สิทธิบัตร “ฟิล์มยืดอายุ” หนุนส่งออกไทย รับวิกฤตอาหารโลก

ข่าวทั่วไป Thursday November 20, 2008 12:03 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 พ.ย.--ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สิทธิบัตรฟิล์มยืดอายุ”ผลผลิตทางการเกษตรไทย ราคาถูกว่าการนำเข้าฟิล์มยืดอายุจากต่างประเทศ 3-7 เท่า ช่วยลดการสูญเสียของผลผลิตได้ถึง 15-30% พร้อมหนุนอุตสาหกรรมผัก ผลไม้หรือดอกไม้สดส่งออก โดยอุตสาหกรรมเหล่านี้ประเมินมูลค่ารวมกว่า 20,000 ล้านบาทต่อปี ไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมที่มีผลผลิตทางการเกษตรไม่ว่าจะเป็นผัก ผลไม้หรือดอกไม้สด ออกสู่ตลาดในแต่ละปีเป็นจำนวนมาก แต่ปัญหาสำคัญในอุตสาหกรรมส่งออกเหล่านี้ คือ ความสามารถในการยืดอายุการเก็บรักษาสั้น เกิดการสูญเสียผลผลิตก่อนถึงมือผู้บริโภค ความพยายามในการสร้างศักยภาพเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน รองรับวิกฤตอาหารโลกและสร้างโอกาสของประเทศไทยในการส่งออกผลผลิตทางการเกษตรให้ยั่งยืนจึงเกิดขึ้น ดร.วรรณี ฉินศิริกุล หนึ่งในทีมวิจัยจาก MTEC กล่าวว่า ปัญหาสำคัญของผลผลิตเหล่านี้ คือ การสูญเสียและขาดการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม ขาดความรู้หรือการใช้เทคโนโลยีบรรจุภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพเพื่อยืดอายุของผลผลิตและรักษาคุณภาพให้คงเดิม งานวิจัยการพัฒนาเทคโนโลยีฟิล์มบรรจุภัณฑ์แอคทีฟสำหรับยืดอายุผักและผลไม้สด (Active Packaging) จึงเกิดขึ้นจากการพัฒนาโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการ ทั้งนี้ผู้ประกอบการธุรกิจต้องการเทคโนโลยีที่ช่วยยืดอายุการเก็บรักษาผลผลิตและเพิ่มความสามารถในการส่งออกผัก ผลไม้หรือดอกไม้สดที่มีมูลค่าสูงแต่เน่าเสียง่าย โดยเริ่มต้นจากการศึกษาความรู้พื้นฐานด้านสรีรวิทยาของผลผลิตเพื่อให้เข้าใจว่าผลผลิตแต่ละชนิดมีอัตราการหายใจที่แตกต่างกัน เช่น ผลไม้บางชนิดมีอัตราการหายใจสูงจึงมีอายุในการเก็บรักษาสั้น ทำให้เกิดการเน่าเสียได้ง่าย ดังนั้นการพัฒนาเทคโนโลยีบรรจุภัณฑ์หรือฟิล์มยืดอายุจึงจำเป็นต้องให้เหมาะสม ฟิล์มยืดอายุนี้มีคุณสมบัติเด่นที่ตอบโจทย์ความต้องการได้ตรงจุด คือ สามารถให้ก๊าซที่ใช้ในกระบวนการหายใจผ่านเข้าออกได้ดีและสอดคล้องกับอัตราการใช้และสร้างก๊าซในกระบวนการหายใจของผลผลิตสดที่บรรจุ ทำให้เกิดบรรยากาศดัดแปลงแบบสมดุล (Equilibrium Modified Atmosphere หรือ EMA) ขึ้นในบรรจุภัณฑ์ ส่งผลให้เกิดการชะลอการหายใจและลดการเปลี่ยนแปลงทางชีวภาพ สามารถยืดอายุการเก็บรักษาผักและผลไม้สดเพิ่มขึ้นได้ 2-5 เท่า และรักษาความชื้นสัมพัทธ์ภายในบรรจุภัณฑ์ให้อยู่ระหว่าง 95-99% ทำให้ผลผลิตที่ออกสู่ตลาดคงความสด มีคุณภาพ จึงเหมาะสมสำหรับการใช้งานในอุตสาหกรรม จากผลสำเร็จของงานวิจัยดังกล่าวทำให้ ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี(TMC) โดยสำนักงานจัดการสิทธิเทคโนโลยี (Technology Licensing Office: TLO) ซึ่งดำเนินงานคุ้มครองความเป็นเจ้าของในรูปทรัพย์สินทางปัญญาหรือ “สิทธิบัตร” อนุญาตให้นำงานวิจัยนี้มาใช้ประโยชน์ โดย“อนุญาตให้สิทธิใช้ประโยชน์เม็ดพลาสติกเข้มข้น เพื่อการผลิตและจำหน่ายถุงบรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิด Active ที่มีคุณสมบัติในการยืดอายุผักและผลไม้สด ในเชิงพาณิชย์” และได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีนี้ไปสู่การผลิตในระดับอุตสาหกรรมแล้วตั้งแต่ปลายปี 2549 หนึ่งในทีมวิจัย กล่าวอีกว่า ปัจจุบันมีบริษัทเอกชน 3 ราย ขออนุญาตใช้สิทธิจากงานวิจัยนี้ ซึ่งสามารถช่วยทดแทนการนำเข้าผลิตภัณฑ์ฟิล์มยืดอายุราคาแพงจากต่างประเทศ โดยฟิล์มยืดอายุที่พัฒนาขึ้นยังมีราคาถูกกว่าการนำเข้าฟิล์มจากต่างประเทศ 3-7 เท่า และช่วยลดการสูญเสียของผลผลิตได้ถึง 15-30% รวมทั้งมีส่วนสนับสนุนและส่งเสริมการบรรจุผัก ผลไม้และดอกไม้สดที่ส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศซึ่งอุตสาหกรรมเหล่านี้สามารถประเมินมูลค่าโดยรวมได้กว่า 20,000 ล้านบาทต่อปี จากคุณสมบัติที่ดีของผลงานวิจัยดังกล่าว ทำให้งานวิจัยนี้ได้รับรางวัลกลุ่มนักเทคโนโลยีดีเด่น พ.ศ.2548 จากมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์และรางวัลเหรียญเงินในงาน 53 th Exhibition of Innovation , Research and Technology, Brussels Eureka,2004 อีกด้วย และถือได้ว่าผลงานวิจัยนี้ช่วยต่อยอดความสำเร็จ ตรงกับความต้องการทั้งตลาดและผู้บริโภค อีกทั้งยังช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลผลิตทางการเกษตรของไทย สร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันในตลาดโลกได้ต่อไป งานประชาสัมพันธ์ ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี โทร. 0 2564-7000 ต่อ 1476-8 www.tmc.nstda.or.th สอบถามเพิ่มเติม ติดต่อ : ธณาพร (เอ็ม), สุธิดา (ไก๋) โทร. 0 2270 1350-4 ต่อ 104-105 มือถือ 08 6612 0912, 08 5930 7166 อีเมล : prtmc@yahoo.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ