ITAP รับลูก ก.วิทย์ ทำแผนแม่บททางปัญญา ขยายเครือข่ายชุมชน สอดรับเศรษฐกิจพอเพียง

ข่าวเทคโนโลยี Monday November 13, 2006 14:14 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--13 พ.ย.--สวทช.
สวทช. ขานรับนโยบาย ก.วิทย์ ทำแผนแม่บทปัจจัยพื้นฐานทางปัญญาให้สอดคล้องกับแนวทาง ศก.พอเพียง พร้อมเดินหน้าจับมือหน่วยงานเกี่ยวข้องลงพื้นที่ สร้างความเข้าใจและเรียนรู้ร่วมกับชุมชน โดยผ่านกลไกที่มีอยู่และปราชญ์ชาวบ้าน กระตุ้นให้หันมาใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ถูกต้อง เหมาะสม สอดคล้องกับชุมชน เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีและเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิต เตรียมขยายเครือข่ายถ่ายทอดความรู้ มั่นใจ ITAP ชุมชนสร้างสิ่งดีให้ชีวิต
ภายหลังจากที่ ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ได้เสนอนโยบายของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ที่จะจัดทำแผนแม่บทปัจจัยพื้นฐานทางปัญญา โดยมีแนวทางที่ชัดเจนสอดคล้องกับแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงและการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนเพื่อให้ทันต่อการแข่งขันของโลก โดยจะเน้นทั้งระบบตั้งแต่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดย่อม ชุมชน และประชาชนระดับรากแก้ว ทั้งนี้ได้กำหนดว่าจะมีการผลักดันโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (ITAP) ระดับชุมชนให้เกิดขึ้น เพื่อสอดรับกับแนวนโยบายดังกล่าว
ศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ผู้กำกับดูแลโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (ITAP) เปิดเผยว่า จากแนวนโยบายของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ทาง สวทช. พร้อมที่จะดำเนินการได้ทันที เนื่องจากเดิม ITAP มีกิจกรรมที่เข้าสู่ชุมชนอยู่แล้วในระดับหนึ่ง ภายใต้ชื่อ ‘โครงการ CTAP (Community Technological Assistance Program)’ สำหรับนโยบายล่าสุดนี้คงต้องการให้ ITAP มีกิจกรรมที่เข้าไปใกล้ชิดกับชุมชนมากขึ้นโดยผ่านกลไกที่มีอยู่ไม่ว่าจะเป็น ศูนย์ศึกษาพัฒนาต่างๆ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนต่างๆ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
“หลักๆ ก็คือการเข้าไปเรียนรู้ร่วมกับชุมชนโดยทำให้เกิดการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่จะช่วยให้คนในชุมชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของภาคการเกษตร การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีให้เหมาะสมกับชุมชน เรียนรู้ว่าชุมชนต้องการอะไร แล้วนำสิ่งเหล่านั้นมาพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้เพื่อนำกลับไปใช้ในชุมชนได้จริง”
สำหรับกระบวนการทำงานนั้นจะมีความแตกต่างจากเดิมเล็กน้อย เนื่องจากชุมชนมีความหลากหลายและกว้างกว่า โดยจะเน้นการทำงานร่วมกับปราชญ์ชาวบ้าน และคนในพื้นที่ เนื่องจากมีความเข้าใจชุมชนเป็นอย่างดีอยู่แล้ว คนเหล่านี้จะเป็นตัวแทนของ สวทช. เป็นที่ปรึกษาที่ดีให้กับชุมชนในการบอกกล่าวชักชวนชาวบ้านให้หันมาเข้าใจ รู้จักเลือกใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้ถูกต้อง สอดคล้อง และเหมาะสมกับความต้องการของชุมชนมากขึ้น
ส่วนความคืบหน้าในการดำเนินงานนั้น ผอ.สวทช. กล่าวว่า ขณะนี้กำลังหารือกันถึงเรื่องกลไกที่จะปรับทิศทางในการทำงานให้เหมาะสมและสอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจพอเพียง โดยมีการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงาน อาทิ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งแต่ละหน่วยงานจะเข้ามามีบทบาทหลักในการผลักดันให้นโยบายดังกล่าวเดินหน้าและประสบผลสำเร็จ
นอกจากนี้ในส่วนของ สวทช. เองยังได้ร่วมมือกับศูนย์พัฒนาโครงการหลวง ศูนย์ภูฟ้าที่อำเภอบ่อเกลือ และอำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน โดยมีกลไกการทำงานร่วมกับชุมชนวิทยาศาสตร์ผ่านทางมหาวิทยาลัยในภูมิภาค เช่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ซึ่งเป็นเครือข่ายของ ITAP ที่มีอยู่แล้ว เราจะใช้เครือข่ายเหล่านี้ช่วยในการขยายเครือข่ายออกไปอีกโดยยึดหลักการทำงานเดิมคือการถ่ายทอดวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีลงไปในชุมชน
“บทบาทหลักของ ITAP ในการเข้าไปช่วยชุมชนนอกจากจะถ่ายทอดเรื่องของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแล้ว ยังจะร่วมส่งเสริมแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงด้วยการสนับสนุนงานโอทอปให้มีฐานด้านวิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้นแทนที่จะลอกเลียนแบบกันไปเรื่อยๆ หรือแค่ปรับรูปร่างหน้าตาเท่านั้น แต่เราจะหันมาพัฒนาผลิตภัณฑ์โอทอปให้เกิดความหลายหลาก คุณภาพดี เป็นที่ต้องการของตลาด โดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้”
ศ.ดร.ศักรินทร์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ทาง ITAP ได้ประสานงานโดยตรงกับกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรม โดยวางกลยุทธ์ระยะยาวไว้ คือ เพิ่มขีดความสามารถ และขยายเครือข่ายออกไปยังภูมิภาคเพื่อให้บริการทั่วถึงและลงลึกยิ่งขึ้นกว่าที่ผ่านมาที่เพียงแค่นำผู้เชี่ยวชาญไปช่วยให้คำปรึกษา แต่ตอนนี้เราจะนำการวิจัยและพัฒนาเข้าไปช่วยแก้ปัญหาด้วย ไปสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาแนวทางแก้ปัญหาเพิ่มเติมมากกว่าแค่การใช้เทคโนโลยีที่รู้ ฉะนั้นจาก ITAP ก็จะเปลี่ยนเป็น IRAP (Industrial Research Assistance Program) คือการนำการวิจัยแก้ปัญหาเข้าไปช่วยเพื่อเพิ่มมูลค่ายิ่งขึ้น แต่ต้องค่อยๆ ทำ เปลี่ยนจากการใช้แรงงานไปเป็นการใช้ความชำนาญและการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เรื่อยไปจนถึงการใช้การวิจัยและพัฒนาเป็นลำดับ หน้าที่ของเราก็คือพยายามขยายให้แต่ละขั้นตอนเพิ่มขึ้นๆ เมื่อไปถึงขั้นของการพัฒนาความรู้หรือขั้นการวิจัยแล้วก็จะเริ่มเป็นสังคมทางความรู้มากขึ้น เมื่อเป็นเช่นนี้ทุกอย่างก็จะลงตัวและสามารถเดินไปได้เองอย่างต่อเนื่อง คนในชุมชนจะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นในระยะยาวบนพื้นฐานของเศรษฐกิจพอเพียง
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ