กรุงเทพฯ--12 พ.ย.--สวทช.
iTAP หนุนวิสาหกิจชุมชนกล้วยตากบุปผา จังหวัดพิษณุโลก ทำ GMP เพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพ ปลอดภัย มั่นใจก่อนถึงมือผู้บริโภค พร้อมสร้างแบรนด์ “Banana Society” ออกแบบเพคเกจจิ้งสดใส สะดุดตา หวังตอบโจทย์ผู้บริโภค ย้ำความพร้อมก่อนนำจำหน่ายจริงในห้างสรรพสินค้าชั้นนำ
GMP(Good Manufacturing Practice)วิธีการจัดการสุขลักษณะที่ดีในการผลิตอาหารเป็นข้อกำหนดขั้นพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการผลิตอาหาร เพื่อใช้เป็นเกณฑ์ให้ผู้ผลิตปฏิบัติตาม เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์อาหารที่ปลอดภัย โดยเน้นการป้องกันและขจัดความเสี่ยงที่อาจจะทำให้อาหารเป็นพิษ อันตราย หรือเกิดความไม่ปลอดภัยแก่ผู้บริโภค
จากกระบวนการผลิตกล้วยตากแบบเดิมที่ใช้การตากแดด ทำให้มีสิ่งปนเปื้อน ทั้งจากแมลง ฝุ่น สิ่งสกปรกและเชื้อจุลินทรีย์ ส่งผลให้ผลผลิตกล้วยตากที่ได้มีคุณภาพไม่สม่ำเสมอ ทั้งสี เนื้อสัมผัส และรสชาติ รวมทั้งผลิตได้ในบางฤดูกาล ทำให้ “วิสาหกิจชุมชนกล้วยตากบุปผา จังหวัดพิษณุโลก” ได้พัฒนาการผลิตในรูปแบบใหม่อย่างครบวงจร ตั้งแต่กระบวนการผลิต หลักเกณฑ์ที่ดีในการผลิตอาหาร(GMP) รวมทั้งการสร้างตราสินค้าและพัฒนาบรรจุภัณฑ์รูปแบบใหม่
นายยงยศ เมฆอรุณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก กล่าวเปิดโรงงานวิสาหกิจชุมชนกล้วยตากบุปผาว่า กล้วยตากถือเป็นสุดยอดผลิตภัณฑ์ OTOP ของจังหวัดพิษณุโลก โดยงานนี้ยังถือเป็นการตอบสนองเป้าหมายของรัฐบาลที่ต้องการนำประชาชนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งเห็นได้จากการบูรณาการโดยมีภาคประชาชนเป็นหลัก จนทำให้เกิดเป็นวิสาหกิจชุมชน และมีหน่วยงานต่างๆเข้ามาร่วมสนับสนุน ดังนั้นถือว่าตอบสนองนโยบายและยุทธศาสตร์ของจังหวัดและภาครัฐ จึงมีความยินดียิ่งและอยากให้เกิดความร่วมมือ สนับสนุนงานในลักษณะนี้ต่อเนื่องไป
รศ.ดร.สมชาย ฉัตรรัตนา รองผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.)กล่าวว่า โครงการ iTAP ได้ให้การสนับสนุนวิสาหกิจชุมชนในการจัดทำระบบสุขลักษณะที่ดีในการผลิตอาหาร ตามข้อกำหนด GMP (Good Manufacturing Practice)ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)เพื่อปรับปรุงอาคารสถานที่ อุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการผลิตให้ถูกต้องตามหลักสุขลักษณะที่ดีในการผลิตอาหาร เพื่อลดการปนเปื้อนที่เกิดขึ้นในระหว่างกระบวนการผลิต รวมทั้งพัฒนาบุคลากรของโรงงานให้มีความรู้และเข้าใจเกี่ยวกับหลักความปลอดภัยของอาหารและเข้าใจในข้อกำหนดต่างๆของ GMP และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ
สำหรับแผนการทำงานต่อเนื่องจากโครงการนี้ คือ การประเมินมูลค่าทางเศรษฐกิจ เพื่อทำให้ทราบถึงมูลค่าตัวเลขจากการลงทุนทำ GMP ที่ช่วยให้สินค้ามีมูลค่าเพิ่มขึ้น สร้างความมั่นใจให้กับผู้ต้องการลงทุน และมองว่าการสนับสนุนในครั้งนี้ยังเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับอุตสาหกรรมอื่น
นางเสาวภัค แดงประเสริฐ ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดทำระบบสุขลักษณะที่ดีในกระบวนการผลิตอาหาร (GMP) จากโครงการนี้ กล่าวเพิ่มเติมว่า หลักการของ GMP ครอบคลุมตั้งแต่สถานที่ตั้งของสถานประกอบการ โครงสร้างอาคาร ระบบการผลิตที่ดี มีความปลอดภัยและมีคุณภาพได้มาตรฐานทุกขั้นตอน นับตั้งแต่เริ่มต้นวางแผนการผลิต ระบบควบคุมตั้งแต่วัตถุดิบระหว่างการผลิต ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป การจัดเก็บ การควบคุมคุณภาพและการขนส่งจนถึงผู้บริโภค ระบบบันทึกข้อมูล ตรวจสอบและติดตามผลคุณภาพผลิตภัณฑ์ รวมถึงระบบการจัดการที่ดีในเรื่องสุขอนามัยของผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับการผลิต ทั้งนี้เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ขั้นสุดท้ายมีคุณภาพและความปลอดภัยเป็นที่มั่นใจเมื่อถึงมือผู้บริโภค และ GMP ยังเป็นระบบประกันคุณภาพพื้นฐานก่อนที่จะพัฒนาไปสู่ระบบประกันคุณภาพอื่นๆต่อไป เช่น HACCP (Hazards Analysis and Critical Control Points) และ ISO 9000 เป็นต้น
นอกจาก วิสาหกิจชุมชนกล้วยตากบุปผา จังหวัดพิษณุโลก จะนำหลัก GMP มาปฏิบัติ ซึ่งช่วยให้พนักงานมีความตระหนักและให้ความสำคัญต่อการผลิตอย่างไร ให้ปลอดภัยยิ่งขึ้นแล้ว วิสาหกิจชุมชนฯ ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) โดยทีมคณะวิจัยจาก มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ ในการออกแบบและสร้างโรงเรือนอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับอบกล้วยและพัฒนากระบวนการผลิตกล้วยตากให้ได้คุณภาพ รวมถึงการพัฒนาและสร้างความหลากหลายของผลิตภัณฑ์จากกล้วย เพื่อเพิ่มมูลค่าทางการตลาด นับเป็นรูปแบบหนึ่งของการบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ในการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กลุ่มวิสาหกิจฯ ให้เติบโตสู่ตลาดสากลต่อไป
นายวุฒิชัย ชะนะมา ผู้จัดการวิสาหกิจชุมชนกล้วยตากบุปผา กล่าวด้วยว่า เดิมทำธุรกิจการผลิตกล้วยตากภายใต้ชื่อกล้วยอบน้ำผึ้งบุปผา มีกำลังการผลิต 30 ตัน/เดือนและจัดจำหน่ายในจังหวัดพิษณุโลกเป็นหลัก รวมทั้งส่งขายตลาดไทยและตลาดอื่นๆทั่วประเทศ อีกทั้งยังได้ทำสัญญารับซื้อกับบริษัท Power Food สัปดาห์ละ 2 ตัน และการทำกล้วยตากของวิสาหกิจชุมชนกล้วยตากบุปผา ยังถือเป็นนวัตกรรมการผลิตกล้วยตากแห่งแรกของประเทศไทยที่อาศัยการต่อยอดองค์ความรู้และการบูรณาการความคิด เพื่อมุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนสังคมการผลิตกล้วยตากแบบดั้งเดิมของชาวบางกระทุ่มจังหวัดพิษณุโลก ภายใต้ระบบการผลิตอาหารที่ดี (GMP) เพื่อเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์
ด้วยความมุ่งมั่นของการทำงานจึงต้องการปรับเปลี่ยนระบบการผลิตกล้วยตากแบบวิธีการดั้งเดิมของอำเภอบางกระทุ่มที่มีตำนานการผลิตกล้วยตากมากกว่าร้อยปีเพื่อให้ได้มาตรฐานตามระบบการผลิตอาหารปลอดภัยตามข้อกำหนด GMP อย.และยกระดับคุณภาพของผลิตภัณฑ์กล้วยตาก โดยยังมีแผนการตลาดที่จะจำหน่ายผลิตภัณฑ์กล้วยตากบุปผา ภายใต้ตราสินค้า “Banana Society” ตามตลาดบนซึ่งได้แก่ ห้างสรรพสินค้าชั้นนำในอีก 2-3 เดือนข้างหน้านี้ และคาดหวังว่าการเปิดตัวโรงงานในครั้งนี้จะเป็นโรงงานต้นแบบเพื่อถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้ประกอบการรายอื่นหรือประชาชนทั่วไปที่ให้ความสนใจ
ด้าน นายพีรวงศ์ จาตุรงคกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัทอุตสาหกรรมขนมไทย จำกัด ซึ่งได้รับเชิญจากโครงการ iTAP มาให้คำปรึกษาด้านการออกแบบบรรจุภัณฑ์และการสร้างตราสินค้า กล่าวด้วยว่า วิสาหกิจชุมชนกล้วยตากบุปผาเป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นแต่ชื่อสินค้ายังไม่สื่อถึงผลิตภัณฑ์ จึงพยายามออกแบบบรรจุภัณฑ์ต้นแบบนี้ให้ผู้บริโภคยอมรับ
โดยมองว่าหัวใจของการออกแบบบรรจุภัณฑ์ คือ การทดสอบตลาดเพื่อฟังเสียงผู้บริโภคเป็นหลักว่าพึงพอใจกับบรรจุภัณฑ์นี้หรือไม่ อย่างไร สำหรับผลิตภัณฑ์กล้วยตากของวิสาหกิจชุมชนกล้วยตากบุปผา ได้ต้นแบบบรรจุภัณฑ์ที่มีสีเหลืองเพื่อสื่อถึงชื่อผลิตภัณฑ์คือกล้วยตากและออกแบบให้กล่องมีสีสันเด่นสะดุดตา โดยใช้ตราสินค้า “Banana Society” เพื่อสื่อถึงผลิตภัณฑ์ที่ดี สู่สังคมคุณภาพ พร้อมคาดหวังว่าเมื่อบรรจุภัณฑ์ดังกล่าวออกจำหน่ายสู่ตลาดจะเป็นที่สนใจสำหรับผู้บริโภค และทำให้อุตสาหกรรมนี้สามารถแข่งขันได้ทัดเทียมกับตลาดต่างประเทศ .
โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP)
ต้องการข้อมูลหรือภาพประกอบเพิ่มเติม
ติดต่อได้ที่..ฝ่ายประชาสัมพันธ์ โครงการ iTAP (สวทช.)
โทร.0-2270-1350-54 ต่อ 104, 114 ,115 ค่ะ
คุณนก มือถือ. 0-81421-8133
คุณเกด มือถือ. 0-81575-6477