TMC เสริมศักยภาพอุตสาหกรรมอาหารไทย ก้าวไกลสู่สากล

ข่าวทั่วไป Thursday November 20, 2008 11:53 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 พ.ย.--ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี อุตสาหกรรมอาหารและการเกษตรมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากเป็นอาชีพของประชากรส่วนใหญ่ และเป็นอุตสาหกรรมที่มีการพัฒนาตลอดห่วงโซ่ของกระบวนการผลิตนับตั้งแต่การเพาะปลูก การเก็บเกี่ยว ไปจนถึงการแปรรูปผลผลิตโดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่ดีมีคุณภาพ มีคุณค่าเพิ่มขึ้น มีอายุการเก็บรักษายาวนานขึ้น สะดวกต่อการอุปโภคบริโภค โดยในปีที่ผ่านมา ผลิตภัณฑ์อาหารของไทยมีมูลค่าการส่งออกคิดเป็นร้อยละ 11.78 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด สำหรับในภาคการผลิต กว่าร้อยละ 90 เป็นโรงงานผลิตผลิตภัณฑ์อาหารขนาดเล็กที่ยังต้องการเทคโนโลยีเพื่อปรับปรุงกระบวนการให้สามารถส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศได้อีกเป็นจำนวนมาก แต่ทำอย่างไรให้อุตสาหกรรมอาหารและการเกษตรที่ประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตและส่งออก สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ และก่อให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างภาคเกษตรและภาคการผลิตได้ ศ.ดร.ชัชนาถ เทพธรานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวตอนหนึ่งในงานเสวนาเรื่อง “อุตสาหกรรมอาหารไทยก้าวไกลด้วย TMC” ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน ที่ผ่านมาว่า ปัจจุบันการแข่งขันทางธุรกิจในตลาดโลกไม่สามารถแข่งขันด้านราคา และประเทศไทยเองก็ไม่สามารถดึงดูดการลงทุนด้วยค่าจ้างแรงงานราคาถูกได้อีกต่อไป การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทำให้ภาคอุตสาหกรรมต้องพัฒนากระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีที่คิดค้นและพัฒนาขึ้นเองในประเทศ และเหมาะสมกับความต้องการของผู้ประกอบการ โดยไม่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีราคาแพงจากต่างประเทศ ซึ่งจะทำให้ธุรกิจของไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืน นอกจากนี้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องมีนวัตกรรมและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นอยู่ตลอดเวลา และเปลี่ยนจากการเป็นผู้รับจ้างผลิตเป็นการผลิตด้วย brand ของตัวเอง สำหรับอุตสาหกรรมอาหารและเกษตรซึ่งเป็นคลัสเตอร์ที่มีความเชื่อมโยงของภาคเกษตรกรรมและภาคอุตสาหกรรมนั้น ศ.ดร.ชัชนาถ กล่าวว่า การพัฒนาภาคอุตสาหกรรมให้เข้าสู่อุตสาหกรรมฐานความรู้ จำเป็นต้องมีการบริหารจัดการองค์ความรู้หรือเทคโนโลยีที่มีอยู่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการผลิตรวมทั้งการสร้างสรรค์นวัตกรรม ตั้งแต่อุตสาหกรรมต้นน้ำจนถึงปลายน้ำเพื่อให้เกิดความสอดคล้องกัน ซึ่งจะช่วยลดความสูญเสียและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้กับภาคธุรกิจของไทยได้เป็นอย่างดี “การเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้กับภาคธุรกิจของไทยนั้น ปัจจัยสำคัญคือ ความตั้งใจจริงของผู้ประกอบการที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น นับตั้งแต่การพัฒนากระบวนการผลิต การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การพัฒนาระบบคุณภาพ การพัฒนาเครื่องจักร การนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาใช้บริหารจัดการโรงงาน การลงทุนสำหรับการจัดตั้งห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์ และการจดสิทธิบัตรของผลิตภัณฑ์ที่คิดค้นขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องการความช่วยเหลือและสนับสนุนจากภาครัฐ โดยเฉพาะองค์ความรู้หรือเทคโนโลยีจากผู้ที่มีความรู้เข้ามาให้ความช่วยเหลือซึ่งผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็กไม่สามารถเข้าถึงได้” ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) เป็นหน่วยงานภาครัฐภายใต้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีกลไกในการให้บริการหรือเครื่องมือต่างๆ ที่สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม โดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่เป็นผู้รู้จริงในแต่ละปัญหา ซึ่งกลไกการให้บริการต่างๆ ของ TMC ประกอบด้วย โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP), เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อการพัฒนาเทคโนโลยีในโครงการวิจัย พัฒนา และวิศวกรรมภาคเอกชน (CD), สำนักงานจัดการสิทธิเทคโนโลยี (TLO) , การรับรองโครงการวิจัยและพัฒนาเพื่อขอยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล200% (RDC), เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งประเทศไทย (SWP) และอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย (TSP) จะเห็นได้ว่า TMC มีบริการต่างๆ สำหรับภาคอุตสาหกรรมแบบครบวงจรและสามารถตอบสนองได้ทุกความต้องการ ช่วยให้อุตสาหกรรมต่างๆ สามารถจัดการเทคโนโลยีที่มีอยู่แล้ว หรือเทคโนโลยีที่ต้องการพัฒนาได้ดียิ่งขึ้น และช่วยเพิ่มขีดความสามารถให้เพิ่มสูงขึ้นด้วย ศ. ดร.ชัชนาถ กล่าวต่อว่า การบริหารจัดการเทคโนโลยีเป็นกลไกที่ใช้กันแพร่หลายในหลายประเทศ อาทิ แคนาดา สิงคโปร์ และญี่ปุ่น ซึ่งอาจแตกต่างกันในรายละเอียดขึ้นอยู่กับปัญหาและสภาพการทำงานของแต่ละประเทศ ดังนั้น กลไกการให้บริการของ TMC จึงสามารถตอบโจทย์หรือปัญหาได้กับทุกอุตสาหกรรม สำหรับตัวอย่างการเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาของอุตสาหกรรมอาหารและเกษตร เช่น การยืดอายุการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ขนมสาลี่และการพัฒนาเครื่องหยอดขนมสาลี่ของบริษัท เอกชัยสาลี่สุพรรณ จำกัด, การพัฒนามีดตัดอ้อยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บเกี่ยวให้กลุ่มน้ำตาลมิตรผล, การสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อการจัดตั้งห้องปฏิบัติการจุลชีววิทยาและการจัดตั้งห้องปฏิบัติการชีวโมเลกุลเพื่อสนับสนุนงานวิจัยด้านปรับปรุงพันธุ์อ้อยของ บจ.มิตรผลวิจัย พัฒนาอ้อยและน้ำตาล การสนับสนุนเงินทุนในการจัดตั้งห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์สินค้าเกษตรและอาหารของ บจ.ศูนย์ห้องปฏิบัติการและวิจัยทางการแพทย์และการเกษตรแห่งเอเซีย (AMARC) ซึ่งเป็นศูนย์ห้องปฏิบัติการและวิจัยภาคเอกชนของไทยที่ให้บริการการตรวจวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์อาหารและเกษตรที่ครบวงจร, การอนุญาตให้ใช้สิทธิ์งานวิจัยการพัฒนาเทคโนโลยีฟิล์มบรรจุภัณฑ์แอคทีฟสำหรับยืดอายุผักและผลไม้สด (Active Packaging) โดยฟิล์มยืดอายุที่พัฒนาขึ้นยังมีราคาถูกกว่าการนำเข้าฟิล์มจากต่างประเทศ 3-7 เท่า และช่วยลดการสูญเสียของผลผลิตได้ถึง 15-30% ซึ่งปัจจุบัน TMC ได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีดังกล่าวให้กับเอกชนไปแล้ว 3 ราย ในส่วนของกิจการขนาดเล็กใกล้ตัวเช่นร้านอาหาร ทาง TMC ได้เข้าไปช่วยกระตุ้นให้มีการนำ IT ไปใช้ในการบริหารจัดการและควบคุมการผลิต โดยชี้ให้เห็นประโยชน์ของการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ และบ่มเพาะนักพัฒนาซอฟต์แวร์ให้สามารถพัฒนาโปรแกรมได้ตรงกับความต้องการของผู้ใช้งาน เช่น การพัฒนาโปรแกรม MRP ไปใช้ในอุตสาหกรรมอาหารแช่แข็งของบจ. บียอนด์ เทคโนโลยี หรือแม้แต่การเข้ามาลงทุนของ บ.แอร์ โปรดักส์ฯ ซึ่งเป็นบริษัททางด้านอาหารขนาดใหญ่ของสหรัฐอเมริกาที่เลือกเข้ามาเช่าพื้นที่เพื่อการทำวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ภายในอุทยานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย (TMC) เป็นต้น โดยที่ผ่านมา การดำเนินการช่วยเหลือและสนับสนุนผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารและการเกษตรที่ TMC ให้ความช่วยเหลือไปแล้วมีไม่น้อยกว่า 350 บริษัท โดยมีสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตรที่เกิดจากงานวิจัยในอุตสาหกรรมอาหารและเกษตรไม่น้อยกว่า 150 ผลงาน ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศหลายพันล้านบาท “อย่างไรก็ตาม จากการดำเนินการที่ผ่านมาพบว่า ผู้ประกอบการยุคปัจจุบันหันมาให้ความสนใจและรู้จักเลือกใช้เทคโนโลยีที่มีความเหมาะสมกับธุรกิจของตนเองมากขึ้น ทำให้มีการเลือกใช้เทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นในประเทศแทนการนำเข้าเทคโนโลยีราคาแพงจากต่างประเทศ และเมื่อได้รับผลตอบแทนที่ดีขึ้น ผู้ประกอบการก็จะกลับมาใช้บริการต่างๆ ที่มีอยู่ใน TMC ซ้ำอีก โดยเป็นการขยายแนวคิดจากการแก้ปัญหา มุ่งสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มพูนศักยภาพของผู้ประกอบการเอง การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ทาง TMC ถือเป็นความภาคภูมิใจและยินดีกับความสำเร็จของอุตสาหกรรมอาหารและเกษตรที่จะส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างยั่งยืน” ศ.ดร.ชัชนาถ กล่าวในตอนท้าย งานประชาสัมพันธ์ ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี โทร. 0 2564-7000 ต่อ 1476-8 www.tmc.nstda.or.th สอบถามเพิ่มเติม ติดต่อ : ธณาพร (เอ็ม), สุธิดา (ไก๋) โทร. 0 2270 1350-4 ต่อ 104-105 มือถือ 08 6612 0912, 08 5930 7166 อีเมล : prtmc@yahoo.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ