กรุงเทพฯ--24 พ.ย.--กรีนพีซ
ปัจจุบันแม้ผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ส่วนใหญ่เน้นประเด็นสิ่งแวดล้อมเป็นกลยุทธ์ในการตลาดมากขึ้น แต่การจัดอันดับผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สีเขียวฉบับที่ 10 ของกรีนพีซพบว่าผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ส่วนใหญ่ยังไม่จริงจังต่อการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างแท้จริง
นับตั้งแต่การจัดอันดับครั้งแรกในปี 2549 ผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ส่วนใหญ่ได้พัฒนาก้าวหน้าไปมาก โดยเฉพาะด้านการลดใช้สารเคมีอันตรายในผลิตภัณฑ์และการรับผิดชอบต่อขยะอิเล็กทรอนิกส์ อย่างไรก็ตาม การพัฒนายังไม่ครอบคลุมถึงประเด็นด้านพลังงาน ซึ่งแม้ผู้ผลิตเหล่านี้ล้วนมีศักยภาพที่จะช่วยแก้วิกฤตปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ รวมถึงการผลักดันรัฐบาลเพื่อเป็นผู้นำแก้ปัญหา มีผู้ผลิตเพียงไม่กี่รายเท่านั้นที่ลงมือกระทำดังกล่าวอย่างแท้จริง โดยโมโตโรล่า ไมโครซอร์ป เดล แอปเปิ้ล เลอโนโว ซัมซุง นินเทนโด และ แอลจี เป็นกลุ่มผู้ผลิตที่ยังไม่มีแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกระบวนการผลิต รวมถึงขาดการตั้งเป้าหมายในการปฏิบัติและมีส่วนช่วยแก้ปัญหาที่ชัดเจน
การเป็นผู้ผลิตสีเขียวอย่างแท้จริงนั้น ผู้ผลิตต้องให้ความสำคัญกับทุกประเด็น คือทั้งด้านพลังงาน สารพิษ และการรีไซเคิล ทั้งนี้ เพื่อที่จะก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจที่มีการปล่อยคาร์บอนต่ำ (Low carbon economy) กรีนพีซจึงผนวกการประเมินผู้ผลิตในด้านพลังงานโดยดูจากการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ประสิทธิภาพการใช้พลังงานของผลิตภัณฑ์ การใช้พลังงานหมุนเวียนที่สะอาด และการสนับสนุนหรือผลักดันภาครัฐให้เป็นผู้นำในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
จากการจัดอันดับสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สีเขียวจำนวน 18 แบรนด์พบว่าผู้ผลิต 9 แบรนด์ได้รับคะแนนเกินกว่าครึ่ง (5/10 คะแนน) ผู้ผลิตส่วนใหญ่ได้คะแนนจากหลักเกณฑ์ประสิทธิภาพการใช้พลังงานของผลิตภัณฑ์ แต่มีเพียง ฟูจิซึ-ซีเมนส์ ฟิลิปส์ และชาร์ปเท่านั้นที่ได้รับคะแนนจากการสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณที่มากเพียงพอ และมีเพียงฟิลิปส์และเอชพี ที่ได้คะแนนสูงสุดจากการให้คำมั่นที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกระบวนการผลิตทั้งระบบ และพบว่าผู้ผลิตส่วนใหญ่ไม่ใช้พลังงานหมุนเวียนเป็นพลังงานในการผลิต แม้ว่าผู้ผลิตบางรายเป็นผู้ผลิตเซลล์แสงอาทิตย์เองก็ตาม โดยมีเพียงโนเกียซึ่งเป็นอันดับหนึ่งอย่างต่อเนื่อง สามารถจัดหาพลังงานหมุนเวียนเป็นพลังงานในการผลิตได้มากกว่าร้อยละ 25 และมีแผนที่จะจัดหาเพิ่มเป็นร้อยละ 50 ให้ได้ภายในปี 2553
ในทางกลับกัน ผู้ผลิตที่โดดเด่นในเกณฑ์ด้านพลังงานกลับทำได้ไม่ดีในเกณฑ์ด้านสารพิษในผลิตภัณฑ์และความรับผิดชอบต่อขยะอิเล็กทรอนิกส์ ตัวอย่างเช่น ฟิลิปส์ ซึ่งต่อต้านนโยบายความรับผิดชอบของผู้ผลิตแต่ละราย (Individual Producer Responsibility) ที่มุ่งให้ผู้ผลิตเก็บรวบรวมผลิตภัณฑ์ของตนเมื่อเสื่อมสภาพแล้วนำไปไปรีไซเคิลรวมถึงออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด ส่วนเอชพี ไม่มีผลิตภัณฑ์ใดๆ ที่ปลอดจากสารเคมีอันตรายวางขายในตลาด แม้กระทั้งแผนที่จะหยุดใช้สารเคมีอันตราย ในขณะที่ผู้ผลิตหลายรายเริ่มพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าผลิตภัณฑ์ที่ปลอดสารเคมีอันตรายสามารถผลิตได้จริง เช่น ผลิตภัณฑ์บางรุ่นจากโนเกีย โซนี-อีริคสัน โตชิบา ฟูจิซึ-ซีเมนส์ ชาร์ป และแอปเปิ้ล
ความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจในการจัดอันดับฉบับล่าสุด ประกอบด้วย โมโตโรล่าที่กระโดดจากอันดับที่ 15 มาเป็นที่ 7 โตชิบาขึ้นจากอันดับที่ 7 มาเป็นที่ 3 และชาร์ปขึ้นจากอันดับที่ 16 มาเป็นที่ 10 และผู้ผลิตที่มีอันดับลดลงส่วนมากเป็นผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ เช่น เอเซอร์ เดล เอชพี และแอปเปิ้ล อย่างไรก็ตาม แอปเปิ้ล ได้คะแนนเพิ่มจากการแจ้งข้อมูลการปล่อยคาร์บอนจากการใช้ผลิตภัณฑ์ของตน (carbon footprint) และผลิตภัณฑ์ไอพอดรุ่นใหม่ ปลอดจากสารเคมีอันตราย พีวีซี (PVC) และ สารหน่วงไฟโบรมีน (BFRs)
“กรีนพีซเรียกร้องให้ผู้ผลิตทุกรายพยายามลดและยกเลิกการใช้สารเคมีอันตรายและรับผลิตภัณฑ์ของตนกลับไปรีไซเคิล พร้อมทั้งนำหลักเกณฑ์ด้านพลังงานไปปฏิบัติ” นายพลาย ภิรมย์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านสารพิษ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าว “และที่สำคัญ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์จะเป็นสีเขียวได้จริง ผู้ผลิตทุกรายต้องไม่หยุดเพียงแค่ปฏิบัติตามข้อบังคับขั้นต่ำของกฎหมาย แต่จะต้องพัฒนาให้อุตสาหกรรมไม่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมให้ได้อย่างแท้จริงและต่อเนื่อง”
ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ
พลาย ภิรมย์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านสารพิษ โทร. 0 2357 1921 ต่อ 135, 08 1658 9432
วิริยา กิ่งวัชระพงศ์ ผู้ประสานงานสื่อมวลชน โทร. 0 2357 1921 ต่อ115, 08 9487 0678