กรุงเทพฯ--24 พ.ย.--ปภ.
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รายงานสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ภาคใต้ ๔ จังหวัด ๒๐ อำเภอ ๗๘ ตำบล ๔๑๗ หมู่บ้าน ขณะนี้สถานการณ์อุทกภัยที่จังหวัดนราธิวาสคลี่คลายแล้ว
ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัย ๓ จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และพัทลุง กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
ได้ประสานจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยในเบื้องต้นพร้อมเร่งสำรวจความเสียหายแล้ว พร้อมทั้ง
จัดเจ้าหน้าที่ให้การช่วยเหลือตลอด ๒๔ ชั่วโมงแล้ว
นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ฝนที่ตกหนักต่อเนื่องในพื้นที่ภาคใต้ตั้งแต่ช่วงวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๑ ถึงปัจจุบัน ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ภาคใต้ ๔ จังหวัดได้แก่ จังหวัดนราธิวาส สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และพัทลุง รวมพื้นที่ประสบภัย ๒๐ อำเภอ ๗๘ ตำบล ๔๑๗ หมู่บ้าน
ผู้เสียชีวิต ๓ ราย สูญหาย ๑ ราย ราษฎรได้รับความเดือนร้อน ๑๔,๐๖๓ ครัวเรือน ๓๕,๖๖๙ คน ขณะนี้สถานการณ์อุทกภัยที่จังหวัดนราธิวาสคลี่คลายแล้ว ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัย ๓ จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และพัทลุง โดยจังหวัดสุราษฎร์ธานี เกิดฝนตกหนัก ทำให้น้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ ๙ อำเภอ ๔๒ ตำบล ๒๕๕ หมู่บ้าน
บ้านเรือนเสียหายทั้งหลัง ๑หลัง เสียหายบางส่วน ๑๑๗ หลัง สะพาน ๒๕ แห่ง ถนน ๑๓๑ สาย พื้นที่การเกษตร ๔๗,๔๕๑ ไร่ ราษฎรได้รับความเดือดร้อน ๑๒,๒๓๑ ครัวเรือน ๓๑,๗๗๕ คน ได้แก่ อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี คีรีรัฐนิคม ท่าฉาง วิภาวดี กาญจนดิษฐ์ พุนพิน ดอนสัก บ้านนาเดิม และตาขุน นครศรีธรรมราช เกิดฝนตกหนักต่อเนื่อง ทำให้น้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่๖ อำเภอ ๑๗ ตำบล
๕๙ หมู่บ้าน ราษฎรเดือดร้อน ๑,๘๓๒ ครัวเรือน ๖,๐๒๕ คน ผู้เสียชีวิต ๒ ราย ได้แก่ อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช นบพิตำ พรหมคีรี เชียรใหญ่ หัวไทร และร่อนพิบูลย์ พัทลุง เกิดฝนตกหนักต่อเนื่อง ทำให้น้ำป่าไหลเข้าท่วมพื้นที่ ๒ อำเภอ ๗ ตำบล ๔๔ หมู่บ้าน มูลค่าความเสียหายอื่นๆอยู่ในระหว่างการสำรวจ ส่วนจังหวัดนราธิวาส
สถานการณ์อุทกภัยได้เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว โดยทางจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งออกสำรวจความเสียหายเบื้องต้นแล้ว และให้การช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พศ. ๒๕๔๖และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๔๙ (งบ ๕๐ ล้านบาท) แล้ว
สำหรับการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้สั่งการให้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ประสานอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดเจ้าหน้าที่ออกสำรวจความเสียหาย และระดมเครื่องจักรกล รถยนต์ เรือท้องแบน ๑๐ ลำ ออกให้บริการขนย้ายทรัพย์สินสิ่งของและอพยพประชาชนออกจากพื้นที่น้ำท่วม รวมทั้งนำน้ำดื่ม ๑๐,๐๐๐
ขวด ถุงยังชีพ ๔, ๐๐๐ ชุด พร้อมทั้งมอบเครื่องอุปโภคบริโภค เพื่อให้การช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ประสบภัยในเบื้องต้นแล้ว นอกจากนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย ดินถล่ม และคลื่นลมแรง
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ประสานให้ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต ๑๑ สุราษฎร์ธานี เขต ๑๒ สงขลา เขต ๑๗ จันทบุรี เขต ๑๘ ภูเก็ต และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา สตูล ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส เตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยพิบัติ
โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์ภัยในพื้นที่อย่างต่อเนื่องตลอด ๒๔ ชั่วโมง รวมทั้งจัดเตรียมเครื่องมืออุปกรณ์ให้พร้อมเพื่อสามารถช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทันทีที่เกิดเหตุภัยพิบัติ สุดท้ายนี้ หากประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัย สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนสาธารณภัย ๑๗๘๔ ตลอด ๒๔ ชั่วโมง เพื่อประสานและให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป