ไอบีเอ็มประกาศโรดแม็พเทคโนโลยีด้านการจัดเก็บข้อมูลแห่งอนาคต ไอบีเอ็มมุ่งพัฒนาอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลอัจฉริยะและหน่วยความจำระดับสตอเรจ

ข่าวเทคโนโลยี Wednesday October 4, 2006 14:51 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 ต.ค.--ไอบีเอ็ม
ในโอกาสฉลองวาระครบรอบ 50 ปี ของกำเนิดอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล Disk Storage ศูนย์วิจัยไอบีเอ็ม อัลมาเด้น (IBM Almaden) ได้เปิดเผยรายละเอียดของเทคโนโลยีการจัดเก็บข้อมูลที่กำลังจะเข้าสู่ตลาดในอนาคตอันใกล้นี้
นักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยได้ร่วมให้รายละเอียดเกี่ยวกับโครงการสำคัญๆ เช่น:
หน่วยความจำระดับสตอเรจ (Storage-Class Memory): แนวทางใหม่สำหรับการสร้างอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลที่มีความเร็วสูงขึ้น โครงการ Storage Class Memory (SCM) ของไอบีเอ็มมุ่งเน้นการสร้างอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลราคาถูกแบบ solid-state ที่มีการเข้าถึงข้อมูลแบบสุ่ม (random-access) โดยจะต้องมีประสิทธิภาพและเสถียรภาพสูง สามารถแข่งขันหรือทดแทนดิสก์ไดรฟ์และ/หรือหน่วยความจำแฟลช การประยุกต์ใช้งานที่เป็นไปได้สำหรับเทคโนโลยีนี้ได้แก่ พีซีที่บูตเครื่องได้อย่างรวดเร็ว โดยสามารถเริ่มทำงานได้ภายในเวลา 1-2 วินาทีหลังจากที่กดปุ่มเปิดเครื่อง แทนที่จะต้องใช้เวลาหลายนาทีเหมือนคอมพิวเตอร์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน
อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลอัจฉริยะ (Intelligent Data Storage): อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลในอนาคตจะทำหน้าที่ได้มากกว่าการเป็นคลังเก็บข้อมูล โดยจะประกอบด้วยฟีเจอร์ที่หลากหลายสำหรับการจัดการและวิเคราห์ข้อมูล ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการและการใช้ประโยชน์จากข้อมูล ทำให้บริษัทที่ใช้อุปกรณ์นี้สามารถตรวจสอบข้อมูลผู้ใช้และตรวจจับการปลอมแปลง
ระบบจัดเก็บข้อมูลที่ประมวลผลได้ (Storage Systems That Compute): การย้ายพลังประมวลผลอย่างชาญฉลาดโดยอาศัยเทคโนโลยีการแบ่งพาร์ติชั่นแบบโลจิคัล (logical partition - LPAR) ซึ่งช่วยให้สามารถสร้างเซิร์ฟเวอร์เสมือนจริง (virtual servers) ไว้บนสตอเรจเซิร์ฟเวอร์ แนวทางนี้จะช่วยเพิ่มความเร็วในการทำงานให้กับแอปพลิเคชั่นโดยใช้ประโยชน์จากทรัพยากรของสตอเรจเซิร์ฟเวอร์
การพัฒนาการจัดการสตอเรจโดยอาศัยเทคโนโลยีเวอร์ช่วลไลเซชั่นและการประมวลผลอัตโนมัติ (Advances in Storage Management; Where Virtualization and Autonomic Computing Intersect): การบริหารจัดการข้อมูลที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนับเป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้บริษัทต่างๆ ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงมาก โซลูชั่นของไอบีเอ็มอ้างอิงมาตรฐานเปิดซึ่งใช้ระบบการทำงานแบบอัตโนมัติตามนโยบายที่กำหนดสำหรับการจัดการโครงสร้างพื้นฐานด้านการจัดเก็บข้อมูลที่ประกอบด้วยอุปกรณ์จากผู้ผลิตหลายราย ซึ่งนอกจากจะเพิ่มประสิทธิภาพแล้ว ยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย และสามารถควบคุมระบบทั้งหมดได้จากจุดเดียวกัน
มาร์ค ดีน รองประธานศูนย์วิจัย Almaden และหนึ่งใน IBM Fellow กล่าวว่า “ไอบีเอ็มมีบทบาทสำคัญในการบุกเบิกเทคโนโลยีการจัดเก็บข้อมูลเมื่อ 50 ปีที่แล้ว ด้วยการเปิดตัว 305 RAMAC Computer และวันนี้เรากำลังพัฒนาเทคโนโลยีรุ่นอนาคตที่จะช่วยผลักดันการสรรค์สร้างนวัตกรรมด้านการจัดเก็บข้อมูลต่อไปในช่วง 50 ปีข้างหน้า”
ความต้องการด้านการจัดเก็บข้อมูลขององค์กรธุรกิจต่างๆ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อตอนที่ไอบีเอ็มเปิดตัว IBM 350 Disk Storage Unit ในเดือนกันยายน 1956 ซึ่งมีขนาดความจุเพียง 5 เมกะไบต์ หรือมีความสามารถในการเก็บภาพวาดโมนาลิซ่าของดาวินชีได้เพียง 1 ภาพ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับ IBM System Storage DS8000 Turbo ที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา อุปกรณ์ดังกล่าวสามารถเก็บข้อมูลได้มากถึง 320 เทราไบต์ หรือสามารถเก็บภาพวาดทั้งหมดที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ Guggenheim, Louvre และ Metropolitan Museum of Art และพิพิธภัณฑ์อื่นๆ อีกตัวอย่างหนึ่งก็คือ เมื่อปี 1956 อุปกรณ์ 350 Disk Storage Unit สามารถจัดเก็บข้อมูลดิจิตอลที่เทียบเท่ากับงานประพันธ์ของเชคสเปียร์ 1 ชุด ในขณะที่เครื่อง DS8000 ในปัจจุบันสามารถจัดเก็บสำเนาผลงานของเชคสเปียร์ได้มากกว่า 76 ล้านชุด
เผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์โดย
บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด
คุณอรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ โทร 02-273-4117 อีเมล์ : onumav@th.ibm.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ