กรุงเทพฯ--9 มิ.ย.--สนพ.
สนพ. เผยการใช้น้ำมันดีเซล 5 เดือนที่ผ่านมา ลดลงร้อยละ 8.9 ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11 เนื่องจากผลของมาตรการประหยัดพลังงานและปัจจัยราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ขณะที่เบนซินการใช้ลดลงร้อยละ 2.2 คนนิยมเปลี่ยนมาใช้รถ NGV มากขึ้น และส่วนหนึ่งที่หันไปติด LPG ขณะที่การนำเข้าน้ำมันดิบลดลงร้อยละ 1.9 ตามความต้องการใช้น้ำมันที่ชะลอลง แต่การส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.6
นายวีระพล จิรประดิษฐกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า 5 เดือนแรกในเดือนมกราคม — พฤษภาคม 2549 ปริมาณการใช้น้ำมันทั้งเบนซินและดีเซลยังลดลงต่อเนื่อง โดยปริมาณการใช้น้ำมันดีเซลลดลงจากช่วงเดียวกันกับปี 2548 ร้อยละ 8.9 จากเดิมเฉลี่ยวันละ 58.3 ล้านลิตร เหลือวันละ 53.1 ล้านลิตร และเป็นการลดลงอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11 ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2548 เป็นต้นมา ขณะที่ปริมาณการใช้น้ำมันเบนซิน ทั้งเบนซินออกเทน 95 และออกเทน 91 ลดลงร้อยละ 2.2 จากเฉลี่ยวันละ 20.2 ล้านลิตร เหลือวันละ 19.7 ล้านลิตร
ทั้งนี้ สาเหตุของการใช้ดีเซลลดลงส่วนหนึ่งมาจากมาตรการประหยัดพลังงานที่มีประสิทธิภาพของภาครัฐและสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการลอยตัวน้ำมันดีเซลตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2548 ส่วนปริมาณการใช้น้ำมันเบนซินที่ลดลงเนื่องจากราคาน้ำมันเบนซินปรับตัวสูงขึ้น และส่วนหนึ่งเป็นเพราะกลุ่มผู้ขับรถยนต์เปลี่ยนมาใช้พลังงานทดแทนน้ำมันเป็นจำนวนมาก กลุ่มรถยนต์จำนวนหนึ่งทั้งรถยนต์ส่วนบุคคลและรถแท๊กซี่ได้เปลี่ยนมาใช้รถ NGV และรถ LPG มากขึ้น ขณะเดียวกันการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์มียอดการใช้สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว มีการใช้เฉลี่ยวันละ 3.5 ล้านลิตร หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 16.8 ของการใช้น้ำมันเบนซินทั้งหมด
นอกจากนี้ การชะลอตัวของการใช้น้ำมันที่ลดลง ยังส่งผลให้การนำเข้าน้ำมันดิบ 5 เดือนแรกของปี 2549 ลดลงถึงร้อยละ 1.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปี 2548 จากเดิมต้องนำเข้าเฉลี่ยวันละ 847,000 บาร์เรล เหลือเฉลี่ยวันละ 831,000 บาร์เรล แต่ก็พบว่าประเทศต้องสูญเสียมูลค่าการนำเข้าน้ำมันดิบ 5 เดือนแรกเป็นเงินถึง 310,184 ล้านบาท เพิ่มจากช่วงเดียวกันของปี 2548 ร้อยละ 31.3 เนื่องจากราคาเฉลี่ยในช่วง 5 เดือนแรกเพิ่มสูงถึงร้อยละ 37.6 ส่วนปริมาณการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปต้องถือว่าเป็นเรื่องน่ายินดี เมื่อปริมาณการส่งออกช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.6 จากวันละ 96,000 บาร์เรล เป็นวันละ 110,000 บาร์เรล คิดเป็นมูลค่า 41,026 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันถึงร้อยละ 71.3
“ประเทศไทยในปัจจุบันเริ่มมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้น้ำมันมากขึ้น เพราะเริ่มเข้าใจถึงสถานการณ์น้ำมันที่แพงอย่างต่อเนื่อง โดยส่วนหนึ่งต้องยกความดีนี้ให้กับประชาชนทุกคนที่ช่วยรัฐในการประหยัดพลังงาน และการหันมาใช้พลังงานทดแทนน้ำมันซึ่งเป็นทางเลือกที่สำคัญในยุคนี้ เพราะการใช้พลังงานทดแทนนอกจากจะทำให้ประเทศลดการนำเข้าน้ำมันดิบได้แล้ว ยังทำให้ประเทศไทยเอาชนะอุปสรรคน้ำมันแพงได้อย่างยั่งยืน” นายวีระพล กล่าว