ปภ.เตือนภาคเหนือ อีสาน รับมือสถานการณ์ภัยหนาวภาคใต้เตรียมพร้อมรับมือกับภาวะฝนตกหนัก

ข่าวทั่วไป Monday November 17, 2008 13:56 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 พ.ย.--ปภ. กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เตือนประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะบริเวณยอดดอยและยอดภู ให้เตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ภัยหนาว ส่วนประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยบริเวณที่ลาดเชิงเขาและที่ลุ่มริมแม่น้ำของภาคใต้ ให้ระมัดระวังอันตรายจากฝนตกหนัก น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม โดยขอให้ประชาชนติดตามข่าวพยากรณ์อากาศและประกาศแจ้งเตือนภัยจากหน่วยงานภาครัฐอย่างใกล้ชิด นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบการคาดการณ์สภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดว่า สภาพอากาศของประเทศไทยตอนบนนี้ จะมีอากาศหนาวเย็นใกล้เคียงปกติ (พ.ย.2550 - ก.พ.2551) โดยในช่วง ที่มีอากาศหนาวถึงหนาวจัดจะอยู่ในช่วงกลางเดือนธันวาคมถึงกลางเดือนมกราคม โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน จะมีอากาศหนาวจัด และในบางพื้นที่อาจมีอุณหภูมิต่ำสุด ต่ำกว่าฤดูหนาวในช่วงที่ผ่านมา ในพื้นที่ตอนบนของประเทศไทยอาจเกิดความแห้งแล้งในหลายพื้นที่ เนื่องจากปริมาณฝนจะลดลงตลอดช่วงฤดูหนาว สำหรับภาคใต้จะมีอากาศเย็นบางวัน ส่วนมากทางตอนบนของภาค และจะมีฝนตกชุกในเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคม โดยเฉพาะฝั่งอ่าวไทยตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไป กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงขอเตือนประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งบริเวณยอดดอยหรือยอดภู ให้ระมัดระวังการเกิดอัคคีภัย เนื่องจากจะมีสภาพอากาศที่แห้งแล้ง ประกอบกับมีลมกระโชกแรง ทำให้ยากต่อการควบคุมเพลิงไหม้ โดยให้จัดเก็บวัตถุไวไฟให้อยู่ในที่ปลอดภัย หมั่นตรวจอุปกรณ์ไฟฟ้าให้อยู่สภาพพร้อมใช้งาน เพื่อป้องกันไฟฟ้าลัดวงจร ตลอดจนเพิ่มความระมัดระวัง ในการประกอบกิจกรรมเกี่ยวกับไฟทุกประเภท เช่น การเผาะขยะ การจุดธูปเทียน การประกอบอาหาร ให้เพิ่มความระมัดระวังในการขับขี่ยานพาหนะ เนื่องจากในบางช่วงของถนนจะมีหมอกลงปกคลุมหนา ทำให้ทัศน์วิสัยในการมองเห็นลดน้อยลงโดยเฉพาะในเส้นทางเสี่ยง เช่น หุบเขา เชิงดอย ทางลาดชัน ทางโค้ง ซึ่งอาจจะทำให้เกิดการเฉี่ยวชนจนเสียหลัก ทำให้รถออกนอกเส้นทาง โดยให้ผู้ขับขี่ควรจะศึกษาเส้นทาง ตรวจสอบสภาพรถ โดยเฉพาะระบบไฟฟ้า เช่น ไฟหน้า ไฟตัดหมอก ไฟฟ้าท้าย ไฟฉุกเฉิน ให้พร้อมใช้งาน รวมทั้งระบบเบรก ล้อ และเครื่องยนต์หากในกรณีหมอกลงจัดจนไม่สามารถเห็นเส้นทางได้ ควรเปิดไฟหน้ารถ เปิดไฟตัดหมอก ลดความเร็วขับด้วยความระมัดระวัง ไม่ขับแซงในระยะกระชันชิด ไม่เปลี่ยนช่องทางกะทันหัน เพราะทัศน์วิสัยไม่ดี ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย รวมทั้งหลีกเลี่ยงการเปิดสัญญาณไฟฉุกเฉินเพราะอาจสร้างความเข้าใจผิดแก่ผู้ร่วมใช้เส้นทาง ส่วนในพื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะฝั่งอ่าวไทย ให้ระมัดระวังอันตรายจากสภาพฝนตกหนัก ที่อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก รวมทั้งอาจะเกิดพายุหมุนเขตร้อนจะก่อตัวขึ้นในทะเลจีนใต้ตอนล่างหรืออ่าวไทยตอนบน และเคลื่อนตัวเข้าสู่ภาคใต้ ซึ่งจะทำให้คลื่นลมในอ่าวไทยมีกำลังแรงจนเกิดคลื่นพายุซัดฝั่งได้ สุดท้ายนี้หากประชาชนในพื้นที่ใดได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์อุทกภัย สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ที่สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดทั้ง ๗๕ จังหวัด ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตทั้ง ๑๘ เขต กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยหรือ ทางสายด่วนสาธารณภัย ๑๗๘๔ ตลอด ๒๔ ชั่วโมง เพื่อประสานและให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป ผู้ส่ง : goodprcdpm เบอร์โทรศัพท์ : 022432200

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ