กรุงเทพฯ--27 มิ.ย.--ปตท.
วันนี้ (27 มิถุนายน 2549) เวลา 10.00 น. นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ อธิบดีกรมธนารักษ์ ในฐานะประธานกรรมการบริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด ได้เดินทางมาเป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาซื้อขายพลังงานความเย็น โครงการศูนย์ราชการกรุงเทพมหานคร ถนนแจ้งวัฒนะ ณ ห้องประชุม ชั้น 8 อาคาร 72 ปี กรมธนารักษ์
พิธีดังกล่าว เป็นการลงนามร่วมกันระหว่าง บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด โดยนายวิมล จันทร์จิราวุฒิกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โดยนายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ กรรมการ ผู้จัดการใหญ่ และการไฟฟ้านครหลวง โดยนายพรเทพ ธัญญพงศ์ชัย ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง ทั้งนี้ การลงนามดังกล่าวเป็นการดำเนินงานต่อเนื่องมาจากการลงนามบันทึกข้อตกลงการผลิตและจำหน่ายน้ำเย็นด้วยระบบพลังงานร่วม ความร้อนและไฟฟ้า สำหรับโครงการศูนย์ราชการกรุงเทพมหานคร ถนนแจ้งวัฒนะ เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2548 เพื่อให้ ปตท. และ กฟน. เป็นผู้ลงทุนก่อสร้างโรงผลิตน้ำเย็นและอุปกรณ์ต่างๆ รวมทั้งสร้างท่อก๊าซธรรมชาติเข้าสู่โครงการศูนย์ราชการกรุงเทพมหานคร ถนนแจ้งวัฒนะ เพื่อนำมาใช้ผลิตนำเย็นสำหรับระบบปรับอากาศของศูนย์ราชการฯ
โดยหลังจากพิธีลงนามในวันนี้ ธพส. จะส่งมอบที่ดินให้ ปตท. และ กฟน. (ผู้ให้บริการ) ดำเนินการก่อสร้างโรงผลิตไฟฟ้าและน้ำเย็นภายในพื้นที่โครงการ โดยใช้เวลาในการก่อสร้างประมาณ 1 ปี หลังจากนั้นจะติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าและเครื่องทำน้ำเย็น โดย ปตท. จะเป็นผู้จัดหาก๊าซธรรมชาติสำหรับนำมาใช้ในการผลิต ซึ่งทั้ง 2 หน่วยงานจะเป็นผู้ดูแล บำรุงรักษาระบบ ตลอดจนควบคุมคุณภาพของน้ำเย็นที่จ่ายให้กับโครงการให้เป็นไปตามกำหนด ทั้งนี้ จะเริ่มจ่ายน้ำเย็นให้โครงการฯ ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2551 จนถึงวันสิ้นสุดสัญญา 30 มิถุนายน 2581 เป็นเวลา30 ปี โดยในเบื้องต้นคิดอัตราค่าบริการ5.30 บาท ต่อตันต่อชั่วโมง (Ton-Hour) ซึ่งถูกกว่าอัตราปกติ 10 สตางค์
สำหรับการผลิตและจำหน่ายน้ำเย็นด้วยระบบพลังงานร่วม ความร้อนและไฟฟ้าที่ใช้ในโครงการศูนย์ราชการฯ เรียกว่า ระบบ Co-Generation เป็นการผสมผสานระหว่างการผลิตไฟฟ้าและการผลิตน้ำเย็น โดยใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงในกังหันก๊าซผลิตไฟฟ้า แล้วนำไอร้อนที่ออกจากกังหันก๊าซไปใช้ในการผลิตน้ำเย็นด้วยเครื่องทำความเย็น ส่งไปใช้ในระบบปรับอากาศภายในอาคาร
โครงการศูนย์ราชการฯ นี้ นับเป็นโครงการที่ 2 ต่อจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิที่ได้นำระบบ Co-Generation เข้ามาใช้ในโครงการ ซึ่งระบบดังกล่าวนำมาซึ่งประโยชน์และผลดีต่อภาคส่วนต่างๆ ดังนี้
- โครงการศูนย์ราชการฯ ที่ได้รับประโยชน์ในด้านความมั่นคงและยั่งยืนของระบบจ่ายพลังงานภายในศูนย์ราชการฯ เนื่องจากมีการผลิตกระแสไฟฟ้า ณ จุดใช้งาน (Distributed Generation: DG) ติดตั้งและบำรุงรักษาง่าย โดยมี ปตท. และ กฟน. ซึ่งเป็น Service Provider ที่มีความเชี่ยวชาญและเคยให้บริการระบบดังกล่าวในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มารับหน้าที่ในการบริหารจัดการและบำรุงรักษาระบบแทน ธพส.
- ผู้ให้บริการ(ปตท. และ กฟน.) ได้รับประโยชน์ในด้านธุรกิจ เป็นการเปิดช่องทางธุรกิจรูปแบบใหม่ ด้านเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าและพลังงานร่วม ซึ่งในอนาคตมีแนวโน้มการใช้บริการเพิ่มสูงขึ้นทั้งในระดับประเทศ และภูมิภาค และยังคุ้มค่าต่อการลงทุน เพราะระบบดังกล่าวจะช่วยเสริมความมั่นคงของระบบไฟฟ้า รวมถึงลดต้นทุนและความสูญเสียในระบบสายส่งไฟฟ้าได้อีกด้วย
- ผู้ใช้อาคาร จะได้ทำงานในอาคารที่มีอุณหภูมิเย็นสบายตลอดเวลา แม้ต้องทำงานล่วงเวลาก็ยังได้สัมผัสอุณหภูมิที่ไม่แตกต่างจากเวลาทำงานปกติมาก เนื่องจากมีการเดินเครื่องปรับอากาศตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ในส่วนของหน่วยงานผู้เช่าใช้พื้นที่ ยังประหยัดค่าใช้จ่าย เนื่องจาก ปตท. และ กฟน. ซึ่งเป็น ผู้ร่วมลงทุนจัดสร้างระบบผลิตคิดราคาค่าทำความเย็นในอัตราพิเศษ (5.30/Ton-hour ซี่งราคาค่าทำความเย็นของระบบ Electric Chiller ทั่วไปอยู่ที่ 5.40 บาท/Ton-hour)
- และที่สำคัญที่สุด คือ ประเทศชาติ ซึ่งนับเป็นการสนับสนุนนโยบายด้านพลังงาน ในสภาวะราคาน้ำมันในตลาดโลกสูงขึ้น ด้วยการหันมาใช้ก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้ภายในประเทศ และเป็นพลังงานสะอาด จึงเป็นการช่วยลดการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ระบบ Co-Generation ยังช่วยให้ใช้ก๊าซธรรมชาติได้เต็มประสิทธิภาพมากขึ้น จากเดิมที่นำไปผลิตไฟฟ้าอย่างเดียว จะเป็นการใช้ประสิทธิภาพของก๊าซธรรมชาติได้เพียง ร้อยละ 50 แต่เมื่อนำไปใช้ร่วมกับการผลิตน้ำเย็น จะเป็นการใช้ประสิทธิภาพของก๊าซธรรมชาติได้ถึง ร้อยละ 80
นอกจากโครงการนี้จะใช้ระบบ Co-Generation ซึ่งเป็นการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่าแล้ว ตัวอาคารในโครงการนี้ ก็ยังมีการออกแบบให้เป็นอาคารประหยัดพลังงานประสิทธิภาพสูง โดยมีหลักสำคัญ 3 ประการ คือ
- ออกแบบเป็นอาคารปิด ซึ่งช่วยควบคุมความร้อน ความชื้น จากภายนอกอาคาร ช่วยให้ง่ายต่อการควบคุมอุณหภูมิภายในอาคารให้มีความเหมาะสม
- มีการเดินเครื่องส่งความเย็นในเวลากลางคืน ทำให้ภายในตัวอาคารมีอุณหภูมิเย็นสบายตลอด 24 ชั่วโมง โดยความเย็นจะถูกเก็บรักษาไว้ในตัวอาคาร ทำให้เมื่อถึงเวลากลางวันไม่ต้องใช้พลังงานในการลดอุณหภูมิภายในอาคารมาก
- มีการผลิตและกักเก็บน้ำเย็น โดยในช่วงกลางคืนจะมีการผลิตน้ำเย็นเก็บกักไว้ในถังเก็บความเย็น เพื่อนำมาเสริมระบบทำความเย็นในเวลากลางวัน ช่วยลดการทำงานของเครื่องทำน้ำเย็นในเวลากลางวันได้ถึง 3,000 ตัน
จากหลักการดังกล่าวนี้ ทำให้โครงการศูนย์ราชการกรุงเทพมหานคร ถนนแจ้งวัฒนะ เป็นต้นแบบของอาคารประหยัดพลังงานประสิทธิภาพสูง ซึ่งสามารถประหยัดพลังงานที่ใช้ในระบบปรับอากาศได้ถึง ร้อยละ 20 เมื่อเปรียบเทียบกับอาคารสมัยใหม่ชั้นดีทั่วไป