กรุงเทพฯ--20 พ.ย.--ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี
“มิตรผล” นำการบริหารจัดการเทคโนโลยี กับ “อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล” ช่วยยกระดับขีดความสามารถในการผลิต เพิ่มศักยภาพการแข่งขัน พร้อมตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค จากพันธุ์อ้อย สู่อาหารคุณภาพ ต่อยอดด้วยเอทานอลตอบโจทย์วิกฤตพลังงานโลก ระบุชัด “การวิจัยและพัฒนา” คือหัวใจที่ทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จและเติบโตได้อย่างยั่งยืน ตอกย้ำความแข็งแกร่งภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ยิ่งผันผวนธุรกิจยิ่งต้องตื่นตัวกับการพัฒนาเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของตลาดและผู้บริโภค
จากการสั่งสมประสบการณ์ในธุรกิจน้ำตาลมากว่า 50 ปี “กลุ่มน้ำตาลมิตรผล” ได้ขยายกิจการอย่างต่อเนื่องและเติบโตอย่างเข้มแข็งกลายเป็นผู้นำอุตสาหกรรมน้ำตาลของไทย จนก้าวสู่บริษัทชั้นนำอันดับหนึ่งของเอเชีย และเป็นอันดับ 6 ของโลก โดยการปฏิรูปเทคโนโลยีและการบริหารจัดการด้านวิจัยและพัฒนาให้มีประสิทธภาพ
ดร.พิพัฒน์ วีระถาวร ผู้อำนวยการด้านวิจัยและพัฒนา บริษัท มิตรผลวิจัย พัฒนาอ้อยและน้ำตาล จำกัด เปิดเผยถึงแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยและน้ำตาล รวมทั้งผลผลิตต่อเนื่องของกลุ่มน้ำตาลมิตรผลว่า ธุรกิจน้ำตาลมีการแข่งขันที่สูงมาก ยิ่งสถานการณ์เศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงการแข่งขันยิ่งทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ดังนั้นแนวทางในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของบริษัทฯ ที่ให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนา และการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการปรับปรุงคุณภาพและการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้แก่เกษตรกรชาวไร่อ้อยอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปัจจุบันผลิตภัณฑ์น้ำตาลของกลุ่มน้ำตาลมิตรผลจึงเป็นที่ยอมรับของตลาดทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งความสำเร็จดังกล่าวส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากหน่วยงานภาครัฐ เช่น ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี ( TMC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
นับตั้งแต่ปี 2548 ที่ผ่านมา กลุ่มน้ำตาลมิตรผลได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงในความร่วมมือทางด้านงานวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับอ้อยและน้ำตาล ร่วมกับ ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ขึ้นเพื่อให้การวิจัย พัฒนาเกี่ยวกับอ้อยและน้ำตาลเป็นไปอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้มีความร่วมมือในการพัฒนาเครื่องจักรการเกษตรร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) และความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาห้องปฏิบัติการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ การวิเคราะห์ดินและน้ำตาล ร่วมกับศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC) ของสวทช.
โดยบริษัทฯ ได้เข้ารับการสนับสนุนจากกลไกลต่างๆ ที่อยู่ภายใต้ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สวทช. อาทิ โครงการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (CD) เพื่อนำมาจัดตั้งห้องปฏิบัติการจุลชีววิทยา , ห้องปฏิบัติการชีวโมเลกุล , ห้องปฏิบัติการตรวจสอบวิเคราะห์น้ำตาล การตรวจสอบธาตุอาหารในดินและการใช้ปุ๋ยที่เหมาะสม รวมถึงการวิจัยพัฒนาเพื่อการปรับปรุงพันธุ์ที่มีคุณภาพ ให้ความหวาน มีความต้านทานโรคและแมลงศัตรูอ้อย และให้ผลผลิตต่อไร่สูง อันเป็นปัจจัยหลักที่นำมาซึ่งน้ำตาลคุณภาพ ปัจจุบันบริษัทฯ ได้จัดตั้งห้องปฏิบัติการดังกล่าวขึ้น 5 แห่ง รวมเป็นเงินกู้ที่ได้รับการสนับสนุนครั้งนี้มากกว่า 30 ล้านบาท และการได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 200 % จากกรมสรรพกร ในโครงการรับรองโครงการวิจัยและพัฒนา ( RDC)
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้รับคำปรึกษา และการจัดหาผู้เชี่ยวชาญจากโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) ในการพัฒนามีดตัดอ้อยและการพัฒนาสูตรยางหุ้มด้ามมีดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและอายุการใช้งานของเครื่องมือในการเก็บเกี่ยวให้กับชาวไร่อ้อย ซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพของน้ำตาลและรายได้ที่ดีขึ้นของเกษตรกร รวมถึงต้นทุนของวัตถุดิบลดลง ซึ่งถือเป็นแหล่งต้นน้ำของการผลิตน้ำตาล ปัจจุบันมีการนำมีดตัดอ้อยที่บริษัทพัฒนาขึ้น ไปใช้อย่างแพร่หลายในพื้นที่เพาะปลูกอ้อยทั่วประเทศแล้วกว่า 50,000 เล่ม
ดร.พิพัฒน์ กล่าวว่า “ สาเหตุที่ต้องมีการปรับปรุงพันธุ์อ้อย เนื่องจากให้ผลผลิตและความหวานต่ำ ปัญหาการระบาดของโรคและแมลงศัตรูอ้อย ประกอบกับพื้นที่ในการเพาะปลูกอ้อยที่ลดลง ส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำตาลในประเทศ จึงต้องมีการปรับปรุงพันธุ์อ้อยที่มีผลผลิตและคุณภาพดี ให้ความหวานสูง ผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น มีความต้านทานโรคแมลงศัตรูอ้อย และเหมาะสมในแต่ละพื้นที่อย่างต่อเนื่อง โดยพื้นที่ในการเพาะปลูกอ้อยของไทยมีทั้งสิ้นกว่า 6 ล้านไร่ แบ่งเป็น ภาคกลางร้อยละ 35 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือร้อยละ 30 ภาคเหนือร้อยละ 25 และภาคตะวันออกร้อยละ 4 ของพื้นที่เพาะปลูกอ้อยทั่วประเทศ”
“ ผลที่ได้รับจากการสนับสนุนของหน่วยงานต่างๆ ในสังกัด TMC นอกจากจะเป็นการสร้างองค์ความรู้และวิชาการ เพื่อทำให้ธุรกิจอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของไทยมีประสิทธิภาพในการผลิตเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะชาวไร่อ้อยซึ่งเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำสามารถปลูกอ้อยได้อย่างยั่งยืน และมีรายได้ที่ดีขึ้น จากพันธุ์อ้อยที่มีคุณภาพดี การให้ปุ๋ยที่ถูกต้อง และการเก็บเกี่ยวอ้อยได้อย่างถูกต้องทำให้ได้ผลผลิตที่สูงขึ้น นับเป็นการสนับสนุนการบริหารจัดการเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับพื้นที่ของเกษตรกรเพื่อการปลูกอ้อยได้อย่างยั่งยืน ขณะเดียวกันโรงงานเองจะได้อ้อยที่มีคุณภาพเข้าสู่โรงงานเพื่อผลิตน้ำตาลที่มีคุณภาพต่อไป ” ดร.พิพัฒน์ กล่าว
สำหรับแนวทางในการพัฒนาของบริษัทฯนั้น ดร.พิพัฒน์ กล่าวว่า บริษัทฯ มีแนวคิดที่จะเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตน้ำตาลในโรงงานในฐานะอุตสาหกรรมกลางน้ำ โดยพัฒนาเครื่องวัดปริมาณน้ำตาล (ซูโครส) ที่จะเป็นเครื่องมือช่วยติดตามการสูญเสียความหวานของน้ำตาลในกระบวนการผลิต ขณะเดียวกันบริษัทยังได้เตรียมต่อยอดผลิตภัณฑ์น้ำตาลจากอาหารคุณภาพไปสู่อาหารเพื่อสุขภาพ และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลในอนาคต เช่น การพัฒนาพลาสติกจากอ้อย เป็นต้น
ปัจจุบัน บริษัทฯ สามารถผลิตน้ำตาลได้ 2.5 ล้านตันต่อปี ซึ่งผลผลิตน้ำตาลที่ได้จะส่งออกถึง ร้อยละ 70 ทั้งนี้ ดร.พิพัฒน์ กล่าวว่า การไปสู่ผู้ผลิตและส่งออกน้ำตาลระดับชั้นนำยิ่งต้องอาศัย “งานวิจัยและพัฒนา” เข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้สูงขึ้น และมีต้นทุนที่ต่ำลง เพื่อให้ธุรกิจสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก
พร้อมกล่าวทิ้งท้ายว่า “การวิจัยและพัฒนา” เป็นสิ่งที่ทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จและเติบโตได้อย่างยั่งยืน เพราะการทำวิจัยฯ ทำให้รู้ถึงทิศทางและแนวโน้มของสถานการณ์ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทำให้ธุรกิจเกิดการตื่นตัวและปรับตัวให้พร้อมรับกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา จึงจำเป็นที่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมจะต้องเร่งพัฒนาตนเองอยู่เสมอเพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของตลาดโลกและความต้องการของผู้บริโภคที่ไม่เคยหยุดนิ่ง
งานประชาสัมพันธ์ ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี โทร. 0 2564-7000 ต่อ 1476-8 www.tmc.nstda.or.th
สอบถามเพิ่มเติม ติดต่อ : ธณาพร (เอ็ม), สุธิดา (ไก๋)
โทร. 0 2270 1350-4 ต่อ 104-105 มือถือ 08 6612 0912, 08 5930 7166 อีเมล : prtmc@yahoo.com