กรุงเทพฯ--24 พ.ย.--เจดับบลิวที พับบลิค รีเลชั่นส์
สภาวิศวกรประกาศผล “โครงการชุมชนร่วมใจ สร้างความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่ 4ประจำปี 2550 ชิงรางวัลมูลค่าเกือบ 300,000 บาท เผยชุมชนท้องถิ่นจาก 3 จังหวัด ปทุมธานี ราชบุรี และกาฬสินธุ์ คว้ารางวัลชนะเลิศ ใน 3 ด้าน ทั้งด้านวิศวกรรมจราจร ด้านวินัยจราจร และด้านช่วยเหลือฉุกเฉิน เผยผลสำเร็จจากการจัดงาน ชุมชนท้องถิ่น ทั่วประเทศ แห่เข้าร่วมลดปัญหาอุบัติเหตุ เพิ่มขึ้น 6 เท่า พร้อมเดินหน้าสานต่อโครงการฯ ครั้งที่ 5 ในปี 2552
นายวิระ มาวิจักขณ์ นายกสภาวิศวกร เปิดเผยว่า สภาวิศวกร ในฐานะองค์กรวิชาชีพได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหามาตรฐานความปลอดภัยทางถนนของประเทศไทย ได้จัดทำโครงการชุมชนร่วมใจ สร้างความปลอดภัยทางถนน และโครงการประกวดผลงานวิจัยและวิชาการ และผลงานการปฏิบัติงานวิศวกรรม ซึ่งได้จัดต่อเนื่องมาเป็นครั้งที่ 4 จากปี 2547 — 2550 นั้น มีจำนวนผลงานส่งเข้าประกวดเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากถึง 6 เท่า ซึ่งแสดงให้เห็นว่าประชาชนในชุมชน/ท้องถิ่นต่างๆ ให้ความสนใจและตื่นตัวในการแก้ปัญหาความปลอดภัยในชุมชน/ท้องถิ่นของตนเอง และสามารถต่อยอดนำแนวคิดของโครงการไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไปอีกด้วย
ทั้งนี้ ผลการประกวดครั้งล่าสุด ประจำปี 2550 สภาวิศวกรได้ประกาศผลโครงการที่ได้รับรางวัลในระดับชนะเลิศ รองชนะเลิศ และรางวัลชมเชย ใน 3 ด้าน ชิงรางวัลมูลค่าเกือบ 300,000 บาท สำหรับรางวัลชนะเลิศ ได้รับรางวัล 50,000 บาท ประกอบด้วย 1.ด้านวิศวกรรมจราจร ได้แก่ โครงการชุมชนร่วมใจ สร้างความปลอดภัยทางถนน ของชุมชนปทุมวิลเลจ จังหวัดปทุมธานี เป็นโครงการมีความโดดเด่นในด้านการขอความร่วมมือและประชุมร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อเน้นความปลอดภัยของชุมชนเป็นหลัก ได้แก่ วินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง เรื่องการขับขี่อย่างปลอดภัย มีการจัดทำป้ายเครื่องหมายจราจรไว้ตามจุดที่ล่อแหลม เช่น ป้ายห้ามจอด ป้ายห้ามรถสวน มีการติดตั้งไฟฟ้าตามซอยและถนนให้เพียงพอในยามค่ำคืน มีการจัดทำลูกระนาดที่มีความลาดชัน เหมาะสมกับการชะลอความเร็วของรถ มีการตัดเล็มกิ่งไม้ที่กีดขวางทางจราจร ให้เป็นระเบียบและดูโปร่ง เป็นต้น
2.ด้านวินัยจราจร ได้แก่ โครงการหลุมดินสุขใจ ต่อยอดความปลอดภัยบนท้องถนน ขององค์การบริหารส่วนตำบลหลุมดิน จังหวัดราชบุรี โดยโครงการมีความโดดเด่นในด้านการประชาสัมพันธ์เสียงตามสาย เพื่อสร้างวินัยจราจร จัดทำป้ายรณรงค์เรื่องความปลอดภัยทางถนน การจัดอบรมแกนนำในชุมชนเรื่องบทบาทและหน้าที่ในเรื่องความปลอดภัยทางถนน การอบรมวินัยจราจร มีการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ในการแก้ปัญหาเรื่องความปลอดภัยอย่างครบถ้วน เป็นต้น 3.ด้านช่วยเหลือฉุกเฉิน ได้แก่ โครงการชุมชนร่วมใจ เทศบาลห่วงใยสร้างความปลอดภัยให้ประชาชน โดยเทศบาลตำบลห้วยโพธิ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ โดยมีความโดดเด่นในด้านการจัดตั้งศูนย์กู้ชีพ จากพนักงานเทศบาลที่ผ่านการอบรมหลายหลักสูตร เช่น การอบรมการให้บริการทางการแพทย์ฉุกเฉิน มีการกำหนดนโยบาย แผนงาน และมาตรการในการให้ความช่วยเหลือฉุกเฉินด้านสาธารณสุข มีการรับแจ้งเหตุชัดเจน และจัดทำสติ๊กเกอร์ติดทุกหลังคาเรือน และเสียงตามสายกระจายทุกหมู่บ้าน เป็นต้น
จากผลตอบรับของโครงการที่จัดขึ้น ทางสภาวิศวกรและคณะกรรมการโครงการได้มีแผนต่อยอดและขยายโครงการทั้ง 2 ประเภท ต่อไปในปี 2552 ทั้งในรูปแบบโครงการชุมชนร่วมใจ สร้างความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่ 5 ประจำปี 2552 ชิงเงินรางวัลรวมมูลค่า 285,000 บาท โดยเริ่มเปิดรับสมัครผลงานทั้งในประเภทชุมชน, องค์การบริหารส่วนตำบล และเทศบาลจากทั่วประเทศ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2551 และจะปิดรับสมัครผลงานในวันที่ 31 มกราคม 2552 ส่วนโครงการประกวดผลงานทางวิศวกรรมการทางและจราจรในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย ครั้งที่ 5 ประจำปี 2552 ชิงเงินรางวัลรวมมูลค่ากว่า 350,000 บาท เริ่มเปิดรับสมัครผลงาน ตั้งแต่บัดนี้ — 31 ธันวาคม 2551 โดยผู้สนใจส่งผลงานเข้าร่วมโครงการสามารถสอบถามและขอรับข้อมูลรายละเอียดได้ที่สภาวิศวกร หรือดาวน์โหลดใบสมัครได้ที่ www.coe.or.th
นายวิระ กล่าวต่อว่า ทางสภาวิศวกรและคณะกรรมการโครงการได้มีการประชุมกำหนดแผนยุทธศาสตร์ในการขยายขอบข่ายงานโครงการประกวดที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ โดยมุ่งเน้นการมีเข้ามามีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่น ภายใต้แนวคิด “คิดเอง ทำเอง แก้ปัญหาได้เอง” และท้องถิ่นสามารถถ่ายทอดแนวความคิดสู่โครงการที่เป็นรูปธรรม ซึ่งทางสภาวิศวกรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร จะทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาและให้คำแนะนำด้านวิชาการ และจากความสำเร็จที่ผ่านมา ทำให้คณะกรรมการมีแผนที่จะขยายขอบข่ายงานสู่สายงานวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม โดยจัดตั้งโครงการสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม และการจัดการท้องถิ่นของตนเอง ซึ่งจะมีผลดีทางด้านอนามัยของชุมชนท้องถิ่น ซึ่งในขณะนี้อยู่ในระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการดำเนินการ
นายวิชาญ คุณากูลสวัสดิ์ อธิบดีกรมทางหลวงชนบท กล่าวว่า กรมทางหลวงชนบทได้เข้าไปมีบทบาทสำคัญในการให้คำปรึกษากับชุมชนและท้องถิ่น ในการแก้ไขปัญหาด้านความปลอดภัยทางถนน รวมถึงการจัดเก็บสถิติการเกิดอุบัติเหตุภายในชุมชนและท้องถิ่น เพื่อนำมาวิเคราะห์หาจุดเสี่ยงภายในชุมชน ซึ่งชุมชนและท้องถิ่นควรมีการจัดทำแผนการดำเนินงานด้านความปลอดภัยทางถนน ทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยให้ตั้งเป้าหมายจำนวนผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากการเกิดอุบัติเหตุในแต่ละปี นอกจากนี้กรมทางหลวงชนบท ได้มีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์เพื่อยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยทางถนน และยังมีบริการให้ความช่วยเหลือประชาชนเกี่ยวกับเส้นทาง และหน่วยเคลื่อนที่ ผ่านศูนย์อำนวยความปลอดภัยทางหลวงชนบท โดยสามารถติดต่อได้ที่ 1146 ตลอด 24 ชั่วโมง
นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม อธิบดีกรมทางหลวง ประธานคณะทำงานโครงการชุมชนร่วมใจ สร้างความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่ 5 ประจำปี 2552 กล่าวว่า จากผลการตอบรับของชุมชนและท้องถิ่นทั่วประเทศ ทำให้ทราบว่าชุมชนและท้องถิ่นเริ่มตื่นตัวในการแก้ปัญหาความปลอดภัยในชุมชนและท้องถิ่นของตนเองมากขึ้น การดำเนินโครงการฯ ในปีนี้ จึงตั้งเป้าโครงการละ 1 จังหวัด เพื่อผลักดันให้มีชุมชนตัวอย่างทั่วประเทศ และในระหว่างนี้ ได้รวบรวมองค์ความรู้จากที่ดำเนินงานมาแล้ว 4 ปี จัดทำคู่มือการส่งผลงานเข้าร่วมประกวดในปี 2551 นี้ เพื่อแจกให้ผู้สมัครเข้าร่วมโครงการใช้เป็นแนวทางการดำเนินงาน และเน้นให้ส่งผลงานการแก้ปัญหาด้านความปลอดภัยทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2552 ที่จะมาถึงนี้ สำหรับการสนับสนุนของกรมทางหลวงด้านความปลอดภัยทางถนน ก็มีการดำเนินงานเชิงรุก เน้นการปรับปรุงและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงได้มีการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาและยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยของทางหลวงแผ่นดิน เน้นเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในการแก้ปัญหา เช่น การตรวจสอบความปลอดภัยทางถนน (Road Safety Audit) เป็นต้น
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ
สภาวิศวกร
คุณศุภรัตน์ ร่มเงิน โทร. 02-935-6868 , 02-935-6860-9 ต่อ 302
เจดับบลิวที ประเทศไทย: เจดับบลิวที พับบลิค รีเลชั่นส์
คุณพรทิพย์ วิริยะกิจพัฒนา (บี) โทร. 02-204-8210 / 086-813-1981 หรือ
คุณวงจันทร์ ตั้งทรงศักดิ์ (จันทร์) โทร. 02-204-8221 / 089-127-2089