กรุงเทพฯ--20 พ.ย.--สสวท.
ปัจจุบันนี้ชีวิตคนเรา เหมือนกับดำรงอยู่ในโลก 2 สถานะ คือโลกเสมือนจริงและโลกแห่งความเป็นจริง ซึ่งโลกเสมือนจริงค่อย ๆ รุกคืบและซ้อนทับโลกแห่งความเป็นจริงเข้ามาเรื่อย ๆ และกำลังมีบทบาทอย่างมากในยุคที่ ICT แพร่หลายอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็น ด้านการศึกษา การซื้อขายแลกเปลี่ยน การให้คำปรึกษา การพูดคุยคบเพื่อน
เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ได้มีการจัดงาน “ไอซีทีเพื่อการศึกษาไทย (ICTEd 2008)” ณ ห้องประชุมอาคารสารนิเทศ 50 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งจัดโดย สำนักบริการคอมพิวเตอร์ ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ซึ่งมุ่งประเด็นหลักเกี่ยวกับ “การจัดการเรียนรู้ 2 สถานะ” (Dual Mode)
ทั้งนี้ การเรียนรู้ 2 สถานะ หมายถึง การจัดการให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ 2 วิธี คือ สถานะจริง (Real mode) และสถานะเสมือนจริง (Virtual Mode) การเรียนรู้จากสถานะจริง เช่น ครูอาจารย์สอนผู้เรียนโดยตรงในห้องเรียน มีการปฏิสัมพันธ์กัน ถ่ายทอดความรู้ต่อกันและกันโดยตรง
ส่วนการเรียนจากสถานะเสมือนจริง ผู้เรียนไม่ต้องมาเข้าห้องเรียน สามารถเรียนที่ไหนก็ได้ เวลาใดก็ได้ โดยครูอาจารย์ จะเป็นผู้จัดทำสื่อการสอนด้วยนวัตกรรมที่หลากหลาย ส่งผ่านช่องทางการสื่อสารไปยังผู้เรียน
รศ. ยืน ภู่วรวรรณ ผู้อำนวยการสำนักบริการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า การจัดการเรียน 2 สถานะมีข้อดีคือ มีความยืดหยุ่นทั้งเวลาและสถานที่ เป็นการเรียนรู้แบบทำงานร่วมกันระหว่างอาจารย์กับผู้เรียนโดยไม่จำกัดสภาพภูมิศาสตร์ นิสิตเรียนอย่างกระตือรือร้น เรียนแบบแสวงหา Virtually และไม่จำกัดขอบเขตของข่าวสาร ผู้เรียนช่วยกำหนดผลลัพธ์ และการคาดหวัง
อาจารย์คอยแนะนำ เป็นที่ปรึกษา ยืดหยุ่นให้ผู้เรียนเรียนด้วยตนเองหรือเป็นทีมทำให้มหาวิทยาลัยเป็น
ประตูสู่โลกกว้าง และมีการประเมินเป็นรายบุคคล ใช้ Portfolio รูปแบบการจัดการเรียน 2 สถานะ จะต้องมีเครือข่ายและการโทรคมนาคมเป็นสื่อกลาง ระหว่างข้อมูลข่าวสารและสารสนเทศ นักศึกษา อาจารย์และบุคลากร ความรู้และปัญญา คอมพิวเตอร์และการประมวลผล นักศึกษาในมหาวิทยาลัยจะได้รับความรู้
จากวิธีการจัดการเรียนการสอนต่างๆ แตกต่างกันไป
“หากโรงเรียนและครูต้องการจัดการเรียนการในสถานะเสมือนจริงควบคู่ไปกับสถานะจริง ด้วยนั้น ครูจะต้องรู้จักการสร้างบทเรียนอิเลคทรอนิกส์ (e-learning) และสื่อการสอนอิเล็กทรอนิกส์(e-media) จากโปรแกรมคอมพิวเตอร์ต่างๆ ให้สอดคล้องกับหลักสูตรและแผนการสอนของตนเอง เป็นที่น่าสนใจต่อเด็ก แล้วผลิตออกมาในรูปแบบของ CD, DVD หรือ File สำหรับนำเสนอ สามารถนำไปใช้ได้ทั้งระบบออพไลน์ และออนไลน์ เพื่อให้นักเรียนสามารถเข้ามาเรียนรู้ได้ตามระยะเวลาที่กำหนด และต้องสามารถให้นักเรียนทบทวนบทเรียนได้เมื่อต้องการโดยไม่จำกัดสถานที่และเวลา
นอกจากนั้นโรงเรียนต้องจัดให้มีอุปกรณ์และเครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่สามารถจะเปิด e-learning และ e-media ทั้งในระบบออฟไลน์และออนไลน์ได้ มีการจัดการบริหารระบบให้สามารถสนองตอบความต้องการได้อย่างมีประสิทธิภาพ และที่สำคัญต้องมีคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์มัลติมีเดียให้เพียงพอต่อการจัดการเรียนการสอนในแต่ละครั้ง โรงเรียนต้องวางแผนการจัดตารางสอนและการใช้ห้องคอมพิวเตอร์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์จริง รวมทั้งมีรูปแบบการประเมินผลนักเรียนที่เชื่อถือได้จากการเรียนการในสถานะเสมือนจริง โรงเรียนและคุณครูสามารถใช้เครื่องมือต่างๆ ที่มีอยู่แล้วใน Virtual World มาประยุกต์ใช้ในการเรียนรู้ของเด็กในสถานะเสมือนจริงได้ อาทิ Hi5, Facebook, Blog , MSN, ICQ, Wikipedia, You tube, Second life หรือการสร้าง Avatar เป็นต้น” รศ. ยืนกล่าว
ในส่วนของ สสวท. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่พัฒนาการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี ก็ได้ดำเนินงานหลายอย่างเพื่อรองรับการเรียนรู้ในโลก 2 สถานะนี้เช่นกัน โดย อาจารย์นารี วงศ์สิโรจน์กุล รักษาการแทนผู้อำนวยการ สสวท. ได้กล่าวถึงบทบาทของ สสวท. ในการส่งเสริมการเรียนรู้ 2 สถานะ เพื่อครูและนักเรียนไทยว่า บทบาทของ สสวท. ในการส่งเสริมการเรียนรู้ 2 สถานะ เพื่อครูและนักเรียนไทยประกอบด้วยภารกิจหลักอยู่ 7 ส่วน ได้แก่
สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อการเรียนรู้และอุปกรณ์การเรียนรู้ กระบวนการเรียนรู้ แหล่งเรียนรู้ การพัฒนาครู การประเมินการศึกษาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี และการสร้างความตระหนักทางวิทยาศาสตร์ การจัดทำสื่อสิ่งพิมพ์ เช่น นิตยสาร สสวท. ได้จัดทำทั้งในสถานะจริงคือจัดทำเป็นสิ่งพิมพ์รูปเล่ม และสถานะเสมือน คือสิ่งพิมพ์ออนไลน์ สามารถเข้าชมได้ในเว็บไซต์
ในส่วนของ สื่อการเรียนรู้/อุปกรณ์ สถานะจริง เช่น หนังสือเรียน คู่มือครู อุปกรณ์ในการทดลอง ชุดหุ่นยนต์ ส่วนสถานะเสมือน เป็นการจัดทำสื่อในรูปแบบดิจิทัลซึ่งสมารถแสดงได้ทางคอมพิวเตอร์ทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ เช่น Virtual Exibition Learnimg Object VDO CLIP หุ่นยนต์เสมือน(ROboCode) E-Book E-Learning Handheld GSP ยกตัวอย่างเช่น E-Book หรือหนังสือเรียนออนไลน์ “เรื่องราวของใบเตย” ที่ให้นักเรียนระดับประถมศึกษาได้เรียนรู้เรื่องข้อมูล
การส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ สถานะจริง เช่น การส่งเสริมการเรียนรู้โดยใช้กระบวนการ 5 Es ส่วนในสถานะเสมือน เช่น โครงการห้องเรียนเครือข่าย การจัดทำรายการโทรทัศน์เพื่อการศึกษา เครือข่ายสารสนเทศดาราศาสตร์แหล่งเรียนรู้ สถานะจริง เช่น ศูนย์การเรียนรู้โลกทั้งระบบ จ. เชียงราย ศูนย์การเรียนรู้ป่าชายเลน จ. สุราษฏร์ธานี ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์ทางทะเล จ. ชลบุรี ศูนย์การเรียนรู้สัตว์โลกล้านปี จ. กาฬสินธุ์ ศูนย์ศึกษาธรรมชาติโป่งก้อนเส้า จ.สระบุรี ศูนย์ฝึกอบรมคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ค่ายพระราม 6 จ.เพชรบุรี ส่วนสถานะเสมือน เช่น โครงการ Virtual Field Trip นำร่องที่ โรงเรียนสตรีศรีสุริโยทัย โรงเรียนสุราษฏร์พิทยา ร่วมกับประเทศนิวซีแลนด์ เว็บไซต์เครือข่าย สสวท. เช่น วิชาการดอทคอม ไทยกู๊ดวิว เครือข่ายสารสนเทศดาราศาสตร์
(หอดูดาวออนไลน์)
การพัฒนาครู สถานะจริง เช่น โครงการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาเพื่อยกระดับคุณภาพการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี หลักสูตรกลาง การพัฒนาครูในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจชายแดนใต้ การพัฒนาครูในท้องถิ่นทุรกันดาร การจัดประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์ในโรงเรียน (วทร.) สถานะเสมือน เช่น การอบรมทางไกลผ่านดาวเทียม การอบรมผ่านเว็บไซต์ การศึกษาด้วยตนเองแบบออนไลน์ ระบบสารสนเทศออนไลน์ของ สสวท.
การประเมินการศึกษาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี สถานะจริง เช่น การประเมินตามสภาพจริง การประเมินในห้องเรียน การประเมินผลนักเรียนระดับนานาชาติ (OECD/PISA) สถานะเสมือน เช่น ระบบการทดสอบออนไลน์ การประเมินทางคอมพิวเตอร์
โดยใช้ซอฟท์แวร์ที่ สสวท. พัฒนาขึ้น
การสร้างความตระหนักทางวิทยาศาสตร์ สถานะจริง เช่น การจัดเทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เพื่อการเรียนรู้ การจัดแสดงละครวิทยาศาสตร์ การจัดประกวดภาพถ่ายดิจิทัลเพื่อการศึกษา การประกวดโครงงานคอมพิวเตอร์ ซอฟท์แวร์ การแข่งขันเขียนโปรแกรมควบคุมหุ่นยนต์ นิทรรศการเผยแพร่ความรู้ทั้งใน กทม. และนิทรรศการสัญจรต่างจังหวัด การศึกษาสิ่งแวดล้อมผ่านโครงการ GLOBE รายการโทรทัศน์พลังคิด และวิทยาศาสตร์รอบตัว สถานะเสมือน เช่น สื่อดิจิทัลของ สสวท. ในวิชาต่าง ๆ แหล่งเรียนรู้ทางเว็บไซต์
ทั้งนี้ ดร. พรพรรณ ไวทยางกูร รองผู้อำนวยการ สสวท. ได้กล่าวในเรื่องนี้ว่า การเรียนรู้ที่เชื่อมโยงกับโลกภายนอกเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ การเรียนรู้ที่จะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี ไม่ใช่เพียงการเรียนรู้ที่จะใช้งานคอมพิวเตอร์อย่างมีประสิทธิภาพเท่านั้น แต่เป็นการเรียนรู้ที่จะใช้ประโยชน์จากสารสนเทศ และสื่อต่าง ๆ ซึ่งต้องมีความรู้ ความสามารถ เข้าถึง จัดการ วิเคราะห์ ประเมิน และสร้าง ความรู้ ในหลากหลายรูปแบบ สามารถสื่อสารความรู้อย่างสร้างสรรค์ และรับผิดชอบต่อสังคมอย่างมีจริยธรรม จึงจะสามารถดำรงตนอยู่ในสังคมโลกที่วิวัฒน์เข้าสู่สังคมดิจิทัล ได้อย่างมีความสุข
“สิ่งที่ สสวท. กำลังจะดำเนินการต่อไปเกี่ยวกับการส่งเสริมการใช้ ICT ในการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี ก็คือส่งเสริมให้ครูวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ นำสื่อเทคโนโลยี ไปใช้ในการเรียนการสอนมากขึ้น และพัฒนาเนื้อหาดิจิทัลใช้ในการเรียนการสอนมากขึ้นพัฒนาเครือข่ายเรียนรู้สำหรับครูวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ระหว่างกันมากขึ้น เปิดโอกาส และสนับสนุนให้ครูเข้าร่วมโครงการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการเรียน
การสอน ของ สสวท. ผ่านเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษา ให้มากขึ้น และล่าสุด สสวท. ได้ซื้อสิทธิ์การใช้คลิปวีดิโอ วิทยาศาสตร์ระดับประถมศึกษา ของ NHK ที่มีเนื้อหาตรงกับหลักสูตรของไทย จำนวน 373 รายการ โดยจะจัดแปลเป็นภาษาไทย เพื่อออกอากาศ ทาง ETV และเผยแพร่ให้สถานศึกษานำไปใช้ประโยชน์ ในรูปแบบ DVD และ ผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต” ดร. พรพรรณ กล่าวปิดท้าย