กรุงเทพฯ--22 ก.พ.--JGSEE
JGSEE เดินหน้าผลิตบุคลากรคุณภาพป้อนภาครัฐและเอกชน ล่าสุดทำการปรับหลักสูตรให้เกิดความหลากหลาย หวังมีส่วนช่วยแก้ปัญหาวิกฤติพลังงาน ขณะที่เจ้าหน้าที่จากหลายหน่วยงานต่างให้ความสนใจหันมาศึกษาต่อในประเทศ ระบุมั่นใจศักยภาพการสอนของ JGSEE ที่เพียบพร้อม อีกทั้งเรียนจบแล้วสามารถนำไปปฏิบัติได้จริงในการทำงาน
ปัจจุบันการพัฒนาเทคโนโลยีทางด้านพลังงานนับเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง แต่กลับพบว่าปัญหาใหญ่ที่ยังแก้ไม่ตก คือ การขาดแคลนบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง อีกทั้งบุคลากรที่มีอยู่อย่างจำกัดนี้บางส่วนยังไม่มีศักยภาพเพียงพอในด้านการปฏิบัติ ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถ เพื่อเข้ามากู้วิกฤติการณ์ครั้งนี้โดยด่วน
บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะสามารถช่วยแก้ปัญหานี้ได้ ด้วยการเปิดหลักสูตรการสอนที่มุ่งเน้นสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพทางด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะ ที่สำคัญคือเป็นหลักสูตรที่ทบวงมหาวิทยาลัยของรัฐมีความจำนงให้จัดตั้งขึ้นเป็น 1 ใน 7 ศูนย์แห่งความเป็นเลิศ เพื่อยกระดับบัณฑิตศึกษา โดยที่ผ่านมาผู้ที่จบหลักสูตรการศึกษาจากบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) ล้วนได้รับการยอมรับจากผู้เชี่ยวชาญ และผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาพลังงานและว่าเป็นบุคลากรที่มีศักยภาพพร้อมที่จะร่วมแก้ไขปัญหาด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมในทางปฏิบัติได้อย่างดีเยี่ยมทั้งในภาครัฐและเอกชน
ปัจจุบันทาง JGSEE ได้มีการปรับปรุงหลักสูตรให้มีความหลากหลายเพิ่มมากขึ้น อาทิ หลักสูตรด้านเทคโนโลยีพลังงานและสิ่งแวดล้อม ซึ่งสามารถรองรับทั้งผู้ที่ต้องการพัฒนาทักษะด้านการวิจัย และพร้อมที่จะสร้างสรรค์เทคโนโลยีชิ้นใหม่ และหลักสูตรด้านการจัดการพลังงานและสิ่งแวดล้อมที่เป็นการเสริมความรู้ด้านการบริหารจัดการทรัพยากร ให้ใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
พันธ์ศักดิ์ อมรนันต์วัฒนา วิศวกรระดับ 5 กองพัฒนาพลังลมและแสงอาทิตย์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) หนึ่งในผู้ที่จบหลักสูตรการศึกษาจาก JGSEE กล่าวว่า ภายหลังจากที่ทำงานที่ กฟผ. และได้รับทุนศึกษาต่อในหลักสูตรปรัชญามหาบัณฑิต สาขาพลังงาน จาก JGSEE โดยทำงานวิจัยเกี่ยวกับโมเดลสำหรับทำนายการแผ่รังสีของดวงอาทิตย์ (Solar radiation) ในสภาวะท้องฟ้าไม่มีเมฆ (clear sky) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ใช้กันอย่างกว้างขวางในงานด้านวิศวกรรมและสถาปัตยกรรม ผลงานวิจัยชิ้นนี้เป็นการดัดแปลงโมเดลที่ใช้ข้อมูลด้านสภาพภูมิอากาศของอเมริกา และพัฒนาให้สามารถอ่านค่าพารามิเตอร์ที่เป็นสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยได้ ซึ่งเป็นโมเดลที่เหมาะสมและสามารถใช้ได้จริงในประเทศไทย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการออกแบบระบบปรับอากาศและอาคารในอนาคต
ทั้งนี้ ภายหลังจากที่จบหลักสูตรดังกล่าว พบว่าสามารถนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับการถ่ายทอดจากคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิทั้งในประเทศ และต่างประเทศ มาประยุกต์ใช้ในการทำงานได้เป็นอย่างดี และอาจกล่าวได้ว่าสิ่งที่ได้รับจากการศึกษาในหลักสูตรของ JGSEE ได้ช่วยเพิ่มศักยภาพในการทำงานให้ประสบผลสำเร็จยิ่งขึ้น สามารถนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้ไปปรับในการปฏิบัติงานจริงได้อย่างสมบูรณ์แบบ โดยไม่ต้องเดินทางไปศึกษาไกลถึงต่างประเทศ รวมทั้งห้องปฏิบัติการ ที่มีเครื่องมือที่เพียบพร้อมและทันสมัย ยังช่วยให้เกิดการพัฒนาขึ้นตามลำดับ และที่สำคัญจากหลักสูตรนานาชาติ ที่มีการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด ทำให้ได้พัฒนาทักษะด้านภาษา ซึ่งส่งผลให้การทำงานที่ต้องติดต่อกับชาวต่างชาติมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ผู้สนใจศึกษาในหลักสูตรของบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) สามารถสมัครที่ตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2549 หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายการศึกษา JGSEE โทร.โทร.0-2470-8337-8 ในเวลาราชการ หรือที่ www.jgsee.kmutt.ac.th e-mail academic@jgsee.kmutt.ac.th--จบ--