กรุงเทพฯ--24 พ.ย.--สสส.
ทีมนักวิจัยโครงการวิจัยเรื่องผลกระทบทางสุขภาพในพื้นที่ปนเปื้อนสารแคดเมียม จังหวัดตาก แสดงความเป็นห่วง อาจมีข้าวปนเปื้อนสารแคดเมียมกระจายออกนอกพื้นที่ หลังจากตรวจพบว่ามีชาวบ้านบางส่วนแอบนำข้าวในพื้นที่สีแดงออกมาจำหน่าย
ดร.ทักษิณา ไกรราช นักวิชาการสาธารณสุข 7 กระทรวงสาธารณสุข หัวหน้าโครงการวิจัยเรื่องผลกระทบทางสุขภาพในพื้นที่ปนเปื้อนสารแคดเมียม จังหวัดตาก ซึ่งเป็นโครงการในความรับผิดชอบของสำนักงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า จากการลงสำรวจภาคสนามเบื้องต้นเพื่อเก็บข้อมูลด้านสุขภาพของชาวบ้านที่เสี่ยงต่อการปนเปื้อนสารแคดเมียม ในหมู่บ้านแม่ตาวใหม่ ตำบลพระธาตุผาแดง อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการปนเปื้อนสารแคดเมี่ยมในดินและพืชในปริมาณที่สูงเกินมาตราฐาน พบว่าประชาชนในพื้นที่ส่วนใหญ่หันกลับมาปลูกข้าว หลังจากเงินช่วยเหลือเรื่องค่าชดเชยจากรัฐบาลสิ้นสุดลง และพืชเกษตรตัวเลือกอื่นมีปัญหาในเรื่องของราคาและตลาดรองรับ
“การลงพื้นที่สำรวจอย่างใกล้ชิด ทำให่เราพบว่ามีปัญหาสะสมมากมาย และตอนนี้ยังไม่มีแนวทางแก้ไขที่จริงจังจากภาครัฐ ที่ผ่านมามีหลายหน่วยงานพยายามเข้าให้ความช่วยเหลือแต่ก็เป็นไปอย่างไม่มีระบบและไม่ต่อเนื่อง มีการตรวจวิเคราะห์ดิน ตรวจน้ำ และตรวจเลือดของชาวบ้าน แต่ชาวบ้านกลับไม่ได้รับทราบผลการตรวจที่แท้จริง ทำให้ชาวบ้านยอมเสี่ยงเพราะไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร แม้จะมีการแนะนำพืชเกษตรตัวเลือกอื่น เช่น ยางพารา การปลูกอ้อยเพื่อผลิตเอทานอล แต่ก็ไม่มีความชัดเจนในเรื่องของราคาและตลาดรองรับ ชาวบ้านส่วนใหญ่จึงหันกลับมาปลูกข้าว เนื่องจากข้าวมีราคาดี และข้าวในพื้นที่เป็นข้าวหอมมะลิที่มีชื่อเสียงในด้านรสชาติ จึงมีการแอบนำข้าวปนเปื้อนเหล่านั้นออกมาจำหน่ายนอกพื้นที่ ทำให้ผู้บริโภคที่รับประทานข้าวปนเปื้อนเหล่านี้มีโอกาสเสี่ยงที่จะได้รับสารพิษของแคดเมียมซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงมาก” ดร.ทักษิณากล่าว
แคดเมี่ยม เป็นโลหะหนัก หากมีการปนเปื้อนกับน้ำธรรมชาติเข้าสู่ไร่นาที่ปลูกข้าว และพืชผักต่างๆ ทำให้มีแคดเมี่ยมปนเปื้อนอยู่ในเมล็ดข้าวและอาหาร เมื่อสะสมอยู่ในร่างกาย จะทำให้เกิดอาการของโรคพิษแคดเมี่ยม หรือที่เรียกว่า โรคอิไตอิไต (Itai-Itai disease ซึ่งแปลว่า โรคปวดเจ็บจนร้องโอ๊ยโอ๊ย ) โดยในระยะเริ่มต้น มีอาการปวดแขน ขา สะโพก บริเวณฟันที่ติดกับเหงือกจะมีวงแหวนสีเหลืองเรียกว่า วงแหวนแคดเมี่ยม ระยะต่อมาจะมีการกระตุกตามข้อในร่างกาย เริ่มมีอาการปวดร้าว ในระยะที่มีอาการรุนแรงมากขึ้นผู้ป่วยจะเจ็บปวดมากทั่วร่างกายจนเดินไม่ไหว
สอบถามเพิ่มเติม
วนาลี จันทร์อร่าม (นาว) 089-1203073 และ ประจวบ วังใจ 081-870-0072