การศึกษาผลกระทบของมาตรการความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ที่มีต่ออุตสาหกรรมส่งออกไทย

ข่าวทั่วไป Monday November 17, 2008 08:42 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 พ.ย.--คต. นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า สำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ ณ กรุงบรัสเซลล์ ได้รายงานผลการศึกษาเรื่อง ผลกระทบของมาตรการความรับผิดชอบต่อสังคมที่มีต่ออุตสาหกรรมส่งออกไทยมาเพื่อทราบว่า การศึกษาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษารวบรวมกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง CSR , วิเคราะห์ผลกระทบของการใช้มาตรการ CSR ของ EU ต่อสินค้าส่งออกของไทยและบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ของไทย รวมทั้งแนวทางการปรับตัวของ SMEs ของไทย โดยทำการศึกษากับอุตสาหกรรมจำนวน 7 สาขา และปรากฎผลการศึกษา ดังนี้ 1. อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ พบว่า ผู้ประกอบการมีความตื่นตัวมากกว่าสาขาอื่น เนื่องจากมีการปฏิบัติตามมาตรฐานอื่นๆที่เข้มงวดของ EU ดังนั้นผู้ผลิตจึงต้องการให้ Suppliers ปฏิบัติตามข้อกำหนดของระเบียบต่างๆ 2. อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหาร พบว่า ผู้ผลิตจะได้รับแรงกดดันทั้งจากกฎหมายและกลุ่มผู้บริโภคเช่นเดียวกับภาคเกษตร ทำให้ผู้บริโภคให้ความสนใจมาตการ CSR เป็นอย่างมาก 3. อุตสาหกรรมสิ่งทอและเสื้อผ้า พบว่า วัตถุดิบที่ใช้และขั้นตอนในการผลิตส่วนใหญ่มีต้นทุน การผลิตต่ำ ผู้ประกอบการควรระมัดระวังเรื่องการใช้แรงงานเด็ก ค่าแรง จำนวนชั่วโมง เงื่อนไขการทำงาน การขนส่ง รวมทั้งการใช้สารเคมี เป็นต้น 4. อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง โดยเฉพาะยางรถยนต์ พบว่า อุตสาหกรรมนี้เน้นเรื่อง ความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมตามกฎหมาย EU ผู้ผลิตจึงต้องคำนึงถึงการใช้วัตถุดิบและขั้นตอนการผลิตให้เป็น ไปตาม มาตรฐาน ISO 5. อุตสาหกรรมพาหนะประเภท Small Goods Vehicles พบว่า อุตสาหกรรมนี้เกี่ยวข้องกับคนงานใน แต่ละประเทศ สิ่งแวดล้อม การใช้ทรัพยากรและพลังงานอย่างคุ้มค่า รวมถึงสุขภาพและความปลอดภัยของผู้ใช้ ผู้ประกอบการควรคำนึงถึงการจ้างงาน ลูกจ้าง วัตถุดิบที่ใช้และผลกระทบที่มีต่อสังคม 6. อุตสาหกรรมสินค้าเกษตร พบว่า ได้รับแรงกดดันจากผู้บริโภคมากเช่นกัน เพราะผู้บริโภคต้องการอาหารที่มีมาตรฐานความปลอดภัยสูงและน่าเชื่อถือได้ 7. อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ เตียง/ที่นอน พบว่าขณะนี้ EU ยังไม่มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการผลิตสินค้ากลุ่มโดยตรงนี้ มีเพียงกฎหมาย Industry Emission ดังนั้นอุตสาหกรรมควรได้รับการรับรอง ISO14001 อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวเพิ่มเติมว่า ภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ควรนำข้อเสนอแนะที่ได้จากการศึกษาไปปรับใช้โดยเฉพาะการเผยแพร่สร้างการรับรู้ในมาตรการ CSR แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของประเทศผู้บริโภคและบริษัทผู้นำเข้า รายละเอียดเพิ่มเติมสามารถศึกษาได้ที่ เว็บไซท์ www.dft.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ