสาวนารี วงศ์สิโรจน์กุล รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) แจ้งว่า โครงการ GLOBE ซึ่งดำเนินการโดย สสวท. ได้สร้างเครือข่ายการวิจัยเรียนรู้ในโรงเรียนเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สำคัญในแต่ละภูมิภาค ทั้งด้านบรรยากาศ ดิน น้ำ และสิ่งปกคลุมดิน ซึ่งปัจจุบัน ปัญหาที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศมีผลกระทบต่อทุกประเทศทั่วโลก จึงได้มีการจัดตั้งโครงการต่าง ๆ เพื่อศึกษาสภาวะต่าง ๆ โครงการ “การเปลี่ยนแปลงในชีวนิเวศอันเนื่องมาจากการผันแปรของฤดูกาล” เป็นโครงการหนึ่ง่งจัดตั้งขึ้นจาก 3 องค์กร คือ International Arctic Research Center (IARC) NASA Landsat Data Continuity (LDCM) และ Terra Satellite Missions เพื่อร่วมกันตรวจวัดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของท้องถิ่น เข้าใจวัฏจักรของน้ำ วัฎจักรของคาร์บอนและความสัมพันธ์ของระบบต่าง ๆ ของโลก โดยติดตามการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลในชีวนิเวศ ในระดับท้องถิ่น ระดับภูมิภาค และระดับโลก
ประเทศไทยได้เข้าร่วมโครงการ “การเปลี่ยนแปลงในชีวนิเวศอันเนื่องมาจากการผันแปรของฤดูกาล” มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 โดยได้จัดทำโครงการวิจัยเกี่ยวกับการผลิตาของต้นไม้เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล ร่วมกับโรงเรียนของประเทศต่าง ๆ รวม 20 โรงเรียน จาก 20 ประเทศ ที่เป็นสมาชิกของโครงการ GLOBE ทั่วโลก โดยมีโรงเรียนเข้าร่วมโครงการวิจัย รวม 12 โรงเรียน และในปี พ.ศ. 2550 ได้ริเริ่มโครงการวิจัยเกี่ยวกับการออกดอกของต้นราชพฤกษ์เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล ซึ่งได้มีการพัฒนาหลักวิธีดำเนินการศึกษาการออกดอกของต้นราชพฤกษ์นี้เป็นครั้งแรกในโลก และมีโรงเรียนเข้าร่วม 8 โรง
สสวท. ได้เห็นความสำคัญของโครงการดังกล่าว จึงได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การเปลี่ยนแปลงในชีวนิเวศอันเนื่องมาจากการผันแปรของฤดูกาล” ในวันที่ 15-18 พฤศจิกายน 2551 ณ โรงแรมบอทานิก รีสอร์ท จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อส่งเสริมและเผยแพร่แนวคิดในการทำวิจัยนี้สู่นักวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเครือข่าย หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และครูในโครงการ GLOBE จำนวนประมาณ 80 คน โดยได้รับความอนุเคราะห์จากนักวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นผู้นำของโครงการนี้ในระดับโลก มาให้ความรู้ในด้านนี้
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
ส่วนประชาสัมพันธ์ สสวท.
โทรศัพท์ 0-2392-4021 ต่อ 1112,1115 สายตรง 0-2712-3604
โทรสาร 0-2392-3167