กรุงเทพฯ--12 พ.ย.--ปภ.
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยบริเวณที่ลาดเชิงเขาและที่ลุ่มริมแม่น้ำในบริเวณจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พังงา กระบี่ พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และตรัง ให้ระมัดระวังอันตรายจากสภาวะฝนตกหนัก ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่มในระยะ 2-3 วันนี้ (วันที่ 12- 14 พ.ย. 2551) โดยให้ติดตามข่าวพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัยจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด พร้อมสั่งการศูนย์ ปภ.เขต และสำนักงาน ปภ.จังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัย จัดเจ้าหน้าที่ มิสเตอร์เตือนภัย เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อแจ้งเตือนและอพยพประชาชนได้ทันที หากเกิดสถานการณ์ภัยพิบัติขึ้นในพื้นที่
นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ในระยะ 2-3 วันนี้ (วันที่ 12 - 14 พฤศจิกายน 2551 ) ภาคใต้มีฝนตกชุกหนาแน่นและฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่ และคลื่นลมแรงในอ่าวไทยมีกำลังแรง กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงขอเตือนประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยทั้งที่ลาดเชิงเขาและที่ราบลุ่มริมแม่น้ำในภาคใต้ โดยเฉพาะบริเวณจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฏร์ธานี นครศรีธรรมราช พังงา กระบี่ พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และตรัง ให้ระมัดระวังอันตรายจากสภาวะฝนตกหนัก ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากดินโคลนถล่มในระยะ 2-3 วันนี้ (วันที่ 12 - 14 พ.ย. 2551) โดยให้ติดตามข้อมูลพยากรณ์อากาศ และประกาศแจ้งเตือนภัยจากหน่วยงานภาครัฐอย่างใกล้ชิด ตลอดจนหมั่นสังเกตสัญญาณการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ หากเกิดฝนตกหนักในพื้นที่ และพบว่าน้ำเปลี่ยนสี ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว สัตว์ป่าแตกตื่น มีเสียงดังจากป่าต้นน้ำให้รีบแจ้งเตือนชาวบ้าน เพื่ออพยพออกจากพื้นที่ในทันที่ และเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือกับอันตราย
ที่อาจเกิดขึ้นในช่วงฝนตกหนัก ปภ.ได้สั่งการศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัย เตรียมความพร้อมด้วยการจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังสถานการณ์ภัยในพื้นที่ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานงานกับจังหวัด อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งจัดเตรียมเครื่องจักรกล ยานพาหนะ เรือท้องแบน และอุปกรณ์ต่างๆ ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานได้ทันทีที่เกิดเหตุภัยพิบัติขึ้นในพื้นที่ ตลอดจนกำชับเจ้าหน้าที่ทั้งอาสาสมัครแจ้งเตือนภัยดินถล่ม (มิสเตอร์เตือนภัย) สมาชิกอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) และทีมกู้ชีพกู้ภัยประจำตำบล (OTOS) เฝ้าระวังสถานการณ์ และติดตามข้อมูลข่าวสารพยากรณ์อากาศ และการขึ้น-ลง ของน้ำในแม่น้ำอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง หากเกิดสถานการณ์ภัยพิบัติรุนแรงในพื้นที่ ให้รีบแจ้งเตือนประชาชนให้อพยพออกจากพื้นที่เสี่ยงภัยไปยังพื้นที่ปลอดภัยในทันที สุดท้ายนี้ หากประชาชนในพื้นที่ใดได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์อุทกภัย สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ที่สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดทั้ง 75 จังหวัด ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตทั้ง 18 เขต กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หรือทางสายด่วนสาธารณภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อประสานและให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป
ผู้ส่ง : goodprcdpm
เบอร์โทรศัพท์ : 022432200