กรุงเทพฯ--18 พ.ย.--สสวท.
การก่อตัวของเมฆ การเกิดพายุ การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ เช่น ภาวะโลกร้อน การเกิดพายุ
เฮอริเคน ปรากฎการณ์เอนนิโย่และลานินย่า ส่งผลต่อเราอย่างไร
แล้วเมฆบอกอะไรแก่เราได้บ้าง ? ….
"เมฆ" ซึ่งเกิดจากละอองน้ำบนฟ้ารวมตัวกันอย่างหนาแน่นนั้น ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่รุนแรงต่อโลก การเปลี่ยนแปลงของเมฆเพียงเล็กน้อยจึงส่งผลต่อสภาพอากาศมากกว่าก๊าซเรือนกระจกเสียอีก
ดร. พรพรรณ ไวทยางกูร รองผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ซึ่งกำกับดูแลโครงการGLOBE (Global Learning and Observations to Benefit the Environment) ประเทศไทย เปิดเผยว่า เมื่อวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พบว่า เมฆเป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่งต่อสภาพภูมิอากาศและระบบภูมิอากาศ ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของวัฎจักรน้ำ จากอากาศสู่พื้นดินของทั้งโลก เมฆยังส่งผลต่อการแลกเปลี่ยนพลังงานความร้อนและพลังงานแสงอาทิตย์ระหว่างบรรยากาศ พื้นผิวดิน วัฎจักรของน้ำ และสิ่งมีชีวิต ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงของเมฆเพียงเล็กน้อยจึงส่งผลต่อสภาพอากาศมากกว่าก๊าซเรือนกระจก หรือละอองอากาศ
“การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่เกิดจากเมฆอาจส่งผลทั้งในทางบวกและในทางลบขึ้นอยู่กับกระบวนการที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นนักวิทยาศาสตร์จึงมีความเชื่อว่าความถูกต้องของการทำนายหรือทำแบบจำลองสภาพภูมิอากาศนั้นขึ้นกับเมฆและคุณสมบัติการแผ่รังสีของเมฆอย่างมาก”
เมื่อเดือนพฤษภาคม ปี พ.ศ. 2549 องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (NASA) ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ส่งดาวเทียมคลาวด์แซต (CloudSat) ขึ้นไปทำการตรวจวัดคุณสมบัติของเมฆ ได้แก่
ความหนาแน่นและการกระจายตัวของเมฆในแนวดิ่ง โครงสร้าง และการกระจายของรังสีความร้อน
เพื่อศึกษาทำความเข้าใจสภาพภูมิอากาศ เรดาห์ของ CloudSat นั้นสามารถที่จะจับอนุภาคน้ำขนาดเล็กมาก
ซึ่งส่งผลอย่างมากต่อสภาพภูมิอากาศได้ และมีความละเอียดสูงกว่าเรดาร์ธรรมดาถึง 1000 เท่า ซึ่ง NASA
ได้เปิดโอกาสให้โรงเรียนทั่วโลก ได้มีส่วนร่วมในการทำงานและเรียนรู้ร่วมกับกับทีมงานนักวิทยาศาสตร์และนักการศึกษาของ CloudSat โดยมีเป้าหมายให้นักเรียนมีความรู้เรื่องการก่อตัวของเมฆ การเกิดพายุ การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ เช่น ภาวะโลกร้อน การเกิดพายุเฮอริเคน ปรากฎการณ์เอนนิโย่และลานินย่า เป็นต้น
โดยในประเทศไทยนั้นโครงการ GLOBE สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เห็นว่าเป็นโครงการที่ดีและมีประโยชน์ต่อนักเรียนและอาจารย์ในแต่ละโรงเรียน จึงได้เข้าร่วมเป็นเครือข่ายโครงการดาวเทียม CloudSat เป็นปีที่ 2 แล้ว โดยมี ผศ. ดร. กฤษณะเดช เจริญสุธาสินี อาจารย์จากหน่วยวิจัยระบบเชิงซ้อน สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นหัวหน้าโครงการและนักวิทยาศาสตร์ที่ปรึกษาโครงการ CloudSat
โดยล่าสุด สสวท. และมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จึงได้ร่วมกันจัดการอบรมเกี่ยวกับโครงการพัฒนาการเรียนการสอนแบบเน้นการวิจัยผ่านเครือข่ายการศึกษาดาวเทียม CloudSat เมื่อวันที่ 3-5 พฤศจิกายน 2551 ที่ผ่านมาณ สสวท. หลังท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ ฯ โดยมีนักวิทยาศาสตร์จากองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (NASA) และนักวิทยาศาสตร์โครงการ GLOBE ประเทศไทยเป็นวิทยากร ให้การอบรมแก่นักเรียนและอาจารย์จากโรงเรียนต่างๆที่อยู่ในเครือข่ายของโครงการ GLOBE ซึ่งมีโรงเรียนที่เข้าร่วมทั้งหมด 21 โรงเรียน
โครงการ CloudSat จัดการอบรมขึ้นครั้งนี้เพื่อต้องการจะให้ความรู้แก่นักเรียนและคณะอาจารย์เกี่ยวกับเรื่องเมฆและการเก็บข้อมูลต่างๆเกี่ยวกับอากาศ สภาพอากาศและนำข้อมูลมาเปรียบเทียบกับภาพถ่ายดาวเทียม ซึ่งทางคณะทำงานของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ก็ได้เสริมกิจกรรมการเรียนรู้พื้นฐานเกี่ยวกับฟิสิกส์ เคมีและคณิตศาสตร์เข้าไปกับกิจกรรมการเรียนรู้ต่างๆ ด้วย เพื่อเป็นการบูรณาการเข้าด้วยกันระหว่างวิทยาศาสตร์กับวิชาอื่นๆ พร้อมทั้งอบรมการเขียนโครงร่างงานวิจัย เพื่อต้องการให้นักเรียนและอาจารย์แต่ละโรงเรียนเขียนโครงการวิจัยเข้ามาขอทุนในการสนับสนุนการทำโครงการวิจัยปัจจุบันจะเห็นได้ว่าภูมิอากาศของประเทศไทยนั้นมีการเปลี่ยนแปลงไปไม่ว่า การเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง หรือภาวะภัยแล้วที่ยาวนานขึ้น
ภายในงานได้มีการนำเสนอผลงานวิจัยของนักเรียนเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศภายใต้ โครงการ CloudSat ของโรงเรียนต่าง ๆ จำนวน 10 แห่ง อาทิ เด็กชายสรวิช อุจจาภิมุข และเด็กหญิงอัญชิสา
อุจจาภิมุข โรงเรียนธัมมสิริศึกษาสัตหีบ จ.ชลบุรี เจ้าของผลงานการศึกษาความเร็วลม ทิศทางลม และชนิดของเมฆ ณ โรงเรียนธัมมสิริศึกษาสัตหีบ กล่าวถึงความคิดที่ทำให้เกิดการศึกษาวิจัยนี้ว่า เห็นว่าโครงการ GLOBE ยังไม่มีการเก็บข้อมูลความลม และละอองไอน้ำ ซึ่งเป็นปัจจัยในการเกิดเมฆ จึงอยากรู้ว่าสิ่งที่ศึกษา มีผลต่อการเกิดเมฆหรือเปล่า เมื่อเก็บข้อมูลเป็นระยะเวลายาวนานกว่านี้ จะสามารถนำผลการวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้คำนวณหรือคาดคะเนสภาพภูมิอากาศล่วงหน้าได้ ซึ่งในอนาคตอยากจะเก็บข้อมูลที่ศึกษาต่อในระยะยาว และศึกษาตัวแปรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป
เด็กหญิงบวรสิริ กำเนิดเมือง เด็กหญิงพิชญา ไชยจังหรีด โรงเรียนจตุคามวิทยาคม จ. นครราชสีมา ซึ่งได้ศึกษาความชื้น อุณหภูมิ และเมฆที่มีผลต่อการงอกของเห็ดโคน โดยทั้งสองเล่าว่า ป่าแถวโรงเรียนช่วงหน้าฝนมีเห็ดมากมาย เห็นโคนนั้นก็มีมาก จึงได้สนใจศึกษาเรื่องนี้โดยมีลุงวัน ซึ่งเป็นวิทยากรพื้นบ้านให้ความรู้เกี่ยวกับเห็ดโคน โดยพบว่า จะพบเห็ดโคนแน่ ๆ ถ้าอากาศมีความชื้นสัมพัทธ์สูง ปริมาณน้ำฝนสูง และแถวนั้นมีรังปลวก
นายกัมปนาท ไชยรัตน์ และ นายสุกลพัฒน์ วงศ์พิมล โรงเรียนร้อยเอ็ดวิทยาลัย จ. ร้อยเอ็ด ได้ศึกษาเปรียบเทียบข้อมูลเมฆและข้อมูลอากาศระหว่างโรงเรียนร้อยเอ็ดวิทยาลัย และโรงเรียนชุมชนบ้านบางโหนด จ.นครศรีธรรมราช เล่าว่า เนื่องจากอยากทราบว่าภาคอีสานกับทางใต้นั้นมีสภาพอากาศต่างกันอย่างไรจึงได้นำข้อมูลมาแลกเปลี่ยนกันให้เกิดประโยชน์ ซึ่งจะช่วยฝึกทักษะทางวิทยาศาสตร์ และฝึกการวิเคราะห์ข้อมูล
ส่วนโรงเรียนอื่น ๆ ที่มานำเสนอผลงาน ได้แก่ โรงเรียนวัดโป่งก้อนเส้า จ.นครราชสีมา ศึกษาชนิดของเมฆและเมฆปกคลุม ณ โรงเรียนวัดโป่งก้อนเส้า และโรงเรียนบ้านบางโหนด โรงเรียนจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัยตรัง จ. ตรัง ทำการเปรียบเทียบชนิดของเมฆจากการสังเกตภาคสนามและข้อมูล CloudSat ณ โรงเรียนจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัยตรัง โรงเรียนบ้านสุขสำราญ จ.ระนอง ศึกษาชนิดเมฆ ปริมาณน้ำฝน และความชื้นสัมพันธ์ที่มีผลต่อจำนวนลูกน้ำยุง ณ โรงเรียนบ้านสุขสำราญ โรงเรียนมัธยมวานรนิวาศ จ.สกลนคร ศึกษาอุณหภูมิ ความชื้นสัมพัทธ์ ชนิดของเมฆและเมฆปกคลุมที่มีผลต่อการร่วงของใบและการออกดอกของต้นราชพฤกษ์ในโรงเรียนมัธยมวานรนิวาศ โรงเรียนดาราวิทยาลัย จ.เชียงใหม่ ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณน้ำฝน, ชนิดของเมฆและเมฆปกคลุมจากข้อมูล CloudSat ณ โรงเรียนดาราวิทยาลัย โรงเรียนวัดฉัตรแก้วจงกลนี กทม . ศึกษาแบบจำลองความสัมพันธ์ระหว่างอุณหภูมิสูงสุด/ต่ำสุด กับการเกิดเมฆที่กรุงเทพมหานคร โรงเรียนชุมชนบ้านบางโหนด จ.นครศรีธรรมราช การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่าง
ข้อมูลชนิดเมฆและข้อมูลปริมาณเมฆปกคลุม ต่อปริมาณรังสียูวีภายในบริเวณโรงเรียนชุมชนบ้านบางโหนด จังหวัดนครศรีธรรมราช
ทั้งนี้ ดร. แมทท์ โรเจอร์ นักวิทยาศาสตร์ในโครงการดาวเทียมคลาวด์แซต (CloudSat) ขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (NASA) ซึ่งได้เดินทางมาประเทศไทยเพื่อเป็นวิทยากรและรับฟังการนำเสนอผลงานของนักเรียนในกิจกรรมครั้งนี้ กล่าวแก่นักเรียนว่า โครงการ CloudSat เป็นการศึกษา
เรื่องการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Climate Change) และทำความเข้าใจ สิ่งที่สัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ โดยศึกษาเฉพาะวัฎจักรของน้ำในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเมฆ ซึ่ง NASA นั้นมีโรงเรียนที่เป็นเครือข่ายการศึกษาดาวเทียมคลาวด์แซต (CloudSat Educaton Network: CEN) จากทั่วโลก 88 โรงเรียน ซึ่งเก็บข้อมูลสภาพอากาศในพื้นที่ แล้วเปรียบกับข้อมูลของดาวเทียม จากนั้น NASA จะนำข้อมูลเกี่ยวกับสภาพอากาศของแต่ละพื้นที่ไปสร้างแบบจำลองภูมิอากาศของโลก
“งานวิจัยของนักเรียนไทยและเด็ก ๆ ในโครงการ CloudSat ทำได้น่าสนใจจริง ๆ ทั้งนักเรียนไทย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย ถือเป็นโอกาสดีที่นักวิทยาศาสตร์ได้เรียนรู้จากการทำงานของเด็ก ๆ
ในขณะที่นักเรียนก็ได้เรียนรู้และเข้าใจวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจากโครงการ CloudSat ด้วย
CloudSat เป็นดาวเทียมที่ศึกษาระบบน้ำของโลกอันสัมพันธืกับการเกิดเมฆ ช่วยให้เราเข้าใจผลกระทบ
จากภาวะโลกร้อน เพราะเมฆได้รับผลกระทบโดยตรงจากปัญหานี้ และจากมลภาวะสิ่งแวดล้อม เป็นการเรียนรู้และทำความเข้าใจและต่อสู้ป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นแก่โลก ข้อมูลของนักเรียนเป็นประโยชน์ต่อนักวิทยาศาสตร์มากในการคาดคะเนสภาพแวดล้อมในอนาคต ผมภูมิใจในผลงานของพวกเขาจริง ๆ ”
ดร แมทท์กล่าว
สื่อมวลชนสามารถดาวน์โหลดข้อมูลพร้อมไฟล์ภาพบทความได้ในเว็บไซต์ www.ipst.ac.th
หรืออีเมล์มาขอไฟล์ได้ที่ schan@ipst.ac.th โทร 2 2712 3604 (สินีนาฎ)