วิกฤตการเงินโลกป่วนอุตฯ อาหารไทย คาดปี 52 ส่งออกมูลค่า 7.6 แสนล้านบาท ลดลงร้อยละ 5

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 18, 2008 17:09 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 พ.ย.--โปรคอมมิวนิเคชั่นส์ แอนด์ คอนซัลแตนท์ 3 องค์กรเศรษฐกิจชี้ปี 2552 ภาพรวมส่งออกสินค้าอาหารไทยไม่สดใส แนวโน้มลดลง ร้อยละ 5 มูลค่า 7.6 แสนล้านบาท เหตุต้องเผชิญวิกฤตการเงิน เศรษฐกิจโลกส่อเค้าทรุดหนัก สหรัฐยุโรป ญี่ปุ่น ประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยล่าสุดโดน IMF ปรับลดการขยายตัวของเศรษฐกิจเหลือ ร้อยละ -0.7, -0.5 และ -0.2 ตามลำดับ กำลังซื้อถดถอยส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปยังตลาดรองอย่าง สิงคโปร์ ฮ่องกง ไต้หวัน และเกาหลีใต้ ส่วนจีนถูกพ่วงปัญหาความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยอาหารเข้าไปด้วย คาดการค้าอาหารโลกปีหน้าชะลอตัวลง เกิดการขาดแคลนเงินทุนหมุนเวียน ต้นทุนการผลิตปรับตัวสูงขึ้น กำลังซื้อของผู้บริโภคในตลาดโลกขณะนี้และอีก 1-2 ปีข้างหน้าจะอ่อนแอลงอย่างสิ้นเชิง แต่สินค้าอาหารสำเร็จรูปและอาหารกระป๋องจะได้รับความนิยมและขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เช่น ไก่แปรรูป ทูน่ากระป๋อง ปลากระป๋องและแปรรูป ผักและผลไม้กระป๋อง เครื่องเทศ เครื่องปรุงรส เป็นต้น ขณะที่กลุ่มสินค้าวัตถุดิบเกษตรอาหาร เช่น ข้าว จะมีปริมาณและราคาส่งออกลดลง ส่วน มันสำปะหลัง และน้ำมันปาล์ม มีปริมาณส่งออกเพิ่มขึ้นแต่ราคาโดยเฉลี่ยลดต่ำลง 18 พฤศจิกายน 2551/โรงแรมสยามซิตี้ : การแถลงข่าวร่วม 3 องค์กร โดยสภาอุตสาหกรรม แห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสถาบันอาหาร เรื่อง “วิกฤตการเงินโลกผลกระทบต่อเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมอาหารไทย” มีตัวแทนหลักของทั้ง 3 องค์กร ประกอบด้วย ดร.ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร นายไพบูลย์ พลสุวรรณา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และนายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล ประธานคณะกรรมการธุรกิจเกษตรและอาหาร สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ร่วมให้รายละเอียดและรายงานสถานการณ์ที่เกิดขึ้นว่า ดร.ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวว่า ในการประสานความร่วมมือของ 3 องค์กร ในส่วนของสถาบันอาหารจะทำหน้าที่เป็นองค์กรในการรวบรวมข้อมูลจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องภายใต้การดำเนินงานของศูนย์อัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร หรือ Food Intelligence Center เพื่อเผยแพร่ข้อมูลภาวะอุตสาหกรรมธุรกิจเกษตรและอาหารทั้งในปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต จากวิกฤตการเงินที่เกิดขึ้นทั่วโลกจะทำให้สภาพคล่องภายในประเทศเริ่มตึงตัว สถาบันการเงินจะเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารขนาดกลางและขนาดเล็ก(SME) น่าจะประสบปัญหาขาดสภาพคล่องและมีเงินทุนหมุนเวียนลดลง ซึ่งเป็นกลุ่มแรกที่จะได้รับผลกระทบ อาจมีการใช้มาตรการต่างๆ มาช่วยลดต้นทุนการผลิต รวมทั้งการยกเลิกการจ้างงาน ขณะที่การลงทุนใหม่ๆมีน้อยลง ขณะที่เกษตรกรซึ่งเป็นต้นน้ำของอุตสาหกรรมอาหารจะได้รับผลกระทบ จากราคาสินค้าวัตถุดิบภาคเกษตรมีแนวโน้มลดต่ำลง ผลผลิตสินค้าเกษตรบางชนิดอาจเกิดภาวะล้นตลาดได้ การส่งออกสินค้าอาหารของไทยไปยังสหรัฐฯ น่าจะได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ เนื่องจากปัจจุบันสินค้าอาหารของไทยพึ่งพิงตลาดสหรัฐฯ ในการส่งออกร้อยละ 15.5 ของการส่งออกทั้งหมด คิดเป็นมูลค่าส่งออก 95,978 ล้านบาท โดยกลุ่มผลิตภัณฑ์ประมงและผลไม้พึ่งพาตลาดสหรัฐฯสูงที่สุด คือร้อยละ 31.6 และ 29.4 ของการส่งออกอาหารทั้งหมดในแต่ละกลุ่มตามลำดับ ซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมอาหารในกลุ่มดังกล่าว มีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯมากกว่าอุตสาหกรรมอาหาร กลุ่มอื่นๆ ดร.ยุทธศักดิ์ กล่าวต่อว่า จากแนวโน้มดังกล่าว ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งผู้ผลิตในอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าอาหารของไทยต้องทำความเข้าใจในกฎเกณฑ์การนำเข้าของประเทศคู่ค้าต่างๆ ทั้งที่เป็นมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี หรือเป็นการปกป้องผู้ผลิตและผู้บริโภคในประเทศ รวมทั้งต้องรักษาภาพลักษณ์ของสินค้าที่มีมาตรฐานด้านสุขอนามัยในกระบวนการผลิตอย่างเป็นองค์รวม นอกจากนี้ภาครัฐและเอกชนต้องร่วมมือกันในการทำการตลาดเชิงรุกในประเทศที่พึ่งพาการนำเข้าอาหารสูง อาทิ ญี่ปุ่น หรืออาเซียน เพื่อรักษาและเพิ่มสัดส่วนทางการตลาดจากการที่ประเทศจีนซึ่งเป็นผู้ผลิตสินค้าอาหารประสบภาวะปัญหาคุณภาพอาหาร และภาคเอกชนผู้ส่งออกต้องใช้สิทธิประโยชน์จากความร่วมมือที่มีอยู่จากกรอบการค้าเสรี (FTA) อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะกรอบการค้าเสรี ไทย-ญี่ปุ่น(JTEPA) เพื่อจะสามารถลดต้นทุนจากภาษีและลดขั้นตอนความยุ่งยากของการเจาะตลาดนั้นๆ โดยสรุปอุตสาหกรรมอาหารของไทยควรมีแนวทางการรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจโลกดังนี้ 1. Market Diversification เพื่อลดความเสียงจากการพึ่งพาตลาดหลักที่ปัจจุบันมีการแข่งขันที่รุนแรง 2. Productivity Improvement and Capacity Building เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพการผลิต 3. Safety Assurance เพื่อสร้างความเข้มแข็งด้านคุณภาพและอาหารปลอดภัยในกระบวนการผลิต 4. International Marketing เพื่อเจาะตลาดและสร้างความมั่นใจให้กับประเทศคู่ค้า สำหรับภาพรวมอุตสาหกรรมอาหารของไทย 9 เดือนแรกของปี 2551 เติบโตต่อเนื่อง การส่งออกมีมูลค่า 599,090 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 34.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตามในช่วงไตรมาส 3/2551 อุตสาหกรรมอาหารไทยได้รับผลกระทบบ้างจากการบริโภคภายในประเทศที่ชะลอตัวลง เนื่องจากภาวะเงินเฟ้อ และสถานการณ์บ้านเมืองที่ไม่สงบ ขณะที่ภาคการผลิตประสบปัญหาต้นทุนสินค้าที่สูงขึ้นจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงต้นไตรมาส รวมทั้งวิกฤตการเงินในสหรัฐฯ ที่เริ่มลุกลามไปทั่วโลก ส่งผลให้ภาคการผลิตในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมาขยายตัวเพียงร้อยละ 1.2 แนวโน้มการส่งออกอาหารของไทยไตรมาส 4/2551 คาดการณ์ว่าจะมีมูลค่าประมาณ 2 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 17 ซึ่งเป็นอัตราขยายตัวที่ลดลงเมื่อเทียบกับที่ขยายตัวร้อยละ 47.2 ในไตรมาสที่แล้ว อย่างไรก็ตามคาดว่ามูลค่าการส่งออกโดยรวมตลอดปี 2551 ไม่น่าจะต่ำกว่า 8 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 30 จากปี 2550 โดยในปี 2552 ประเมินว่าการส่งออกอาหารจะมีมูลค่าประมาณ 7.6 แสนล้านบาท ลดลง ร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับมูลค่าการส่งออกอุตสาหกรรมอาหารในปี 2551 อย่างไรก็ตามหากไม่รวมการส่งออกข้าว การส่งออกสินค้าอาหารจะยังสามารถขยายตัวได้ในอัตราประมาณร้อยละ 7.6 ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ : บริษัท โปรคอมมิวนิเคชั่นส์ แอนด์ คอนซัลแตนท์ จำกัด สุขกมล งามสม โทร. 089 484 9894, 02 158 9416-8

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ