ดีแทค ผนึก ทรูมูฟ ชน เอไอเอส ย้ำหมดยุคเลือกปฏิบัติต้องเท่าเทียมเป็นธรรมยันสู้ถึงที่สุด

ข่าวทั่วไป Friday November 10, 2006 13:27 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 พ.ย.--โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น
สองผู้ประกอบการสื่อสารโทรคมนาคม ดีแทค และ ทรูมูฟ จับมือประกาศขอความเป็นธรรม เพื่อให้เอไอเอส ซึ่งเป็นผู้ประกอบการที่มีอำนาจเหนือตลาดต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ กทช. โดยเคร่งครัด และเลิกเอาเปรียบผู้ประกอบการรายอื่น เรื่องการได้สิทธิพิเศษเพียงรายเดียวที่ได้ลดส่วนแบ่งรายได้ และเรื่องการได้รับสิทธิที่ไม่ต้องจ่ายค่าเชื่อมโยงโครงข่าย โดยขอให้ กทช. กำกับดูแลให้ เอไอเอส ต้องแข่งขันโดยมีต้นทุนเท่าเทียมกับผู้ประกอบการรายอื่น พร้อมทำหนังสือร้องเรียน กทช. ให้ตรวจสอบพฤติกรรม เอไอเอส ที่มีความได้เปรียบจากการลดส่วนแบ่งรายได้หลายหมื่นล้าน ขอความชัดเจนในประเด็นสำคัญ 4 ข้อ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกปฏิบัติ การกำหนดอัตราเงินผลประโยชน์ตอบแทน การจัดเก็บค่าเชื่อมโยงโครงข่าย การกำหนดอัตราค่าบริการที่ไม่เป็นธรรม และการไม่มีหลักเกณฑ์เรื่องคงเลขหมายโทรคมนาคม (Number Portability) ย้ำหมดยุคเลือกปฏิบัติ เน้นทุกรายต้องเท่าเทียมและเป็นธรรม ยันสู้ถึงที่สุด พร้อมส่งสำเนารัฐมนตรี ไอซีที ให้รับรู้ปัญหา
ตามที่วันนี้ บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น และ บริษัท ทรู มูฟ จำกัด ได้มีหนังสือร้องเรียนเรื่องความไม่เป็นธรรมไปยัง คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) พร้อมสำเนาเรียนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ถึงความไม่เป็นธรรมในการประกอบกิจการโทรคมนาคมของ บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) ซึ่งเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ที่สุด ก่อให้เกิดความได้เปรียบในการแข่งขัน อีกทั้งยังมีพฤติกรรมฝ่าฝืนกฎหมายเป็นการจำกัด และกีดกันการแข่งขันการให้บริการสื่อสารโทรคมนาคม ซึ่งจะส่งผลเสียหายต่ออุตสาหกรรมและผู้ประกอบการรายอื่น และในระยะยาวจะ สร้างความเสียหายต่อผู้บริโภคและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ อันเนื่องมาจากการแข่งขันที่ขาดความเป็นธรรมและโปร่งใส โดยระบุประเด็นสำคัญ 4 ข้อ คือ
เอไอเอส ได้รับการเอื้อประโยชน์ในการปรับส่วนแบ่งรายได้ Prepaid ซึ่งเป็นตลาดใหญ่มาก ลงเหลือเพียงร้อยละ 20 ตลอดอายุสัญญา ในขณะที่ผู้ประกอบการรายอื่นยังต้องจ่ายในอัตราร้อยละ 25 และขึ้นไปถึงอัตราร้อยละ 30 ในที่สุด ซึ่งทำให้ต้นทุนของ เอไอเอส ต่ำกว่าผู้ประกอบการเอกชนอื่นๆ และได้เปรียบทางการค้า ตลอดอายุสัญญาอนุญาตเป็นเงินประมาณ 8.5 หมื่นล้านบาท ถึง หนึ่งแสนล้านบาท
ประเด็นต่อไปก็คือ นอกจาก เอไอเอส จะจ่ายอัตราค่าตอบแทนส่วนแบ่งรายได้ในอัตราที่ต่ำกว่าผู้ประกอบการรายอื่นแล้ว เอไอเอส ยังได้ยกเว้นไม่ต้องจ่ายค่าเชื่อมโยงโครงข่ายโทรคมนาคม ในขณะที่ผู้ประกอบการรายอื่นต้องจ่าย ส่งผลให้ต้นทุนของผู้ประกอบการรายอื่นสูงกว่า เอไอเอส อย่างมาก (เกือบเท่าตัว) กรณีความได้เปรียบของ เอไอเอส จะเป็นอุปสรรค มิให้เกิดการแข่งขันเสรีและเป็นธรรม ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ
ด้วยเหตุดังกล่าวข้างต้นทำให้ต้นทุนของ เอไอเอส ต่ำกว่าผู้ประกอบการรายอื่น เอไอเอส สามารถใช้อำนาจครอบงำตลาด ด้วยการลดอัตราค่าบริการที่ต่ำกว่าต้นทุนที่เป็นจริง ทั้งๆ ที่ขัดต่อประกาศของ กทช. ที่ห้ามการกำหนดอัตราที่ก่อให้เกิดการผูกขาด การลดหรือจำกัดการแข่งขันในการให้บริการ หรือกดดันให้ผู้ประกอบการรายอื่น ไม่สามารถแข่งกับเอไอเอสได้ แม้ในช่วงแรกอาจจะทำให้ผู้บริโภคได้ใช้บริการในราคาถูก แต่ในระยะยาวผู้ประกอบการรายเล็กรายอื่นๆ จะไม่สามารถแข่งขันได้ และท้ายที่สุดจะเหลือเพียงผู้ประกอบการรายใหญ่รายเดียวคือ เอไอเอส ที่เป็นผู้ควบคุมกลไกของตลาดมือถือ ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคขาดทางเลือก และขาดการแข่งขันที่จะเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาและตอบสนองบริการที่ดีแก่ผู้บริโภค
ประเด็นสุดท้าย คือ กรณีการไม่ออกกฎเกณฑ์เรื่องการคงเลขหมายโทรคมนาคม หรือ Number Portability ซึ่งแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2548 — 2550 กทช. กำหนดเป้าหมายที่จะวางหลักเกณฑ์สิทธิการคงเลขหมายให้เสร็จสิ้นภายในปีนี้ เพื่อให้ประชาชนผู้ใช้บริการสามารถนำเลขหมายที่ตนใช้อยู่ไปใช้บริการโครงข่ายใดก็ได้ เป็นทางเลือกให้ประชาชน ประกอบกับเลขหมายถือเป็นทรัพยากรของชาติ ไม่ควรจำกัดผูกติดกับผู้ประกอบการรายใดรายหนึ่ง แต่ควรทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน แต่จนถึงปัจจุบันซึ่งเหลือระยะเวลาอีกเพียง 7 สัปดาห์ก็จะพ้นกำหนดเป้าหมายตามประกาศของ กทช. ดังกล่าว หากไม่สามารถทำได้ตามกำหนด ก็จะทำให้ เอไอเอส ได้เปรียบเนื่องจากเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่และมีฐานลูกค้ามากที่สุด สามารถหวงกันลูกค้าของตน เพราะลูกค้าไม่สามารถนำเลขหมายที่จดทะเบียนไว้ไปใช้กับผู้ให้บริการรายอื่น ซึ่งความล่าช้าในการออกหลักเกณฑ์กำกับดูแลดังกล่าว ส่งผลให้ เอไอเอส คงความได้เปรียบในการแข่งขันอย่างไม่เป็นธรรม และยังจำกัดทางเลือกของประชาชนผู้ใช้บริการ อีกด้วย
นายซิคเว่ เบรคเก้ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค กล่าวว่า “การแข่งขันที่มีลักษณะขัดแย้งต่อนโยบายการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม ทำให้เกิดความสูญเสียอย่างมหาศาลต่อ ทีโอที และโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อผู้บริโภค ซึ่งเป็นผู้ที่ควรได้รับประโยชน์จากการแข่งขันเสรี ดังนั้น เราคาดหวังว่า กทช. และ กระทรวงไอซีที จะดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อหยุดยั้งความไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน และเราพร้อมที่จะร่วมมือและให้ข้อมูลรายละเอียดอย่างเต็มที่”
นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู มูฟ จำกัด กล่าวว่า กรณีที่ เอไอเอส ซึ่งเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ที่สุด ยังคงความได้เปรียบผู้ประกอบการรายอื่นๆ เพราะมีต้นทุนที่ต่ำกว่าความเป็นจริง จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อการเปิดเสรีและเป็นธรรม ทำให้ผู้ประกอบการรายอื่นๆ ไม่สามารถแข่งขันได้ ซึ่งจะทำให้อุตสาหกรรมสื่อสารโทรคมนาคมต้องกลับไปสู่ระบบผูกขาด และผู้บริโภคขาดทางเลือก ยิ่งไปกว่านั้น ยังจะทำให้อุตสาหกรรมทั้งระบบขาดความโปร่งใส ตรวจสอบไม่ได้ ผู้ประกอบการมุ่งเน้นในการแสวงหาความได้เปรียบจากเงื่อนไขทางสัญญาและข้อบังคับที่ไม่เป็นธรรม แทนที่จะมุ่งเน้นการให้บริการและการสร้างนวัตกรรมบริการใหม่ๆ รวมทั้งการสร้างมูลค่าที่แท้จริงในการตอบสนองความต้องการและเป็นทางเลือกให้ผู้บริโภค เพื่อประโยชน์สูงสุดทั้งต่อผู้บริโภคและต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ที่สำคัญที่สุดก็คือผู้ประกอบการธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมทุกราย จะต้องอยู่บนพื้นฐานและภายใต้กติกาเดียวกัน เพื่อสร้างบรรยากาศการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรม โปร่งใส ตรวจสอบได้ มั่นใจว่าขณะนี้หมดยุคสมัยการเลือกปฏิบัติ การที่ทรูมูฟ และ ดีแทค ร่วมกันยื่นหนังสือถึง กทช. และสำเนาถึงท่านรัฐมนตรีไอซีที ก็เพื่อให้มีผู้เข้ามาดูแลและดำเนินการขจัดความเสียเปรียบได้เปรียบ ความเหลื่อมล้ำ รวมทั้งสร้างความเท่าเทียมในการแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการ ตลอดจนความชัดเจนเกี่ยวกับนโยบายการเปิดเสรีสื่อสารโทรคมนาคมที่เป็นธรรม ก่อนที่จะเกิดความเสียหายต่ออุตสาหกรรมโทรคมนาคม ซึ่งจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศในระยะยาว
“ความร่วมมือระหว่างดีแทคและทรูมูฟในครั้งนี้ เป็นการผนึกกำลังบนเป้าหมายและวัตถุประสงค์เดียวกัน คือต้องการจะเรียกร้องให้อุตสาหกรรมสื่อสารโทรคมนาคมไทย มีการแข่งขันอย่างเท่าเทียม เสรีและเป็นธรรม ซึ่งผู้ประกอบการทุกราย จะต้องดำเนินธุรกิจภายใต้กฎระเบียบเดียวกัน โดยไม่มีข้อยกเว้นหรืออภิสิทธิ์เหนือกว่า ทั้งนี้ เพื่อให้อุตสาหกรรมสื่อสารโทรคมนาคมสามารถพัฒนาและเติบโตก้าวทันตลาดโลก รวมทั้งเป็นทางเลือกแก่ประชาชนในอันที่จะได้รับการบริการตรงใจและได้ประโยชน์สูงสุด ซึ่งดีแทคและทรูมูฟจะต่อสู้จนถึงที่สุด เพื่อยุติความได้เปรียบเสียเปรียบที่ผ่านมาในอดีต ให้เกิดความโปร่งใสตรวจสอบได้ตลอดเวลา” นายซิคเว่และนายศุภชัยกล่าวในที่สุด
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่:
Media Relations Unit บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น
มัชฌิมา จันทร์สว่างภูวนะ โทร +66 (0) 22028000 อีเมลล์ matchima@dtac.co.th
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ กลุ่ม บริษัท ทรู อ้างอิง (178) 09/11/2006
พิมลพรรณ ศิริวงศ์วานงาม โทร +66 (0) 2699 2772 อีเมลล์ pimolpan_sir@truecorp.co.th
ศิษฎิ รูเบ็น โทร +66 (0) 2643 2463 อีเมลล์ sisadhi_reu@truecorp.co.th
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ